อนุสาวนาจารย์ (บาลีวันละคำ 3,209)
อนุสาวนาจารย์
ไม่ใช่ “อนุศาสนาจารย์”
คุ้นหน้าคุ้นตา แต่อาจจะยังไม่รู้จัก
อ่านว่า อะ-นุ-สา-วะ-นา-จาน
ประกอบด้วยคำว่า อนุสาวน + อาจารย์
(๑) “อนุสาวน”
บาลีเป็น “อนุสฺสาวน” (อะ-นุด-สา-วะ-นะ) ประกอบด้วยคำว่า อนุ + สาวน
(ก) “อนุ” (อะ-นุ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –
(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)
(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)
นักเรียนบาลีท่องกันมาว่า “อนุ = น้อย, ภายหลัง, ตาม” และที่เรียนรู้กันต่อมา คือ “เนืองๆ” หรือ “บ่อยๆ”
(ข) “สาวน” บาลีอ่านว่า สา-วะ-นะ รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง) + ยุ ปัจจัย แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแผลง โอ เป็น อว (สุ > โส > สว), ทีฆะ อะ ที่ ส-(ว) (คือ สุ ที่แผลงเป็น สว) เป็น อา (สว > สาว)
: สุ > โส > สว + ยุ > อน = สวน > สาวน แปลตามศัพท์ว่า “การยัง-ให้ฟัง” หรือ “การยัง-ให้ได้ยิน”
“สาวน” หมายถึง การตะโกนออกไป, การประกาศ, เสียง, คำพูด (shouting out, announcement, sound, word)
อนุ + สาวน ซ้อน สฺ ระหว่างอุปสรรคกับศัพท์หลัง (อนุ + สฺ + สาวน)
: อนุ + สฺ + สาวน = อนุสฺสาวน (อะ-นุด-สา-วะ-นะ) แปลว่า “การประกาศตาม” หมายถึง การพูดตาม, การพูดซ้ำ (speak after, repeat) และมีความหมายโดยเฉพาะว่า การสวดประกาศ (a proclamation)
(๒) “อาจารย์”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อาจริย” (อา-จะ-ริ-ยะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์”
(2) อา (จากศัพท์ “อาทิ” = เบื้องต้น) + จรฺ (ธาตุ = ศึกษา) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น”
(3) อา (จากศัพท์ “อาทร” = เอื้อเฟื้อ, เอาใจใส่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่”
(4) อา (แข็งแรง, จริงจัง, ยิ่งใหญ่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง”
(5) อา (แทนศัพท์ “อภิมุขํ” = ข้างหน้า, ตรงหน้า) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติทำไว้ข้างหน้า” (คือศิษย์พึงดำเนินตาม)
(6) อา (แทนศัพท์ “อาปาณโกฏิกํ” = ตลอดชีวิต) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือพึงปรนนิบัติตลอดชีวิต”
“อาจริย” (ปุงลิงค์) แปลทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า “อาจารย์” (a teacher)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาจารย์ : (คำนาม) ผู้สั่งสอนวิชาความรู้; คําที่ใช้เรียกนําหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง. (ส.; ป. อาจริย).”
อนุสฺสาวน + อาจริย = อนุสฺสาวนาจริย (อะ-นุด-สา-วะ-นา-จะ-ริ-ยะ) แปลว่า “อาจารย์ผู้สวดตาม” หมายถึง ภิกษุที่เป็นคู่สวดรูปที่สองในสังฆกรรมที่ต้องสวดกรรมวาจา เช่นพิธีอุสมบทเป็นต้น
“อนุสฺสาวนาจริย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อนุสาวนาจารย์”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แสดงความหมายคำว่า “อนุสาวนาจารย์” ในภาษาอังกฤษไว้ดังนี้ –
อนุสาวนาจารย์ (Anusāvanācariya) : ordinationproclaiming teacher; (Second) Ordination-Teacher.
ขยายความ :
ในการทำสังฆกรรมที่ต้องประกาศให้สงฆ์ทราบหรือต้องขอมติจากสงฆ์ (เช่น การมอบผ้ากฐิน และการอุปสมบทเป็นต้น) ตามหลักพระวินัยจะต้องสวด “กรรมวาจา” คือคำประกาศท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์
ภิกษุผู้ทำหน้าที่สวด “กรรมวาจา” นั้นมีคำเรียกชื่อว่า “กรรมวาจาจารย์” ซึ่งคนทั่วไปเรียกกันว่า “คู่สวด”
การที่เรียกว่า “คู่สวด” ก็แปลว่าจะต้องมี 2 รูป ความจริงแล้ว “กรรมวาจาจารย์” มีรูปเดียวก็ใช้ได้ แต่ที่นิยมให้มี 2 รูปนั้นสันนิษฐานว่าประสงค์จะให้อีกรูปหนึ่งทำหน้าที่สวดเทียบทานเพื่อให้การสวดกรรมวาจาปราศจากข้อบกพร่องตามหลักพระธรรมวินัย
ภิกษุอีกรูปหนึ่งที่ทำหน้าที่สวดเทียบทานนี้มีคำเรียกเป็นต่างหากออกไปว่า “อนุสาวนาจารย์”
“กรรมวาจาจารย์” และ “อนุสาวนาจารย์” ทั้ง 2 นี้แหละคือที่เราเรียกกันว่า “คู่สวด”
โดยปกติ ภิกษุรูปที่อาวุโสกว่าจะทำหน้าที่ “กรรมวาจาจารย์” รูปที่อาวุโสน้อยกว่าจะเป็น “อนุสาวนาจารย์”
คำว่า “อุปัชฌาย์อาจารย์” ที่นิยมพูดกันนั้น ตามคติของคนเก่า “อาจารย์” ท่านหมายถึง “กรรมวาจาจารย์” และ “อนุสาวนาจารย์” ทั้ง 2 นี้
และตามคติของคนเก่านั้น ท่านนับถือ “อุปัชฌาย์อาจารย์” เสมอด้วยบิดามารดา โดยเหตุผลว่าเป็นผู้ทำกิจทำหน้าที่ตามพระวินับให้เกิดเพศสงฆ์ขึ้นในพระพุทธศาสนา คนเก่าท่านจึงเคารพพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของตนยิ่งนัก
คำว่า “กรรมวาจาจารย์” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แต่คำว่า “อนุสาวนาจารย์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ
และพึงสังเกตให้จงดี “อนุสาวนาจารย์” ไม่ใช่ “อนุศาสนาจารย์” รูปและเสียงคล้ายกัน แต่เป็นคนละคำกัน
“อนุศาสนาจารย์” คือ อาจารย์ผู้อบรมศีลธรรมของหน่วยราชการ (a chaplain)
ส่วน “อนุสาวนาจารย์” คือ คู่สวดรูปที่สองในพิธีอุปสมบทเป็นต้น (ordination-proclaiming teacher)
ดูเพิ่มเติม: “กรรมวาจาจารย์” บาลีวันละคำ (2,340) 8-11-61
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พูดตามกัน ไม่ได้แปลว่าคิดเองไม่เป็น
: แย้งทุกประเด็น ไม่ได้แปลว่าฉันฉลาดกว่าเธอ
#บาลีวันละคำ (3,209)
26-3-64