บาลีวันละคำ

มหกรรม แปลว่า “งานฉลอง” (บาลีวันละคำ 3,212)

มหกรรม แปลว่า “งานฉลอง”

ไม่ได้แปลว่า “งานใหญ่”

มหกรรม” อ่านว่า มะ-หะ-กำ

คำว่า “มหกรรม” นี้ คนส่วนมากเข้าใจผิดคิดไปว่า-หมายถึงงานใหญ่หรืองานที่ตั้งใจจัดขึ้นให้ยิ่งใหญ่ คือเข้าใจไปว่า “มห” เป็นคำเดียวกับ “มหา” ที่แปลว่า ใหญ่ หรือยิ่งใหญ่

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า “มหกรรม” เป็นอังกฤษว่า a great festival ก็คือยังเข้าใจว่า “มห” ก็คือ ยิ่งใหญ่ คือ great

โปรดเข้าใจให้ถูกต้องทั่วกันว่า “มห” ในที่นี้เป็นคนละคำกับ “มหา” และ “มห” ไม่ได้แปลว่า ใหญ่ หรือยิ่งใหญ่ หรือที่คำอังกฤษว่า great

มห” บาลีอ่านว่า มะ-หะ รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = บูชา) + (อะ) ปัจจัย

: มหฺ + = มห (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “งานเป็นที่บูชา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “มห” เป็นอังกฤษดังนี้ –

(1) worthiness, venerableness (การควรเคารพ, ความน่านับถือ)

(2) a [religious] festival [in honour of a Saint, as an act of worship] (การฉลอง [ทางศาสนา เพื่อยกย่องพระอรหันต์ เป็นการแสดงถึงความเคารพ])

จะเห็นได้ว่า ไม่มีคำว่า great อยู่ในคำแปลเป็นอังกฤษไม่ว่าจะในความหมายใดๆ

บาลี “มห” สันสกฤตก็มีคำว่า “มห

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

มห : (คำนาม) อุตสวะ, ยาตรา, ปรากฤตว่า – งารหรือการสมโภช; กระบือ; พลี; โค; a festival; a buffalo; an oblation; a cow.”

มห” ในสันสกฤตมีความหมายตรงกับบาลี แต่ก็มีความหมายแตกต่างจากบาลีไปอีกหลายอย่าง

อย่างไรก็ตาม สันสกฤตยังมี “มหสฺ” อีกคำหนึ่งที่เป็นรูปต่างจาก “มห” ของบาลี หรืออาจกล่าวได้ว่า บาลีเป็น “มห” สันสกฤต (อีกรูปหนึ่ง) เป็น “มหสฺ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “มหสฺ” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

มหสฺ : (คำนาม) ‘มหัส,’ อุตสวะ, ยาตรา, งารสมโภช; แสง; พลี; มหิมัน; a festival; light; oblation; greatness.”

รูป “มหสฺ” นี้ มีคำแปลเป็นอังกฤษว่า greatness (มหิมัน = ความยิ่งใหญ่)

ดังนั้น ถ้าจะให้มีความหมายว่า “งานที่ยิ่งใหญ่” และรักที่จะใช้คำว่า “มห-” คงต้องใช้ในภาษาไทยว่า “มหัสกรรม” ไม่ใช่ “มหกรรม”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหกรรม : (คำนาม) การฉลอง, การบูชา. (ป. มหกมฺม).”

จะเห็นได้ว่า พจนานุกรมฯ ก็ไม่ได้บอกว่า มหกรรมคืองานที่ยิ่งใหญ่

คำแนะนำ :

ควรปรับกระบวนความเข้าใจกันใหม่ว่า คำว่า “มห” (แม้ไม่มีคำว่า “กรรม”) หมายถึง งานฉลองที่จัดขึ้นหลังจากได้ทำกิจสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จเรียบร้อย ชั้นเดิมมุ่งเน้นที่กิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา เช่น สร้างโบสถ์ สร้างวิหารเสร็จ ก็จัดให้มี “มหกรรม” เป็นการบูชาหรือฉลองที่ได้ทำบุญสำเร็จลงด้วยดี

มห-” คำนี้ไม่ใช่ “มหา” ไม่เกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ การฉลองเล็กๆ ก็เรียกว่า “มหกรรม” ได้

ถ้าจะให้หมายถึง great festival งานฉลองที่ยิ่งใหญ่ ภาษาบาลีใช้ว่า “มหามห” คือต้องเป็น “มหามหกรรม” ไม่ใช่ “มหกรรม”

ข้อควรจำก็คือ ถ้าเป็นการทำกิจการงาน หรือกิจกรรมทั่วไป ไม่ใช่การเฉลิมฉลอง หรือที่คำฝรั่งเรียกว่า festival แล้ว อย่าใช้คำว่า “มหกรรม” เป็นดีที่สุด มิฉะนั้น คำผิดจะกลายเป็นคำถูกไปอีกคำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านเป็นโรคดังนี้บ้างฤๅหาไม?

: โรคไม่รู้ พอช่วยให้รู้ก็หาย

: โรคดื้อถือผิดรู้ผิด ช่วยแล้วก็ยังติดไปจนตาย

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

#บาลีวันละคำ (3,212)

29-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย