บาลีวันละคำ

โมลีโลกย์ (บาลีวันละคำ 3,199)

โมลีโลกย์

อ่านว่า โม-ลี-โลก

ประกอบด้วยคำว่า โมลี + โลกย์

(๑) “โมลี

บาลีเป็น “โมลิ” (ไทย -อี บาลี -อิ) อ่านว่า โม-ลิ รากศัพท์มาจาก มูลฺ (ธาตุ = งอกขึ้น) + อิ ปัจจัย, แผลง อู ที่ มู-(ลฺ) เป็น โอ (มูล > โมล)

: มูลฺ + อิ = มูลิ > โมลิ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่งอกขึ้นข้างบน

โมลิ” (ปุงลิงค์; อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผมจุก (a chignon)

(2) ยอด, ผ้าโพกศีรษะแบบแขก (crest, turban)

บาลี “โมลิ” สันสกฤตเป็น “เมาลิ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เมาลิ : (คำนาม) จุก, ผมจุก; ผมอันแต่งและเกล้ารอบศีร์ษะ; เทริด; ศีร์ษะ; a lock of hair on the crown of the head; hair ornamented and braided round the head; a diadem; the head.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โมลี : (คำนาม) เมาลี. (ป. โมลิ).”

ไปดูที่ “เมาลี” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

เมาลี : (คำนาม) จอม, ยอด, ผมจุก, เขียนเป็น เมาฬี ก็มี, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระเมาลี. (ส.; ป. โมลิ).”

(๒) “โลกย์

บาลีเป็น “โลกิย” รากศัพท์มาจาก โลก + อิย ปัจจัย

(ก) “โลก” บาลีอ่านว่า โล-กะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ปัจจัย, ลบ , แปลง เป็น , แผลง อุ ที่ ลุ-(ชฺ) เป็น โอ

: ลุชฺ + = ลุชณ > ลุช > โลช > โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป

(2) ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + ปัจจัย, แปลง จฺ เป็น , แผลง อุ เป็น โอ

: ลุจฺ + = ลุจ > ลุก > โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป

(3) โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ, ตั้งอยู่) + (อะ) ปัจจัย

: โลกฺ + = โลก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างอันเขาเห็นอยู่” (2) “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น

โลก” มีความหมายหลายหลาก เช่น โลก, แผ่นดิน, จักรวาล, คน, มนุษยชาติ, ประชาชน, สัตว์ (world, earth, universe, man, mankind, people, beings)

(ข) โลก + อิย = โลกิย แปลตามศัพท์ว่า “เกี่ยวข้องกับโลก” “ตั้งอยู่ในโลก” “อันเป็นของโลก” (belonging to the world)

โลกิย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ทั่วโลก, ครอบคลุมทั่วโลก, มีชื่อเสียง, มีกิตติศัพท์ (world-wide, covering the whole world, famed, widely known)

(2) เป็นของโลก, พลเมืองหรือผู้อยู่ประจำโลก (belonging to the world of, an inhabitant of as lokika)

(3) สามัญ, ทั่วไป, เป็นธรรมดาโลก (common, general, worldly)

(4) (ความหมายพิเศษเมื่อใช้ตรงกันข้ามกับ โลกุตฺตร) ทางโลก, ทางโลกีย์ (worldly, mundane)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โลกิย-, โลกิยะ, โลกีย์ : (คำวิเศษณ์) เกี่ยวกับโลก, ทางโลก, ธรรมดาโลก, ของโลก, ตรงข้ามกับ โลกุตระ, เช่น โลกิยธรรม เรื่องโลกิยะ, โดยปริยายหมายถึงที่เกี่ยวกับกามารมณ์ เช่น เรื่องโลกีย์. (ป.; ส. เลากฺย).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “โลกิยะ” ไว้ดังนี้ –

โลกิยะ, โลกียะ, โลกีย์ : เกี่ยวกับโลก, ทางโลก, เนื่องในโลก, เรื่องของชาวโลก, ยังอยู่ในภพสาม, ยังเป็นกามาวจร รูปาวจร หรืออรูปาวจร; คู่กับ โลกุตตระ.”

บาลี “โลกิย” ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยเป็น “โลกย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “โลกย์” “โลกยะ” และ “โลกัย” บอกไว้ว่า –

โลกย์, โลกยะ, โลกัย : (คำวิเศษณ์) ของโลก. (ส. โลกฺย).”

โมลี + โลกย์ = โมลีโลกย์ เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “สูงสุดของชาวโลก” หมายถึง บุคคลหรือสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นที่นับถือกันว่าสำคัญมากที่สุด ก็ใช้คำเรียกขานผู้นั้นหรือสิ่งนั้นว่า “โมลีโลกย์

ขยายความ :

คำว่า “โมลีโลกย์” ที่รู้จักกันดีคือคำที่เป็นชื่อวัด “โมลีโลกยาราม” (โมลีโลกย + อาราม)

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร” (อ่านเมื่อ 16 มีนาคม 2564 เวลา 20:50 น.) บอกไว้ดังนี้ –

…………..

วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร หรือชื่อเดิมว่า วัดท้ายตลาด ตั้งอยู่บริเวณพระราชวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง และเหตุที่เรียกว่าวัดท้ายตลาดเนื่องจากอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี ปัจจุบันชาวบ้านยังนิยมเรียกชื่อนี้อยู่

ในสมัยธนบุรี วัดนี้เป็นวัดในเขตพระราชฐาน จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่ตลอดช่วงรัชกาล ในรัชกาลที่ 3 ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ทั่วทั้งพระอาราม และทรงเปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดโมลีโลกยสุธาราม” ภายหลังมาเรียกกันว่า “วัดโมลีโลกยาราม” …

…………..

ตรงที่ว่า “ทรงเปลี่ยนนามใหม่ว่า ‘วัดโมลีโลกยสุธาราม’ ” น่าสังเกตมาก คำว่า “สุธา” เราแปลว่ากันว่า แผ่นดิน (ตัดมาจาก “พสุธา”)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “เมาลี” (คนละคำกับ “เมาลิ”) บอกไว้ดังนี้ –

เมาลี : (คำนาม) พสุธา; the earth.”

เป็นอันว่า “โมลี” แปลว่า “พสุธา” ก็ได้ สอดคล้องกับที่บอกว่าในรัชกาลที่ 3 วัดนี้ชื่อ “วัดโมลีโลกยสุธาราม

นี่เป็นเพียงข้อสังเกต ไม่ใช่ข้อยืนยัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเป็นจอมเหนือใจตนเองได้

: ก็เป็นจอมเหนือโลกได้

อาจเป็นรูปภาพของ กลางแจ้ง และข้อความ

#บาลีวันละคำ (3,199)

16-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย