บาลีวันละคำ

กนิษฐาธิราช (บาลีวันละคำ 3,216)

กนิษฐาธิราช

ในพระนามาภิไธย “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า” – ศึกษาในแง่ภาษา

อ่านว่า กะ-นิด-ถา-ทิ-ราด

ประกอบด้วยคำว่า กนิษฐา + อธิราช

(๑) “กนิษฐา

อ่านว่า กะ-นิด-ถา บาลีเป็น “กนิฏฺฐา” (มีจุดใต้ ฏฺ) รากศัพท์มาจาก –

(ก) ยุว (หนุ่ม) + อิฏฺฐ ปัจจัย, แปลง ยุว เป็น กน (กะ-นะ)

: ยุว > กน + อิฏฺฐ = กนิฏฺฐ (กะ-นิด-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “คนที่หนุ่มกว่าเขาทั้งหมด” ใช้ในความหมายว่า อายุอ่อนกว่า, อายุน้อยที่สุด, ผู้เกิดเป็นน้อง (younger, youngest, younger born)

ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “กนิษฐ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กนิษฐ-, กนิษฐ์ : (คำวิเศษณ์) “น้อยที่สุด”, (คำราชาศัพท์) ถ้าใช้ว่า พระกนิษฐภคินี หมายถึง น้องสาว, ถ้าใช้ว่า พระกนิษฐภาดา หมายถึง น้องชาย, ถ้าใช้ว่า พระกนิษฐา หมายถึง น้องสาว. (ส.; ป. กนิฏฺฐ).”

(ข) กนิฏฺฐ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กนิฏฺฐ + อา = กนิฏฺฐา (กะ-นิด-ถา) แปลว่า “หญิงที่เกิดมาเป็นน้อง” (the youngest daughter)

ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “กนิษฐา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กนิษฐา : (คำที่ใช้ในบทร้อยกรอง) (คำนาม) น้องสาว; (คำราชาศัพท์) น้องสาว; นิ้วก้อย; ใช้ว่า พระกนิษฐา. (ส.).”

(๒) “อธิราช

แยกศัพท์เป็น อธิ + ราช

(ก) “อธิ” (อะ-ทิ) เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายไว้ว่า –

(1) บอกทิศทาง, จุดหมาย = จนถึง, เหนือ, ไปยัง, บน (up to, over, toward, to, on)

(2) บอกสถานที่ = บนยอด, ข้างบน, เหนือ, บน (on top of, above, over)

(ข) “ราช” บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (อะ) ปัจจัย) = ราช

หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ปัจจัย, ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา = ราช

หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

อธิ + ราช = อธิราช บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-รา-ชะ ภาษาไทยอ่านว่า อะ-ทิ-ราด แปลว่า “พระราชาผู้ยิ่งใหญ่” ในที่นี้หมายถึง เจ้านายผู้มีพระเกียรติยศและพระเกียรติคุณยิ่งใหญ่

กนิษฐา + อธิราช = กนิษฐาธิราช แปลว่า “น้องสาวผู้เป็นเจ้านายผู้มีพระเกียรติยศและพระเกียรติคุณยิ่งใหญ่

ขยายความ :

คำว่า “อธิราช” ถ้าใช้คำเดียวย่อมหมายถึง “พระราชาผู้ยิ่งใหญ่” แต่ในที่นี้ใช้เป็นคำเสริมหรือหนุนพระนามให้โดดเด่นยิ่งขึ้น เป็นคำขยายคำว่า “กนิษฐา” ซึ่งหมายถึงผู้เป็นน้องสาวของพระราชา ดังนั้น “อธิราช” จึงต้องผันความหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง คือแปลความว่า “เจ้านายผู้มีพระเกียรติยศและพระเกียรติคุณยิ่งใหญ่” เทียบกับพระนาม “สมเด็จพระอนุชาธิราช” (เจ้านายผู้เป็นน้องชายของพระราชา) ที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์

แสดงมาทั้งนี้ อยู่ในขอบเขตที่ว่าศึกษาในแง่ภาษาสวนหนึ่งเท่านั้น

…………..

2 เมษายน

วันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

…………..

ดูก่อนภราดา!

เดชะฤทธิ์พระไตรรัตน์

ศีลสัตย์ทิพยโอสถพระธรรมขันธ์

สรรพโรคาพาธนิราศพลัน

เกษมสันต์เสวยสวัสดิ์จิรัฐิติกาลเทอญ

#บาลีวันละคำ (3,216)

2-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย