บาลีวันละคำ

ปุนภพ (บาลีวันละคำ 3,213)

ปุนภพ

เกิดใหม่

พจนานุกรมฉบับ 42 บอกว่าอ่านว่า ปุ-นะ-พบ

พจนานุกรมฉบับ 54 บอกว่าอ่านว่า ปุ-นะ-พบ ก็ได้ ปุน-นะ-พบ ก็ได้

ปุนภพ” เขียนแบบบาลีเป็น “ปุนพฺภว” อ่านว่า ปุ-นับ-พะ-วะ แยกศัพท์เป็น ปุน + ภว

(๑) “ปุน

อ่านว่า ปุ-นะ เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” ในบาลีไวยากรณ์ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเรียบเรียง เรียกว่า “นิบาตมีเนื้อความต่างๆ” นิบาตในหมวดนี้มีหลายคำ ขอยกมาแสดงเป็นอลังการแห่งความรู้ดังนี้ (ภาษาอังกฤษจาก THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY edited by T. W. RHYS DAVIDS)

อญฺญทตฺถุ =โดยแท้ (surely, all-round, absolutely)

อโถ = อนึ่ง (and, also, and further, likewise, nay)

อทฺธา = แน่แท้ (certainly, for sure, really, truly)

อวสฺสํ = แน่แท้ (inevitably)

อโห = โอ (yea, indeed, well; I say… for sure…)

อารา = ไกล (far from, remote [from])

อาวี  แจ้ง (clear, manifest, evident; openly, before one’s eyes, in full view)

อิติ = เพราะเหตุนั้น, ว่าดังนี้, ด้วยประการนี้, ชื่อ (thus)

อุจฺจํ = สูง (high)

กฺวจิ = บ้าง (ever = who-ever, what-ever. etc.)

กิญฺจาปิ = แม้น้อยหนึ่ง (whatever)

นานา = ต่าง ๆ (various, of all kinds)

นีจํ = ต่ำ (low, inferior, humble)

นูน = แน่ (is it then, now, shall I; surely, certainly, indeed)

ปจฺฉา = ภายหลัง (behind, aft, after, afterwards, back; westward)

ปฏฺฐาย = ตั้งก่อน (from … onward, beginning with, henceforth, from the time of)

ปภูติ = จำเดิม (beginning, since, after, subsequently)

ปุน = อีก (again)

ปุนปฺปุนํ = บ่อย ๆ (again and again)

ภิยฺโย = ยิ่ง (in a higher degree, more, repeatedly, further)

ภิยฺโยโส = โดยยิ่ง (still more, more and more)

มิจฺฉา = ผิด (wrongly, in a wrong way, wrong-, false)

มุธา = เปล่า (for nothing, gratis)

มุสา = เท็จ (falsely, wrongly)

สกึ = คราวเดียว (once)

สณิกํ = ค่อย ๆ (slowly, gently, gradually)

สตกฺขตฺตุํ = ร้อยคราว (a hundred times = “many” or “innumerable”)

สทฺธึ = พร้อม, กับ (together)

สยํ = เอง (self, by oneself)

สห = กับ (in conjunction with, together, accompanied by; immediately after)

สามํ = เอง (self, of oneself)

หมายเหตุ: คำแปลเป็นอังกฤษบางคำอาจควรปรับแก้

(๒) “ภว

อ่านว่า พะ-วะ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ภู > โภ > ภว)

: ภู + = ภูณ > ภู > โภ > ภว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่เจริญ” (2) “เหตุเป็นเครื่องเจริญแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่เป็นที่เกิดขึ้น” (4) “เหตุที่ทำให้มีการเกิดขึ้น” หมายถึง ความเกิดใหม่, ภพ, รูปกำเนิด, ความมี, ชีวิต (becoming, form of rebirth, state of existence, a life)

ปุน + ภว ซ้อน พฺ ระหว่างศัพท์ (ปุน + พฺ + ภว)

: ปุน + พฺ + ภว = ปุนพฺภว (ปุ-นับ-พะ-วะ) แปลว่า “เกิดอีก” หมายถึง ภพใหม่, กำเนิดใหม่ (renewed existence, new birth)

ปุนพฺภว” ในภาษาไทยตัดตัวซ้อนคือ พฺ ออก และแผลง เป็น ได้รูปเป็น “ปุนภพ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปุนภพ : (คำนาม) ภพใหม่, การเกิดใหม่. (ป. ปุนพฺภว); สมัยเกิดใหม่ ได้แก่ตอนเริ่มต้นยุคปัจจุบันหลังยุคกลาง.”

ขยายความ :

โปรดสังเกตว่า ความหมายที่ว่า “ภพใหม่, การเกิดใหม่” พจนานุกรมฯ บอกที่มาของคำว่ามาจากบาลีว่า “ปุนพฺภว” แต่ความหมายที่ว่า “สมัยเกิดใหม่ ได้แก่ตอนเริ่มต้นยุคปัจจุบันหลังยุคกลาง” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกที่มาของคำ นั่นก็แปลว่าความหมายท่อนหลังนั้นไม่ใช่ความหมายของคำว่า “ปุนพฺภว” ในบาลี

ปุนพฺภว” หรือ “ปุนภพ” ตามความหมายเดิมในบาลีหมายถึง-เมื่อสิ้นชีพจากภพนี้ โลกนี้ หรือชีวิตนี้แล้ว ก็ไปถือกำเนิดอีก จะมาเกิดในโลกนี้หรือไปเกิดในภพภูมิไหนเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ผู้นั้นทำ

ในคัมภีร์ คำว่า “ปุนพฺภว” มักมาเป็นชุดร่วมกับคำอื่น ที่พบเสมอคือ “อกุปฺปา  เม  วิมุตฺติ  อยมนฺติมา  ชาติ  นตฺถิทานิ  ปุนพฺภโว.”

อกุปฺปา  เม  วิมุตฺติ” = การหลุดพ้น (จากสรรพกิเลส) ของเราไม่กำเริบ (คือไม่กลับมาติดมาข้องกลายเป็นยังไม่หลุดพ้นจริง แต่พ้นแล้วพ้นเด็ดขาดไปเลย)

อยมนฺติมา  ชาติ” = ชาตินี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย

นตฺถิทานิ  ปุนพฺภโว” = บัดนี้ไม่มีการไปเกิดใหม่อีกต่อไป

คำอีกชุดหนึ่งที่มีความหมายเกี่ยวข้องและสอดคล้องกัน คือ “ขีณา  ชาติ  วุสิตํ  พฺรหฺมจริยํ  กตํ  กรณียํ  นาปรํ  อิตฺถตฺตาย.”

คำชุดนี้มักปรากฏในขั้นตอนสุดท้ายของการปฏิบัติธรรม คือปฏิบัติจิตภาวนาจนสำเร็จผลแล้วก็จะมีคำบรรยายชุดนี้อันเป็นความรู้เห็นประจักษ์ที่เกิดแก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง

ขีณา  ชาติ” = ชาติ (คือการเกิดเป็นอะไรต่อไป) สิ้นสุดแล้ว

วุสิตํ  พฺรหฺมจริยํ” = การประพฤติพรหมจรรย์สำเร็จลงแล้ว

กตํ  กรณียํ” = กิจที่ต้องทำ ทำเสร็จแล้ว

นาปรํ  อิตฺถตฺตาย” = ไม่ต้องทำกิจอะไรอื่นเพื่อที่จะบรรลุผลเช่นนี้อีก (เพราะบรรลุผลไปเรียบร้อยแล้ว)

อาจจัดเป็นระบบได้ว่า คำในชุด “ขีณา  ชาติ …” เป็นการรับรองผลของการปฏิบัติว่า “ผ่าน” แล้ว

ส่วนคำในชุด “อกุปฺปา  เม  วิมุตฺติ …” เป็นการแสดงผลที่จะได้รับติดตามมา

อนึ่ง พึงพิจารณาโดยแยบคายว่า คำว่า “นตฺถิทานิ  ปุนพฺภโว = บัดนี้ไม่มีการไปเกิดใหม่อีกต่อไป” เป็นการยืนยันว่า เมื่อบรรลุพระนฤพานแล้วก็ไม่มีภพภูมิอะไรที่จะให้ผู้บรรลุไปสถิตอยู่ ทั้งนี้เพราะผู้บรรลุอยู่ในภพภูมิไหน-เช่นอยู่ในโลกมนุษย์นี้-เมื่อสิ้นชีพดับขันธ์ ก็สิ้นชีพในโลกนี้ (หรือในโลกที่ผู้นั้นดำรงชีพอยู่) และท่านก็ยืนยันว่า – “นตฺถิทานิ  ปุนพฺภโว = บัดนี้ไม่มีการไปเกิดใหม่อีกต่อไป” เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีอะไรของผู้บรรลุพระนฤพานไปสถิตเป็นอมตะอยู่ในภพภูมิไหนๆ อีกได้อย่างไร?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนพาลเกิดมาทำให้โลกนี้ผิด

: บัณฑิตเกิดมาทำให้โลกนี้ถูก

#บาลีวันละคำ (3,213)

30-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย