ราชทินนาม – เป็นกลุ่มคำ (บาลีวันละคำ 2,621)
โปรดช่วยกันจำ – ไม่ใช่ชื่อ + นามสกุล
“ราชทินนาม” อ่านว่า ราด-ชะ-ทิน-นะ-นาม
ประกอบด้วยคำว่า ราช + ทิน + นาม
(๑) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –
(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช
หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ (ปัจจัย) ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา = ราช
หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
(๒) “ทิน”
บาลีเป็น “ทินฺน” (มี น 2 ตัว) อ่านว่า ทิน-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ต ปัจจัย, แปลง อา ที่สุดธาตุเป็น อิ (ทา > ทิ), แปลง ต เป็น นฺน
: ทา + ต = ทาต > ทิต > ทินฺน แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาให้แล้ว” เป็นกิริยา และเป็นคุณศัพท์ หมายถึง ได้ให้, มอบให้ (given, granted, presented)
“ทินฺน” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออก ใช้เป็น “ทิน” อ่านว่า ทิน-นะ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทิน ๑ : (คำแบบ) (คำกริยา) ให้แล้ว เช่น ราชทินนาม. (ป. ทินฺน).”
(๓) “นาม”
บาลีอ่านว่า นา-มะ รากศัพท์มาจาก นมฺ (ธาตุ = น้อม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ น-(มฺ) เป็น อา (นมฺ > นาม)
: นมฺ + ณ = นมณ > นม > นาม แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นที่น้อมวัตถุเข้ามา” “คำที่น้อมไปหาวัตถุ” “คำที่ชาวโลกใช้เป็นเครื่องน้อมไปสู่ความหมายนั้นๆ” หมายถึง นาม, ชื่อ (name)
ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นาม, นาม– : (คำนาม) ชื่อ, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระนาม; คําชนิดหนึ่งในไวยากรณ์ สําหรับเรียกคน สัตว์ และสิ่งของต่าง ๆ; สิ่งที่ไม่ใช่รูป คือ จิตใจ, คู่กับ รูป. (ป.).”
การประสมคำ :
ราช + ทินฺน = ราชทินฺน (รา-ชะ-ทิน-นะ)
ใช้ในภาษาไทยเป็น “ราชทิน” (ราด-ชะ-ทิน-นะ) แปลว่า “อันพระราชาพระราชทานแล้ว”
ราชทินฺน + นาม = ราชทินฺนนาม (รา-ชะ-ทิน-นะ-นา-มะ)
ใช้ในภาษาไทยเป็น “ราชทินนาม” (ราด-ชะ-ทิน-นะ-นาม) แปลว่า “นามอันพระราชาพระราชทานแล้ว”
ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราชทินนาม : (คำนาม) ชื่อพระราชทานที่ตั้งกำกับยศหรือบรรดาศักดิ์แก่ขุนนาง เช่น เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาเป็นยศ ยมราชเป็นราชทินนาม หรือกำกับสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จเป็นสมณศักดิ์ พระพุทธโฆษาจารย์เป็นราชทินนาม.”
อภิปราย :
คำว่า “ราชทินนาม” ในที่นี้ ขอเน้นที่ “ชื่อพระราชทานที่ตั้ง… หรือกำกับสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์” เช่น –
“พระครูสิริวิหารการ”
“พระโสภณคณาภรณ์”
“พระราชวิสุทธิโสภณ”
“พระเทพเวที”
“พระธรรมโกศาจารย์”
หลักเกณฑ์สำคัญของ “ราชทินนาม” ก็คือ “เป็นกลุ่มคำ” หมายความว่า เวลาเขียนต้องเขียนติดกันทั้งกลุ่ม ไม่ใช่ไปเขียนแยกดังจะให้เข้าใจว่าเป็นชื่อคำหนึ่ง และเป็นนามสกุลอีกคำหนึ่ง อย่างที่สื่อประเภทสิ่งพิมพ์ในบ้านเรานิยมใช้ เช่น –
(1) “พระครูสิริวิหารการ”
คำว่า “พระครูสิริวิหารการ” เป็นกลุ่มคำ คือเป็นศัพท์เดียวกัน ไม่ใช่ไปแยกเป็น “พระครูสิริ วิหารการ” ดังจะให้เข้าใจว่า พระครูชื่อ “สิริ” นามสกุล “วิหารการ”
(2) “พระโสภณคณาภรณ์”
คำว่า “พระโสภณคณาภรณ์” เป็นกลุ่มคำ คือเป็นศัพท์เดียวกัน ไม่ใช่ไปแยกเป็น “พระโสภณ คณาภรณ์” ดังจะให้เข้าใจว่า พระชื่อ “โสภณ” นามสกุล “คณาภรณ์”
(3) “พระราชวิสุทธิโสภณ”
คำว่า “พระราชวิสุทธิโสภณ” เป็นกลุ่มคำ คือเป็นศัพท์เดียวกัน ไม่ใช่ไปแยกเป็น “พระราช วิสุทธิโสภณ” ดังจะให้เข้าใจว่า พระชื่อ “ราช” นามสกุล “วิสุทธิโสภณ”
(4) “พระเทพเวที”
“พระเทพเวที” เป็นกลุ่มคำ คือเป็นศัพท์เดียวกัน ไม่ใช่ไปแยกเป็น “พระเทพ เวที” ดังจะให้เข้าใจว่า พระชื่อ “เทพ” นามสกุล “เวที”
(5) “พระธรรมโกศาจารย์”
“พระธรรมโกศาจารย์” เป็นกลุ่มคำ คือเป็นศัพท์เดียวกัน ไม่ใช่ไปแยกเป็น “พระธรรม โกศาจารย์” ดังจะให้เข้าใจว่า พระชื่อ “ธรรม” นามสกุล “โกศาจารย์”
………..
เรื่องนี้มีผู้พยายามช่วยกันเขียนชี้แจ้งมาแล้วหลายครั้งหลายครา แต่สิ่งที่น่ามหัศจรรย์อย่างยิ่งก็คือ สื่อประเภทสิ่งพิมพ์ในบ้านเราก็ยังคงนิยมเขียนแยกเป็นชื่อคำหนึ่ง นามสกุลคำหนึ่ง เช่น “พระครูสิริวิหารการ” ก็เขียนแยกเป็น “พระครูสิริ วิหารการ” – ยังคงแยกคำอยู่อย่างนี้ และใครจะเขียนชี้แจงอย่างไร ก็ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น
เคยมีผู้พูดใส่หน้าผู้เขียนบาลีวันละคำว่า –
…. คุณรู้คุณก็บอกเขาสิ สื่อเขาไม่ได้จบประโยคเก้าอย่างคุณนี่ จะให้เขารู้เหมือนคุณได้ยังไง ไปโทษสื่อไม่ได้หรอก ต้องโทษคุณนั่นแหละ เป็นความผิดของคุณเอง ….
การทำความดีกับคนเขลา ย่อมเจ็บปวดอย่างนี้แหละ
………..
ขอเรียนว่า ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เคยชี้แจงทักท้วงมาแล้วบ่อยๆ บ่อยจนอยากจะกล่าวว่า-สำหรับผู้ใฝ่รู้แล้ว ครั้งเดียวก็มากเกินพอ
เรื่องนี้จึงไม่ได้มีสาเหตุมาจากความไม่รู้
แต่มีสาเหตุมาจากความไม่ใฝ่รู้และความดื้อด้าน
สื่อรู้ทุกอย่างว่าที่เขียนมานั้นผิดอย่างไร ที่ถูกต้องเขียนอย่างไร
แต่เพราะทิฐิมานะว่า “ข้าต้องไม่ผิด” จึงไม่ยอมแก้ไข เพราะรู้สึกว่าการยอมรับผิดและยอมแก้ไขเป็นความเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี
ดูเหมือนสื่อจะตั้งเกณฑ์ไว้ว่า ต้องให้คนที่ทักท้วงเอาธูปเทียนแพเข้าไปกราบขอขมาสื่อเสียก่อน หรือคนทักท้วงจะต้องเข้าไปขอโทษที่บังอาจทักท้วง – ต้องทำอย่างนี้สื่อจึงจะยอมแก้ไขผิดให้เป็นถูก
การมาเที่ยวตีโวหารตำหนิกันต่อหน้าสาธารณชนอย่างที่ผู้เขียนบาลีวันละคำประพฤติอยู่นี้-เมินเสียเถอะ
ถ้าจะให้ทำแบบนั้น ผู้เขียนบาลีวันละคำก็ขอยืนยันว่า-เมินเสียเถอะ
ผู้เขียนบาลีวันละคำถือคติว่า
บางกรณี บางสถานการณ์ และบางสังคม
เราอาจต้องยอมอ่อนข้อให้คนทำผิด
แต่เราจะไม่ยอมอ่อนข้อให้การทำผิด-เป็นอันขาด
…………..
ขออนุญาตเรียนว่า ความท่อนท้ายนี้ผู้เขียนบาลีวันละคำจงใจเขียนเพื่อให้กระทบใจสื่อ ด้วยความหวังว่า-ทุกวงการย่อมมี “บัณฑิต” รวมอยู่ด้วยเสมอ
ผู้เขียนบาลีวันละคำหวังจะได้เห็นความเป็นบัณฑิต-แม้จะเป็นความเป็นบัณฑิตเพียงชั่วครู่เดียว-ก็ยังดี
สำหรับสื่อที่ตั้งใจปรับปรุงแก้ไข
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอน้อมคารวะมา ณ ที่นี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าสื่อยังหน้าด้านที่จะเขียนผิดๆ อยู่ได้
: ผู้เขียนบาลีวันละคำก็หน้าด้านพอที่จะอธิบายชี้แจงแก้ไขผิดให้เป็นถูกอยู่ได้เช่นกัน
#บาลีวันละคำ (2,621)
16-8-62