อายุ กับ อายุร (บาลีวันละคำ 3,197)
อายุ กับ อายุร
ต่างกันอย่างไร
(๑) “อายุ”
อ่านว่า อา-ยุ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น อา, แปลง ณ ที่ ณุ เป็น อย (ณุ : ณ + อุ : ณ > อย + อุ = อยุ)
: อิ > อา + ณุ > อยุ : อา + อยุ = อายุ
หรือ –
: อิ + ณุ = อิณุ > อาณุ > (ณุ > อยุ : อา + อยุ =) อายุ
“อายุ” (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุดำเนินไปแห่งสัตวโลก” หมายความว่า สัตวโลกดำเนินไปได้ด้วยสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นหมดลง การดำเนินไปของสัตวโลกก็หยุดลงเพียงนั้น
“อายุ” หมายถึง ชีวิต, ความสามารถดำรงชีวิต, การกำหนดอายุ, ความมีอายุยืน (life, vitality, duration of life, longevity)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อายุ : (คำนาม) เวลาที่ดํารงชีวิตอยู่, เวลาชั่วชีวิต, ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง, ระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น อายุใบอนุญาต ยานี้หมดอายุแล้ว, ระยะเวลาที่กําหนดรู้ความยั่งยืนของสิ่งนั้น ๆ เช่น อายุของหิน. (ป.; ส. อายุสฺ หรือ อายุษฺ เมื่อนําหน้าบางคํา, แต่เมื่อนําหน้าอักษรตํ่ากับตัว ห เปลี่ยน สฺ เป็น รฺ เช่น อายุรเวท, แต่ถ้าใช้อย่างบาลีก็ไม่ต้องมี ส หรือ ร).”
(๒) “อายุร”
อ่านว่า อา-ยุ-ระ รากศัพท์มาจาก อายุ (อายุ) + รกฺขฺ (ธาตุ = รักษา) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺข และ กฺวิ
: อายุ + รกฺขฺ = อายุรกฺขฺ + กฺวิ = อายุรกฺขกฺวิ > อายุรกฺวิ > อายุร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษาอายุ”
“อายุร” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) หมอ (a physician, doctor, medical man)
(2) ยา (a remedy, medicament, medicine)
ความแตกต่าง :
“อายุ” หมายถึง –
(1) เวลาที่ดํารงชีวิตอยู่
(2) ระยะเวลาที่กำหนดไว้
(3) ระยะเวลาที่กําหนดรู้ความยั่งยืนของสิ่งนั้น ๆ
“อายุร” หมายถึง –
(1) หมอ
(2) ยา
ขยายความ :
“อายุ” เป็นคำที่เราเข้าใจกันดีแล้ว แต่ “อายุร” เราไม่คุ้น ขอนำคำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่ขึ้นต้นด้วย “อายุร-” มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อประดับความรู้ –
(1) อายุร-, อายุษ : (คำนาม) อายุ. (ดู อายุ). (ส.).
(2) อายุรกรรม : (คำนาม) การรักษาโรคทางยา.
(3) อายุรแพทย์, อายุรเวช : (คำนาม) หมอรักษาโรคทางยา.
(4) อายุรเวท : (คำนาม) วิชาแพทย์, วิชาที่เกี่ยวกับสุขภาพและการรักษา. (ถือกันว่าเป็นวิชาศักดิ์สิทธิ์และเป็นส่วนหนึ่งของอถรรพเวท). (ส.).
(5) อายุรศาสตร์ : (คำนาม) ตําราหมอ, วิชาการรักษาโรคทางยา.
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อายุรฺเวท” บอกไว้ดังนี้ –
“อายุรฺเวท : (คำนาม) คัมภีร์ยา (หมวดวิทยาอันว่าด้วยการใช้ยารักษาโรค); the science of medicine, writings of authority on medical Śāstra.”
“อายุร” ในคัมภีร์บาลี พบแต่คำที่เป็นชื่อคน (อายุรปณฺฑิต) ส่วนที่หมายถึง “ยา” ยังไม่พบ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มนุษย์เรายอมเสียเวลาทั้งชีวิต
เพื่อหาคำคอบว่าทำอย่างไรจึงจะอายุยืน
: แต่ไม่ยอมสละเวลาแม้เพียงครู่เดียว
เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องว่าจะอายุยืนไปทำไม
#บาลีวันละคำ (3,197)
14-3-64