บาลีวันละคำ

มุทิตาจิต (บาลีวันละคำ 3,220)

มุทิตาจิต

มีแรงเขียนผิด ก็มีแรงเขียนแก้

อ่านว่า มุ-ทิ-ตา-จิด

ประกอบด้วยคำว่า มุทิตา + จิต

(๑) “มุทิตา

เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า มุ-ทิ-ตา มีรากศัพท์มา 2 นัย คือ –

(1) มุทฺ (มุ-ทะ, ธาตุ = ยินดี, เบิกบาน) + อิ อาคม + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มุทฺ + อิ + = มุทิต + อา = มุทิตา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยินดี” หมายถึง ชื่นชม, ยินดี, พอใจ (pleased, glad, satisfied)

ความหมายตามนัยนี้ ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า มีใจชื่นชม, มีใจปราโมทย์, ดีใจ (with gladdened heart, pleased in mind)

(2) มุทุ (อ่อนโยน) + ตา ปัจจัย, แปลง อุ ที่ (มุ)-ทุ เป็น อิ (มุทุ > มุทิ)

: มุทุ + ตา = มุทุตา > มุทิตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้อ่อนโยน” หมายถึง ความมีใจอ่อน, ความกรุณา, ความเห็นอกเห็นใจ (soft-heartedness, kindliness, sympathy)

ความหมายตามนัยนี้ ในทางปฏิบัติก็คือ ใครจะสุขหรือจะทุกข์ ก็รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ถ้าสุขก็พลอยยินดี ถ้าทุกข์ก็พลอยเดือดร้อนใจไปด้วย

คำว่า “มุทิตา” ในทางธรรม มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “อนุโมทนา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มุทิตา : (คำนาม) ความมีจิตพลอยยินดีในลาภยศสรรเสริญสุขของผู้อื่น เป็น ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา. (ป.).”

มุทิตา” เป็นธรรมข้อที่ 3 ในพรหมวิหาร 4

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

มุทิตา : ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี, เห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข ก็แช่มชื่นเบิกบานใจด้วย เห็นเขาประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจ พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน ไม่กีดกันริษยา; ธรรมตรงข้ามคือ อิสสา (ข้อ ๓ ในพรหมวิหาร ๔).”

(๒) “จิต

บาลีเป็น “จิตฺต” (จิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต)

: จินฺต + = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –

The heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought. (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)

จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”

มุทิตา + จิตฺต = มุทิตาจิตฺต (มุ-ทิ-ตา-จิด-ตะ) แปลว่า “จิตอันประกอบด้วยความยินดี” “จิตอันประกอบด้วยมุทิตา” ในภาษาไทยเขียนเป็น “มุทิตาจิต” (มุ-ทิ-ตา-จิด)

คำว่า “มุทิตาจิต” ใช้พูดหรือเขียนแสดงความยินดีเมื่อผู้อื่นประสบความสำเร็จหรือได้ดีมีสุข เช่นพูดว่า เขาสอบได้ เดี๋ยวต้องไปมุทิตาจิตกับเขาหน่อย เป็นต้น

คำว่า “มุทิตาจิต” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปราย :

คำว่า “มุทิตา” (-ทิ– ท ทหาร) นี้ ยังมีคนชอบเขียนผิดเป็น “มุฑิตา” (-ฑิ– ฑ มณโฑ) กันอยู่ทั่วไป แบบ-ไม่ยอมรับรู้อะไร ไม่อ่าน ไม่ฟังคำอธิบายชี้แจงใดๆ ยึดความเข้าใจของตัวเองเป็นเกณฑ์

ไม่ทราบว่าไปเอาความเข้าใจผิดๆ มาจากไหน

อาจจะอ้างว่า ก็-เห็นใครๆ เขาเขียนกันอย่างนี้ คือเห็นใครๆ เขาสะกดเป็น “มุฑิตา” (-ฑิ– ฑ มณโฑ)

ส่วนที่ใครๆ เขาเขียนถูก สะกดถูกเป็น “มุทิตา” (-ทิ– ท ทหาร) มีอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง กลับมองไม่เห็น ไม่เอาไปเป็นตัวอย่าง ชอบกลมาก

ความในใจ :

วันสองวันมานี้มีผู้แสดงความยินดีกับพระภิกษุสามเณรที่สอบผ่านบาลีชั้นประโยคต่างๆ (สนามหลวงแผนกบาลีประกาศผลสอบเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564) มีพระคุณท่านรูปหนึ่งสอบผ่านระดับเปรียญเอก เขียนคำขอบคุณผู้ที่แสดงความยินดีกับท่าน ท่านเขียนว่า “ขอบคุณท่านที่แสดงมุฑิตาจิต” (-ฑิ– ใช้ ฑ มณโฑ)

มุทิตาจิต” เป็นคำบาลี พระคุณท่านสอบบาลีผ่านถึงเปรียญเอก แต่ยังสะกดคำนี้ดั่งผู้ที่ไม่รู้บาลี ก็คงจะเป็นเหตุผลตามมาตรฐานที่อ้างกันทั่วไป คือ-เคยมือ

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่ได้ทักท้วงไปที่หน้าเฟซบุ๊กของพระคุณท่านตรงๆ ด้วยเหตุผลตามมาตรฐานที่อ้างกันทั่วไปเช่นกัน คือ-การทักท้วงเป็นการเสียมารยาท

จึงขออนุญาตนำมาเขียนเป็นบาลีวันละคำ เป็นการเสนอความรู้ทางภาษา

และขออนุญาตที่จะขอร้องวิงวอนมา ณ ที่นี้ว่า ภาษาเป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติที่เจริญแล้ว การใช้ภาษาให้ถูกต้องไม่ใช่ความยึดติดงมงายโง่เง่างุ่มง่ามเร่อร่ารุ่มร่ามล้าหลัง แต่เป็นความงดงามทางวัฒนธรรม และเราทุกคนสามารถร่วมกันสร้างความงดงามเช่นนี้ได้ เพียงแค่มีสติ ประกอบด้วยอุตสาหะใฝ่เรียนใฝ่รู้ในระดับธรรมดาๆ เท่านั้น ไม่ต้องเลิศล้ำสูงลิบลิ่วแต่ประการใดเลย ขอได้โปรดช่วยกันจรรโลงภาษาของชาติด้วยวิธีง่ายๆ คือ-อย่าสะกดผิด และอย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย

วิธีง่ายๆ ที่จะไม่สะกดผิดก็คือ-อย่าแน่ใจว่าสะกดถูกจนกว่าจะได้เปิดพจนานุกรมฉบับมาตรฐานของทางราชการ ยอมเสียเวลาดีกว่าเผยแพร่คำที่สะกดผิด

จนถึง ณ วันนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สามารถลงโปรแกรมข้อมูลในโทรศัพท์ได้แล้วโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ จึงสะดวกสบายด้วยประการทั้งปวง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ที่สอบได้ ขอให้ร่วมใจกันแสดงมุทิตาจิต

: แต่ที่สะกดผิด ขอให้ร่วมใจกันสังวะริสสามิ

#บาลีวันละคำ (3,220)

6-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *