บาลีวันละคำ

สาธารณ์ (บาลีวันละคำ 3,221)

สาธารณ์

ทำไมจึงหมายถึงชั่วช้าเลวทราม

อ่านว่า สา-ทาน

สาธารณ์” บาลีเป็น “สาธารณ” อ่านว่า สา-ทา-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สห (คำบุรพบทและอุปสรรค = พร้อม, กับ, พร้อมด้วย) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง สห เป็น , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ธรฺ > ธาร), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น (ยุ > อน > อณ)

: สห + อา + ธรฺ = สหาธรฺ + ยุ > อน = สหาธรน > สาธรน > สาธารน > สาธารณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปพร้อมกับการรองรับทั่วไป

(2) สม (เสมอกัน) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง สม เป็น , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ธรฺ > ธาร), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น (ยุ > อน > อณ)

: สม + อา + ธรฺ = สมาธรฺ + ยุ > อน = สมาธรน > สาธรน > สาธารน > สาธารณ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่อันบุคคลรับรองสิ่งทั้งหลายเสมอภาคกัน

สาธารณ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ทั่วไป, ธรรมดา, ร่วมกัน (general, common, joint)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สาธารณ-, สาธารณะ : (คำวิเศษณ์) เพื่อประชาชนทั่วไป เช่น สวนสาธารณะ โทรศัพท์สาธารณะ บ่อน้ำสาธารณะ, ทั่วไป เช่น ถนนนี้ไม่ใช่ถนนสาธารณะ อย่าแต่งตัวประเจิดประเจ้อในที่สาธารณะ. (ป., ส.).”

บาลี “สาธารณ” ไทยเราใช้เป็น “สาธารณ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “สาธารณะ” (ใช้เดี่ยวหรืออยู่ท้ายคำ มีประวิสรรชนีย์) ใช้ในความหมายเหมือนบาลี

แต่เมื่อเขียนเป็น “สาธารณ์” (การันต์ที่ ) อ่านว่า สา-ทาน ในภาษาไทยใช้ในความหมายที่ต่างไปจากบาลี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สาธารณ์ : (คำวิเศษณ์) ตํ่า, เลว; ชั่วช้า, เช่น ดังกากาจชาติช้าสาธารณ์ จะประมาณหมายหงส์พงศ์พระยา. (อิเหนา), บางทีใช้เข้าคู่กับคำ ชั่วช้า เป็น ชั่วช้าสาธารณ์; ทั่ว ๆ ไป เช่น ของสาธารณ์. (ป., ส. ว่า ทั่วไป, สามัญ).”

ขยายความ :

ในภาษาไทย เมื่อใช้ว่า “สาธารณ์” เราเน้นความหมายว่า เลวทรามต่ำช้า ดังคำว่า “ชั่วช้าสาธารณ์” และ “สาธารณ์” คำนี้ พจนานุกรมฯ ก็บอกว่ามาจากบาลีสันสกฤต

สันสกฤตก็มีคำว่า “สาธารณ” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “สาธารณ” ไว้ 2 คำ เป็นคำคุณศัพท์หรือคำวิเศษณ์คำหนึ่ง เป็นคำนามคำหนึ่ง บอกไว้ดังนี้

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) สาธารณ : (คำวิเศษณ์) เหมือน, แม้น; สามานยะ, อันเปนสัมพันธินแก่คนทั่วไป; ชาติคตหรือสามานยะ (ดุจ – ชาติธรรม); like, similar; common, belonging to all; generic or common (as – generic property).

(2) สาธารณ : (คำนาม) สามานยกฤติกา; วิเศษหรือสามานยลักษณะ; a common rule; a specific or generic character.

สาธารณ” ในสันสกฤตก็ไม่มีความหมายในทางเลวทรามต่ำช้า

การที่ภาษาไทยใช้ว่า “สาธารณ์” แล้วให้ความหมายว่าเลวทรามต่ำช้า น่าจะเกิดจาก “จินตนาการ” กล่าวคือ เราเห็นว่าอะไรที่เป็นของหาได้ทั่วไป มีทั่วไป หรือใช้กันทั่วไป ย่อมเป็นของสามัญ ดังที่เราเรียกว่าของพื้นๆ หรือของดาดๆ คือไม่ดีวิเศษ

และเมื่อเทียบกับของที่ดีกว่า ของพื้นๆ หรือของดาดๆ ก็กลายเป็นของเลวของต่ำไปทันที “สาธารณ” หรือ “สาธารณ์” ที่หมายถึงเลวทรามต่ำช้าจึงเกิดขึ้นจากความคิดหรือจินตนาการดังว่านี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าห่วงเลยว่าเราจะดีไม่เท่าเขา

: จงห่วงแต่ว่าเราจะเลวเหมือนเขานั่นเถิด

#บาลีวันละคำ (3,221)

7-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *