เพลไภรี (บาลีวันละคำ 3,198)
เพลไภรี
กลองเพล: วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมพุทธ
อ่านตามหลักภาษาว่า เพ-ละ-ไพ-รี หรือ เพน-ละ-ไพ-รี
อ่านตามสะดวกปากว่า เพน-ไพ-รี
ประกอบด้วยคำว่า เพล + ไภรี
(๑) “เพล”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เพล : (คำนาม) เวลาพระฉันกลางวัน คือ เวลาระหว่าง ๑๑ นาฬิกาถึงเที่ยง เรียกว่า เวลาเพล. (ป., ส. เวลา ว่า กาล).”
ตามนัยแห่งพจนานุกรมฯ “เพล” มาจาก “เวลา” แผลง ว เป็น พ ตามสูตรที่เข้าใจกันแล้วทั่วไป เป็น “เพลา” (เพ-ลา) พจนานุกรมฯ บอกความหมายว่า กาล, คราว
“เพลา” ลบสระ อา (หรืออาจเป็นเพราะเสียง อา กร่อนหายไป) ก็เป็น “เพล”
“เวลา” บาลีมีรากศัพท์มาจาก :
(1) วิ (แทนคำว่า “วินาส” = เสื่อม, สูญ) + ลา (ธาตุ = ถือเอา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ วิ เป็น เอ (วิ > เว)
: วิ + ลา = วิลา + ณ = วิลาณ > วิลา > เวลา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กำหนดความเสื่อมไป”
(2) เวลฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์
: เวลฺ + อ = เวล + อา = เวลา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปโดยขณะหนึ่งครู่หนึ่ง”
“เวลา” หมายถึง เวลา, กาลเวลา (time, point of time)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เวลา : (คำนาม) ชั่วขณะความยาวนานที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ โดยนิยมกําหนดขึ้นเป็นครู่ คราว วัน เดือน ปี เป็นต้น เช่น เวลาเป็นเงินเป็นทอง ขอเวลาสักครู่. (ป., ส.).”
ข้างต้นนั้น พจนานุกรมฯ บอกว่า “เวลา” บาลีสันสกฤตว่า “กาล”
คำว่า “กาล” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็แปลว่า time เช่นกัน
เป็นอันว่า “กาล” กับ “เวลา” ในแง่หนึ่งหมายถึงสิ่งเดียวกันคือ time
ในสมัยพุทธกาล เมื่อมีผู้นิมนต์พระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์ไปฉันที่บ้าน เมื่อทางบ้านเจ้าภาพจัดภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะส่งคนไปแจ้งแก่พระสงฆ์ สำนวนบาลีพูดว่า “กาเล อาโรจิเต” แปลว่า “เมื่อแจ้งเวลาแล้ว” หมายความว่า ได้เวลาไปฉันแล้ว
ตามบ้านเศรษฐีที่ตั้งโรงทานเลี้ยงคนอนาถา ก็ใช้สำนวน “กาเล อาโรจิเต” เช่นกัน ในความหมายว่า บัดนี้ได้เวลาเปิดโรงทานประจำวันแล้ว เชิญท่านผู้อนาถาทั้งหลายมารับอาหารได้แล้ว
ในแง่นี้ “เวลา” (คือ “กาล”) จึงเป็นสำนวนที่หมายถึง “เวลาอาหาร”
ในบาลีมีคำว่า “ภตฺตเวลา” (พัด-ตะ-เว-ลา) แปลว่า “เวลาอาหาร” (meal-time)
“ภตฺตเวลา” พูดแบบไทยเป็น “ภัตเวลา” แล้วแผลงเป็น “ภัตเพลา” (-เพ-ลา) แล้วกร่อนไป เหลือแต่ “เพลา” แล้วกร่อนไปอีก กลายเป็น “เพล” แต่ยังคงความหมายเดิม คือ “เวลาอาหาร”
ที่วามานี้เป็นการอธิบายแบบลากเข้าความว่า ทำไม เพล < เพลา < เวลา จึงมีความหมายว่า “เวลาพระฉันกลางวัน”
(๒) “ไภรี”
บาลีเป็น “เภริ” (เพ-ริ) รากศัพท์มาจาก ภี (ธาตุ = กลัว) + ริ ปัจจัย, แผลง อี ที่ ภี เป็น เอ, (ภี > เภ)
: ภี + ริ = ภีริ > เภริ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุกลัวแห่งศัตรู” (คือทำให้ศัตรูกลัวได้) หมายถึง กลอง (the drum)
บาลี “เภริ” ภาษาไทยใช้ทั้ง “เภริ” และ “เภรี” แต่เสียง “-รี” ฟังดูนุ่มนวลกว่า เราจึงมักได้ยินพูดกันทั่วไปว่า เพ-รี คือสะกดเป็น “เภรี” มากกว่า “เภริ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เภริ, เภรี : (คำนาม) กลอง เช่น อินทเภรี ชัยเภรี, บางทีใช้เป็น ไภรี หรือ ไภริน ก็มี. (ป.).”
ในที่นี้ แปลง “เภริ” หรือ “เภรี” เป็น “ไภรี”
เพล + ไภรี = เพลไภรี (เพ-ละ-ไพ-รี หรือ เพน-ละ-ไพ-รี) แปลตรงตัวว่า “กลองเพล”
“เพลไภรี” เป็นคำที่ผู้เขียนบาลีวันละคำประดิษฐ์ขึ้นเอง ไม่มีในคัมภีร์ และไม่มีในพจนานุกรม แต่ย่อมมีได้โดยหลักภาษา
แต่คำว่า “กลองเพล” มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –
“กลองเพล : (คำนาม) กลองทัดขนาดใหญ่ใช้ตีเป็นสัญญาณบอกเวลา ๑๑ นาฬิกา เพื่อภิกษุสามเณรจะได้ฉันเพล.”
ขยายความ :
“เพลเภรี” หรือ “กลองเพล” เป็นอุปกรณ์ใช้ส่งสัญญาณที่มีอยู่ในวัดทั่วไป ปกติจะตีในเวลา 11:00 น. หรือห้าโมงเช้าตรง จนกระทั่งเมื่อพูดว่า “เวลาเพล” ก็เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า คือเวลา 11:00 น.
ชั้นเดิม กลองเพล หรือ “เพลไภรี” ก็คงใช้ประโยชน์ตรงตัวคือตีบอกเวลาเพล แต่เมื่อตีจนเป็นกิจประจำวัน เสียงกลองเพลก็มีความหมายอย่างอื่นเสริมเข้ามา เช่น เป็นการเตือนชาวบ้านให้คิดถึงพระและเป็นห่วงพระว่า มื้อเพลจะมีภัตตาหารฉันหรือเปล่า
คนสมัยก่อนที่บ้านอยู่ใกล้วัด พอได้ยินเสียงกลองเพลก็จะบอกกันว่า ไปดูซิ พระมีอะไรฉันหรือเปล่า คนที่สะดวก (โดยมากจะเป็นผู้หญิง) ก็จะรีบเข้าไปในวัด ไปดูที่โรงครัว (วัดต่างๆ จะมี “ครัวสงฆ์” อยู่ด้วยเสมอ) แล้วจัดหาจัดทำอาหารถวายพระเท่าที่จะมีสิ่งของและมีเวลาพอที่จะทำทัน
บุญชนิดหนึ่งที่คนสมัยก่อนนิยมทำกัน คือ หาของเข้าโรงครัว กะปิ น้ำปลา หอม กระเทียม ปลาเค็ม ปลาแห้ง ไข่ ฯลฯ ใครมีช่องทางหาอะไรได้ ก็หามาเข้าโรงครัววัด วันไหนที่อัตคัด พระเณรก็ได้อาศัยของพวกนี้ที่ญาติโยมจะเข้ามาช่วยทำถวายเมื่อได้ยินเสียงกลองเพล
เรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่งก็คือ คนสมัยก่อนทำนา ไถนาตั้งแต่เช้ามืด จนถึงเพลก็หยุด ปลดวัวจากไถ ทำเช่นนี้จนวัวบางตัวรู้ พอได้ยินเสียงกลองเพลมันจะหยุดเดินทันที เพราะรู้ว่านั่นเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาหยุดงานแล้ว วัวไม่ได้รู้ถึงขนาดนั้นหมดทุกตัว แต่วัวที่แสนรู้เช่นนั้นมี เรื่องนี้ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นมากับตาตัวเองสมัยที่ทำนา ยืนยันได้
แนวคิด :
แต่เดิมกลองและระฆังเป็นอุปกรณ์ใช้ส่งสัญญาณบอกเหตุหรือบอกเวลา เป็นสิ่งที่มีใช้อยู่ในวัดและใช้กันมานานนักหนาจนกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างสำคัญที่บอกถึงวิถีชีวิตของชาววัด
ปัจจุบันแม้เราจะมีอุปกรณ์อย่างอื่นที่อาจใช้ได้ดีกว่า เร็วกว่า หรือทันสมัยกว่า แต่เสียงกลองเสียงระฆังที่ดังออกมาจากวัดก็ยังเป็นสิ่งบอกเหตุให้รู้ได้เป็นอย่างดีว่า วิถีชีวิตของชาววัดหรือวิถีชีวิตสงฆ์ยังคงดำรงอยู่และดำเนินไปเป็นปกติ
กลองและระฆังจึงมีความหมายและมีคุณค่ายิ่งกว่าเป็นอุปกรณ์บอกเหตุหรือบอกเวลาธรรมดาทั่วไป
รื้อฟื้น “หอกลอง”
รื้อฟื้นการตี “กลองเพล”
คือการรื้อฟื้นจิตวิญญาณของวัด
คือการรื้อฟื้นจิตวิญญาณของพระศาสนา
ปัจจุบัน วัดส่วนมาก-โดยเฉพาะวัดในเมือง ไม่ได้ตีกลองเพลกันแล้ว อ้างว่าอุปกรณ์บอกเวลาแบบอื่นมีมากพอแล้ว ไม่ต้องอาศัยกลองเพล
น่าเสียดายที่พระมองกลองเพลว่ามีค่าเพียงแค่เป็นอุกรณ์บอกเวลา
ขออาราธนาให้วัดทั่วสังฆมณฑลรื้อฟื้นประเพณีตีกลองเพลขึ้นมาปฏิบัติเหมือนเดิมให้ทั่วกัน
และขอกราบอนุโมทนาสาธุการกับวัดที่ยังตีกลองเพลเป็นกิจประจำวันอยู่ ขอให้รักษามรดกนี้ไว้ให้มั่นคงสืบไป เทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กลองเพลไม่ใช่ตัวธรรมะ
: แต่ถ้าตีเป็นฟังเป็นก็จะเห็นธรรมะ
………………………….
………………………….
#บาลีวันละคำ (3,198)
15-3-64