เจษฎาบดินทร์ (บาลีวันละคำ 3,214)
เจษฎาบดินทร์
อธิบายศัพท์ตามบาลี
อ่านว่า เจด-สะ-ดา-บอ-ดิน
แยกศัพท์เป็น เจษฎา + บดินทร์
(๑) “เจษฎา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เจษฎา” ไว้ 2 คำ ดังนี้ –
(1) เจษฎา ๑ : (คำนาม) ผู้เป็นใหญ่ที่สุด, พี่. (ป. เชฏฺฐ; ส. เชฺยษฺฐ).
(2) เจษฎา ๒ : (คำนาม) การเคลื่อนไหวอวัยวะ, การไหวมือและเท้า, ท่ารํา; กรรม, การทําด้วยตั้งใจ, การประพฤติ, การตั้งใจทํา, เช่น ภูบาลทุกทวี- ปก็มาด้วยเจษฎา. (สมุทรโฆษ). (ส. เจษฺฏา).
ในที่นี้ “เจษฎา” มีความหมายตามข้อ (1) ซึ่งพจนานุกรมฯ บอกว่า บาลีเป็น “เชฏฺฐ” และสันสกฤตเป็น “เชฺยษฺฐ”
“เชฏฺฐ” (เชด-ถะ) ในบาลี รากศัพท์มาจาก วุฑฺฒ (เจริญ) + อิฏฺฐ ปัจจัย, แปลง วุฑฺฒ เป็น ช, แปลง อิ ที่ อิฏฺฐ เป็น เอ (อิฏฺฐ > เอฏฺฐ)
: วุฑฺฒ > ช + อิฏฺฐ = ชิฏฺฐ > เชฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “คนที่เจริญโดยวิเศษกว่าคนที่เจริญคนนี้ ๆ”
วาดเป็นภาพว่า ให้คนเจริญคือมีอายุมากมารวมกันหลายๆ คน แยกคนที่เจริญกว่าเพื่อนออกมาคนหนึ่ง แล้วชี้ไปที่คนอื่นๆ พลางพูดว่า “คนนี้เจริญกว่าคนนี้ ๆ”
“เชฏฺฐ” หมายถึง เจริญที่สุด หรือประเสริฐที่สุด
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายตามรากศัพท์ว่า “stronger than others” (แข็งแรงกว่าผู้อื่น) และบอกความหมายว่า better (than others), best, first, supreme; first-born; elder brother or sister, elder, eldest (ดีกว่า [สิ่งหรือผู้อื่น], ดีที่สุด, เลิศ, ยอด; หัวปี; พี่ชายหรือพี่สาวคนโต, แก่กว่า, แก่ที่สุด)
เชฏฺฐ สันสกฤตเป็น “เชฺยษฺฐ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“เชฺยษฺฐ : (คำคุณศัพท์) ดียิ่ง, วิเศษยิ่ง, ประเสริฐ, บรม; แก่ยิ่ง, เก่ายิ่ง; เกิดก่อน; best, most excellent, pre-eminent; very old, oldest; or elder born;- น. ดาวหมู่หนึ่งซึ่งนับเป็นนักษัตร นักษัตรหมู่ที่สิบแปด, มีดาวอยู่สามดวง ๆ หนึ่งได้แก่ดาวแมลงป่อง; นิ้วกลาง; ทุกข์อันโรปยติเป็นภควดี; แม่น้ำคงคา; จิ้งจก; ชื่อเดือน; ความชรา; one of the astcrisms considered as a lunar mansion; the eighteenth lunar mansion comprising three stars, of which one is Scorpionis; the middle finger; misfortune, personified as a goddess; the Ganges; a small house-lizard; the name of a month; old age.”
ปกติคำที่มาจากบาลีสันสกฤต ในภาษาไทยถ้าไม่เขียนตามบาลีก็เขียนตามหรืออิงสันสกฤต “เจษฎา” ตามความหมายนี้ ไม่ใช่ทั้งบาลีและสันสกฤต ถ้าเช่นนั้นทำไมเราจึงสะกดแบบนี้ ?
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “เจษฺฏา” บอกไว้ว่า –
“เจษฺฏา : (คำนาม) อุตสาหะ, การพยายาม, การพากเพียร; effort, exertion, bodily effort.”
“เจษฺฏา” รูปคำเหมือน “เจษฎา” ในภาษาไทย แต่ความหมายไม่เหมือนกันเลย
สันนิษฐานว่า เราคงเลี่ยง “เชฏฺฐ” บาลี แต่ไปเจอ “เชฺยษฺฐ” สันสกฤตเข้าก็ยังไม่ถูกใจ จึงแผลงรูปให้เป็นสันสกฤตแปลง และมีเสียงคล่องปากขึ้น
เชฏฺฐ > เชฏฺฐา >เชฺยษฺฐ > เชฺยษฺฐา > เจษฎา
อาจกล่าวได้ว่า เราใช้รูป “เจษฎา” ตามความหมายของ “เชฏฺฐา” นั่นเอง (ช กับ จ กลายเสียงแทนกันได้) กล่าวอีกนัยหนึ่ง “เจษฎา” เป็นบาลีสันสกฤตแปลงตามภูมิปัญญาไทย
(๒) “บดินทร์”
อ่านว่า บอ-ดิน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บดินทร์ : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน. (ส. ปติ + อินฺทฺร).”
อธิบายตามนัยแห่งพจนานุกรมฯ ดังนี้ –
(ก) “ปติ” (ปะ-ติ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปา (ธาตุ = รักษา, ดูแล) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > ป)
: ปา + ติ = ปาติ > ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษา”
(2) ปตฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย
: ปตฺ + อิ = ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปข้างหน้า”
“ปติ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ (lord, master, owner, leader)
(2) สามี (husband)
(ข) “อินฺทฺร” บาลีเป็น “อินฺท” (อิน-ทะ) รากศัพท์มาจาก อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + นิคหิตอาคม + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น น, ลบสระที่สุดธาตุ
: อิทิ > อึทิ (อิง-ทิ) > อินฺทิ > อินฺท + อ = อินฺท แปลว่า “ผู้กระทำความเป็นใหญ่ยิ่ง” หมายถึง พระอินทร์, ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา (The Vedic god Indra; lord, chief, king)
ในที่นี้ “อินฺท” ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “อินทร”
ปติ + อินฺท = ปตินฺท > ปตินฺทฺร > บดินทร์ แปลตามศัพท์ว่า “เจ้านายผู้เป็นใหญ่” หรือ “ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เจ้านาย”
เจษฎา + บดินทร์ = เจษฎาบดินทร์ แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เจ้านายที่เจริญที่สุด”
ขยายความ :
“เจษฎาบดินทร์” เป็นพระนามกรมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงกรมในรัชกาลที่ 2
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระองค์แรกที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม (ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม เวลาค่ำ 10.30 น. (สี่ทุ่มครึ่ง) ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2330 (นับแบบปัจจุบัน พ.ศ.2331) เสวยราชสมบัติเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 9 ขึ้น 7 ค่ำ ปีวอก ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2367 ดำรงสิริราชสมบัติได้ 26 ปี 255 วัน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติ ณ พระราชวังเดิม ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในขณะที่พระองค์ประสูตินั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระองค์จึงมีสกุลยศชั้นหม่อมเจ้าพระนามว่า หม่อมเจ้าชายทับ จนกระทั่งสมเด็จพระบรมชนกนาถได้รับอุปราชาภิเษกขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในปี พ.ศ.2349 พระองค์จึงมีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับ
เมื่อสมเด็จพระราชชนกได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 ใน พ.ศ.2352 พระองค์จึงได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ จนปี พ.ศ.2356 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรม เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
…………..
วันที่ 31 มีนาคม วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า หรือ วันเจษฎาบดินทร์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่เรียนรู้เรื่องราวของคนเก่า
: จะรู้จักโคตรเค้าของตนไฉน
: ไทยไม่นับถือบรรพบุรุษไทย
: แล้วจะหวังให้ใครนับถือเรา
————
พระราชประวัติ: สรุปจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพประกอบ: จาก google
#บาลีวันละคำ (3,214)
31-3-64