เทพนม (บาลีวันละคำ 2,223)
เทพนม
แยกศัพท์อย่างไร?
อ่านว่า เทบ-พะ-นม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทพนม : (คำนาม) ชื่อภาพเทวดาครึ่งตัวประนมมือ, เทพประนม ก็ว่า; ชื่อท่าไหว้ครูมวยหรือกระบี่กระบองท่าหนึ่ง, ชื่อท่ารำแบบหนึ่ง มือทั้งสองพนมไว้ที่ระหว่างอก.”
ตามไปดูที่คำว่า “เทพประนม” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –
“เทพประนม : (คำนาม) ชื่อภาพเทวดาครึ่งตัวประนมมือ, เทพนม ก็ว่า.”
คำที่เกี่ยวข้องกันคือ “ประนม” “ประนมมือ” “พนม” และ “พนมมือ” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –
(1) ประนม : (คำกริยา) ยกกระพุ่มมือ, ยกมือขึ้นกระพุ่ม.
(2) ประนมมือ : (คำกริยา) กระพุ่มมือ, พนมมือ ก็ว่า.
(3) พนม : (คำนาม) ภูเขา. (ข.); ลักษณะของสิ่งที่เป็นพุ่มยอดแหลมอย่างดอกบัวตูม. (คำกริยา) ทําให้มีรูปอย่างดอกบัวตูม เช่น พนมมือ.
(4) พนมมือ : (คำกริยา) กระพุ่มมือ, ประนมมือ ก็ว่า.
เป็นอันว่า คำที่ประกอบกันอยู่ในคำว่า “เทพนม” ก็คือ “เทพ” และ “พนม”
(๑) “เทพ”
บาลีเป็น “เทว” (เท-วะ) รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วุ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)
: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”
ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกันหรือเป็นความหมายเด่น คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา
แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังหมายถึง พระราชา, ฟ้า, ท้องฟ้า, ฝน, เมฆฝน อีกด้วย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –
(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)
(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)
(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)
“เทว” เมื่อใช้ในภาษาไทยแผลง ว เป็น พ ตามสูตรที่นิยมทั่วไป เช่น –
วร เป็น พร
วิวิธ เป็น พิพิธ
: เทว > เทพ
(๒) “พนม”
สันนิษฐานที่มาของคำ :
(1) บาลีมีคำว่า “นม” (นะ-มะ) แปลว่า ความนอบน้อม คำว่า “นโม” ที่เราคุ้นกันดีก็มาจากคำนี้
(2) “นม” รากศัพท์คือ นมฺ ธาตุ = นอบน้อม เติม “ป” (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) เป็น “ปนม” (ปะ-นะ-มะ) รูปคำกริยา (ปฐมบุรุษ เอกพจน์) เป็น ปณมติ, ปณาเมติ (แปลง น เป็น ณ) คำว่า “ประณาม” ก็มีรากศัพท์เดียวกันนี้
(3) คำว่า “ประณม” (สันสกฤต ตามพจนานุกรมฯ 54) ก็ตรงกับ “ปนม > ปณม” ของบาลี คำนี้แปลตามศัพท์ว่า “การนอบน้อมไปข้างหน้า” กิริยาตามวัฒนธรรมชาวตะวันออกคือ ประกบฝ่ามือเข้าด้วยกันแล้วประคองไว้ระหว่างอก ทำอุ้งมือให้เป็นกระพุ้งเล็กน้อยมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม ถือว่างามกว่าแนบฝ่ามือติดกัน
(4) ประณม < ปณม < ปนม ออกเสียง “ป” เพี้ยนเป็น “พ” แล้วเลยเขียนเป็น “พนม” ขึ้นมาอีกรูปหนึ่ง (ป–พ–ผ คำไหนเพี้ยนไปเป็นคำไหนจะง่ายกว่ากัน ควรศึกษาต่อไปอีก)
(5) ลักษณะมือที่ “ประณม” ให้เป็นพุ่มอย่างดอกบัวตูมนี่เองที่ไปเป็นความหมายของคำว่า “พนม” ในภาษาไทย (ดูพจนานุกรมฯ ข้างต้น)
(6) คิดเล่นๆ ได้อีกนัยหนึ่ง คือ “ประ” หมายถึง ปะทะ, กระทบ, ระ “นม” ก็คือ นม (ส่วนของร่างกาย อยู่บริเวณหน้าอก) เมื่อประคองมือไว้ระหว่างอก มือจึง “ประนม” คือ กระทบนม ถูกนม โดนนม “ประนม” จึงหมายถึง ยกกระพุ่มมือ, ยกมือขึ้นกระพุ่ม (ดูพจนานุกรมฯ ข้างต้น)
สรุปในเบื้องต้น (ซึ่งอาจไม่ใช่ตามนี้) ว่า :
(1) “พนม” เพี้ยนมาจาก “ประนม”
(2) “ประนม” กลายมาจาก ประณม < ปณม < ปนม
การประสมคำ :
เทพ + พนม = ?
ถ้าประสมตามศัพท์ที่ปรากฏ เทพ + พนม ก็ควรจะเป็น “เทพพนม” (พ พาน 2 ตัว)
แต่พจนานุกรมฯ สะกดคำนี้เป็น “เทพนม” (พ พาน ตัวเดียว)
เมื่อสะกดอย่างนี้ (พ พาน ตัวเดียว) จึงเกิดปัญหาว่าจะแยกคำอย่างไร
เทพนม = เทพ + นม ?
เทพนม = เท + พนม ?
ไม่ว่าจะแยกคำอย่างไร ก็ได้คำที่ไม่สมบูรณ์ตามคำเดิมทั้งนั้น
อภิปราย :
คำที่มาจากบาลีสันสกฤต ถ้ามีตัวสะกดตัวตามซ้อนกัน มักตัดออกตัวหนึ่ง การตัดตัวสะกดเช่นว่านี้ใช้ในกรณีเป็นตัวสะกดในคำของตัวเอง เช่น
จิตฺต + วิทยา สะกดเป็น จิตวิทยา (ตัด ต ที่คำว่า จิตฺต)
รฏฺฐ + บาล สะกดเป็น รัฐบาล (ตัด ฏ ที่คำว่า รฏฺฐ)
วิชฺชา + อาชีพ สะกดเป็น วิชาชีพ (ตัด ช ที่คำว่า วิชฺชา)
“เทพนม” คำเดิมไม่ใช่คำเดียวของตัวเอง แต่เกิดจากการประสมระหว่าง “เทพ” คำหนึ่ง + “พนม” อีกคำหนึ่ง ทั้งสองคำไม่มีตัวสะกดที่จะต้องตัดตามเกณฑ์ดังกล่าว เมื่อประสมกันจึงไม่มีเหตุอันควรที่จะตัด พ พาน ออกตัวหนึ่ง
ดังนั้น ถ้าตัด พ พาน ออกตัวหนึ่งแล้วแยกคำดูก็จะพบความผิดปกติ
ถ้าจะให้มีคำว่า “เทพ” : เทพนม = เทพ + นม
ถ้าจะให้มีคำว่า “พนม” : เทพนม = เท + พนม
เพราะฉะนั้น คำนี้จึงควรสะกดเป็น “เทพพนม” (พ พาน 2 ตัว) จึงจะถูกต้อง เพราะเป็นคำ 2 คำที่ประสมกัน คือ เทพ + พนม ไม่ใช่คำเดิมคำเดียวที่มี พ พาน ซ้อนกัน 2 ตัว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ท่านเกิดมาจนถึงวันนี้
: มีคุณความดีจนไหว้ตัวเองได้บ้างหรือยัง?
#บาลีวันละคำ (2,223)
14-7-61 2,223