บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ชีวิตควรจะมีกรอบหรือไม่

ชีวิตควรอยู่ในกรอบ? 

หรือไม่ควรมีกรอบ? 

อยู่ในกรอบ หมายความว่า อะไรที่ “ห้ามทำ” ก็ไม่ทำ อะไรที่ “ต้องทำ” ก็ทำ คือเอาระเบียบแบบแผนเป็นหลัก

ไม่มีกรอบ หมายความว่า อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็ไม่ต้องทำ คือเอาความอยากของตัวเองเป็นที่ตั้ง

สัจธรรมของมนุษย์ก็คือ เมื่ออยู่ร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ย่อมมี “กรอบ” เกิดขึ้นตามธรรมชาติ 

ความต้องการของคนหนึ่งย่อมถูกจำกัดหรือถูกตีกรอบด้วยความต้องการของอีกคนหนึ่ง 

อย่างที่ว่ากันว่า-สิทธิของคนหนึ่งต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของอีกคนหนึ่ง นั่นคือ เราไม่อาจทำอะไรได้ทุกอย่างตามที่อยากทำ

ผลที่เกิดตามมาก็คือ ระเบียบ กฎ กติกา มารยาท 

ถ้ามองเป็นภาพรวมก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า วัฒนธรรม ประเพณี 

หรือใหญ่กว่านี้ก็-อารยธรรม

เมื่อยังต้องอยู่กับสังคม ก็ต้องจำยอมปฏิบัติ มิเช่นนั้นอาจถูกข้อหา “คนไม่มีการศึกษา” หรืออย่างต่ำๆ ก็-ไม่มีมารยาท

แต่ลึกๆ แล้วก็คงจะต้องมีสักชั่วขณะหนึ่งที่แต่ละคนจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า เราจะต้องอยู่ในกรอบกันไปทำไม อยู่ในกรอบแล้วมันได้อะไรขึ้นมา

ถ้าไม่มีหลัก เราก็จะตอบคำถามนี้กันอย่างเตลิดเปิดเปิง-ตามแต่ความปรารถนาจะพาไป 

หลักก็คือ มี “ความจริง” ในชีวิตของคนเราอยู่ ๒ อย่าง คือ – 

เราไม่อาจได้สิ่งที่ต้องการทุกอย่าง อย่างหนึ่ง 

และเราอาจได้สิ่งที่ไม่ต้องการ อย่างหนึ่ง 

“กรอบ” ซึ่งหมายถึงระเบียบ กฎ กติกา มารยาท วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ก็คือแบบฝึกหัด –

เพื่อให้มีความทุกข์น้อยที่สุด-เมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ 

และเพื่อให้มีสุขมากที่สุด-เมื่อได้สิ่งที่ไม่ต้องการ 

ดังนั้น คนที่ผ่านแบบฝึกหัดมาแล้วหรือฝึกมาดีแล้ว จะอยู่ในสังคมในฐานะสมาชิกที่ดีของสังคมได้อย่างมีความสุขได้ง่าย และมีทุกข์น้อย หรือแทบไม่รู้สึกทุกข์เลย

คนประเภทนี้จะทำหน้าที่อย่างไม่บกพร่อง หรือบกพร่องน้อยที่สุด สร้างปัญหาให้แก่สังคมน้อยอย่างยิ่ง

อะไรที่ “ห้ามทำ” ก็ยินดีและมีความสุขที่จะไม่ทำ ไม่คิดว่าถูกจำกัดสิทธิ์

อะไรที่ “ต้องทำ” ก็มีความพร้อมและเต็มใจที่จะทำ ไม่คิดว่าถูกเคี่ยวเข็ญ

สมตามพุทธภาษิตที่ว่า “ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ” แปลความว่า คนที่ได้รับการฝึกหรือฝึกตัวเองมาแล้วเป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์

คงจะพอได้คำตอบ ว่าชีวิตควรจะมีกรอบหรือไม่

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓ เมษายน ๒๕๖๔

๑๗:๑๔

———

ต้นฉบับเดิม

ทองย้อย แสงสินชัย 

๑๕ มกราคม ๒๕๖๑

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *