บาลีวันละคำ

ปาติโมกข์ย่อ (บาลีวันละคำ 3,217)

ปาติโมกข์ย่อ

ฤๅจะสวดยากกว่าปาติโมกข์เต็ม

อ่านว่า ปา-ติ-โมก-ย่อ

ประกอบด้วยคำว่า ปาติโมกข์ + ย่อ

(๑) “ปาติโมกข์

เขียนแบบบาลีเป็น “ปาติโมกฺข” อ่านว่า ปา-ติ-โมก-ขะ มีรากศัพท์มาหลายทาง เช่น –

(1) (ทั้งปวง) + อติ (เกิน, ล่วง) + โมกฺข (พ้น) = ปาติโมกฺข แปลว่า “ธรรมที่เป็นเหตุให้ล่วงพ้นจากทุกข์ได้ด้วยประการทั้งปวง

(2) ปฏิ (มุ่งเฉพาะ) + มุข (ต้นทาง) = ปาติโมกฺข แปลว่า “หลักธรรมที่เป็นต้นทาง หรือเป็นประธานมุ่งหน้าไปสู่ความพ้นทุกข์

(3) ปาติ (กิเลสที่ทำให้ตกนรก) + โมกฺข (ธาตุ = หลุดพ้น) = ปาติโมกฺข แปลว่า “ธรรมที่ยังบุคคลผู้รักษาให้หลุดพ้นจากนรก

บาลี “ปาติโมกฺข” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปาติโมกข์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาติโมกข์ : (คำนาม) คัมภีร์ว่าด้วยวินัยของสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ, ชื่อบาลีที่ประมวลพุทธบัญญัติอันทรงตั้งขึ้นเป็นพุทธอาณา ได้แก่ อาทิพรหมจริยกาสิกขา มีพระพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกวันอุโบสถ. (ป.)”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ปาติโมกข์” อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

ปาติโมกข์ : ชื่อคัมภีร์ที่ประมวลพุทธบัญญัติอันทรงตั้งขึ้นเป็นพุทธอาณา ได้แก่ อาทิพรหมจริยกาสิกขา มีพระพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เรียกกันว่า พระสงฆ์ทำอุโบสถ, คัมภีร์ที่รวมวินัยของสงฆ์ สำหรับภิกษุ เรียก ภิกขุปาติโมกข์ มีสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ และสำหรับภิกษุณี เรียก ภิกขุนีปาติโมกข์ มีสิกขาบท ๓๑๑ ข้อ; ปาติโมกข์ ๒ คือ ๑.อาณาปาติโมกข์ ปาติโมกข์ที่เป็นพระพุทธอาณา ได้แก่ ภิกขุปาติโมกข์ และภิกขุนีปาติโมกข์ ๒.โอวาทปาติโมกข์ ปาติโมกข์ที่เป็นพระพุทธโอวาท ได้แก่ พุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ดังที่ได้ตรัสในที่ประชุมพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ในวันมาฆปุณมี หลังตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน, อรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมพระสงฆ์เป็นประจำตลอด ๒๐ พรรษาแรก ต่อจากนั้น จึงได้รับสั่งให้พระสงฆ์สวดอาณาปาติโมกข์กันเองสืบต่อมา; (เขียน ปาฏิโมกข์ ก็มี).

…………..

(๒) “ย่อ

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ย่อ : (คำกริยา) ยอบลง เช่น ย่อตัว ย่อเข่า, ลดให้สั้นหรือเล็กลง เช่น ย่อความ ย่อส่วน; ทำให้ยุบเข้าไป, ทำให้จมลึกเข้าไป, เช่น ย่อเก็จ ย่อมุม.”

ในที่นี้ “ย่อ” หมายถึง “ลดให้สั้นลง

ปาติโมกข์ + ย่อ = ปาติโมกข์ย่อ หมายถึง ปาติโมกข์ที่สวดให้สั้นลง

ขยายความ :

ปาติโมกข์” ที่เราคุ้นกันดีเป็นคัมภีร์รวบรวมพระวินัยที่เป็นหลักของภิกษุ ที่รู้กันว่า ศีล 227 ข้อ และมีพุทธานุญาตให้สวดในที่ชุมนุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน (วันกลางเดือน และสิ้นเดือนตามจันทรคติ) เพื่อทบทวนข้อปฏิบัติและสำรวจตนเองว่าได้ปฏิบัติตามพุทธบัญญัติครบถ้วนถูกต้องแล้วหรือไม่

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ปาติโมกข์ย่อ” อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

ปาติโมกข์ย่อ : มีพุทธานุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อได้ ในเมื่อมีเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในเหตุ ๒ อย่าง คือ ๑. ไม่มีภิกษุจำปาติโมกข์ได้จนจบ (พึงสวดเท่าอุเทศที่จำได้) ๒. เกิดเหตุฉุกเฉินขัดข้องที่เรียกว่าอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งในอันตรายทั้ง ๑๐ (กำลังสวดอุเทศใดค้างอยู่ เลิกอุเทศนั้นกลางคันได้ และพึงย่อตั้งแต่อุเทศนั้นไปด้วยสุตบท คือคำว่า สุต ที่ประกอบรูปเป็น สุตา ตามไวยากรณ์ ทั้งนี้ยกเว้นนิทานุทเทสซึ่งต้องสวดให้จบ)

สมมติว่าสวดปาราชิกุทเทสจบแล้ว ถ้าสวดย่อตามแบบที่ท่านวางไว้จะได้ดังนี้: “สุตา โข อายสฺมนฺเตหิ เตรส สงฺฆาทิเสสา ธมฺมา, สุตา โข อายสฺมนฺเตหิ เทฺว อนิยตา ธมฺมา, ฯเปฯ ลงท้ายว่า เอตฺตกํ ตสฺส ภควโต ฯเปฯ สิกฺขิตพฺพํ

แบบที่วางไว้เดิมนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ไม่ทรงเห็นด้วยในบางประการ และทรงมีพระมติว่าควรสวดย่อดังนี้ (สวดปาราชิกุทเทสจบแล้ว สวดคำท้ายทีเดียว): “อุทฺทิฏฺฐํ โข อายสฺมนฺโต นิทานํ, อุทฺทิฏฺฐา จตฺตาโร ปาราชิกา ธมฺมา, สุตา เตรสสงฺฆาทิเสสา ธมฺมา, ฯเปฯ สุตา สตฺตาธิกรณสมถา ธมฺมา, เอตฺตกํ ฯเปฯ สิกฺขิตพฺพํ”.

…………..

อันตรายอันเป็นเหตุให้สวด “ปาติโมกข์ย่อ” นั้น พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต สรุปไว้ดังนี้ –

…………..

อันตราย ๑๐ : เหตุฉุกเฉิน หรือเหตุขัดข้องที่ทรงอนุญาตให้เลิกสวดปาติโมกข์ได้ โดยให้สวดปาติโมกข์ย่อแทน มี ๑๐ อย่าง คือ

๑. ราชันตราย พระราชาเสด็จมา (เลิกสวดเพื่อรับเสด็จ)

๒. โจรันตราย โจรมาปล้น (เพื่อหนีภัย)

๓. อัคยันตราย ไฟไหม้ (เพื่อดับหรือป้องกันไฟ)

๔. อุทกันตราย น้ำหลากมา (หรือฝนตกเมื่อสวดกลางแจ้ง; เพื่อหนีน้ำ)

๕. มนุสสันตราย คนมามาก (เพื่อรู้เหตุหรือปฏิสันถาร)

๖. อมนุสสันตราย ผีเข้าภิกษุ (เพื่อขับผี)

๗. วาฬันตราย สัตว์ร้ายเช่นเสือมาในวัด (เพื่อไล่สัตว์)

๘. สิริงสปันตราย งูเลื้อยเข้ามา (เพื่อไล่งู)

๙. ชีวิตันตราย มีเรื่องเป็นตาย เช่นภิกษุอาพาธโรคร้าย (เพื่อช่วยแก้ไข)

๑๐. พรหมจริยันตราย มีอันตรายแก่พรหมจรรย์ เช่น มีคนมาจับภิกษุ (เลิกเพราะอลหม่าน).

…………..

แถม :

ปาติโมกข์” ที่พระสวดกันอยู่ทุกวันนี้มีคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ภิกขุปาติโมกข์” ข้อความทั้งหมดเป็นภาษาบาลี ตามปกติพระท่านจะสวดเต็มครบทุกสิกขาบท โดยภิกษุรูปหนึ่งที่จำทรงพระปาติโมกข์ได้เป็นผู้สวดปากเปล่า ภิกษุผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นผู้ฟัง ใช้เวลาสวดประมาณ 35-50 นาทีก็จบ ในกรณีสวดปาติโมกข์ย่อใช้เวลาเพียงครู่เดียวก็เสร็จ แต่ถ้าไม่มีอันตรายคือเหตุขัดข้อง ต้องสวดเต็มเสมอ

อนึ่ง พึงเข้าใจให้ถูกต้องว่า เมื่อมีอันตรายคือเหตุขัดข้องตามที่ระบุไว้เกิดขึ้น มีพุทธานุญาตให้สวด “ปาติโมกข์ย่อ” ไม่ใช่ให้งดสวดปาติโมกข์ไปเลยดังที่บางท่านเข้าใจ

…………..

ดูก่อนภราดา!

เจ้าพระคุณเอ๋ย ขออย่าเป็นเช่นนี้เลย —

: เรียนจบปริญญาสี่ห้า ป.

: ปาติโมกข์ย่อสวดอย่างไรไม่สีสา

: ดังจักษุแลทะลุถึงดารา

: แต่ขนตาอยู่ใกล้ใกล้ไม่เห็นเลย

อาจเป็นรูปภาพของ 4 คน และผู้คนกำลังยืน

#บาลีวันละคำ (3,217)

3-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย