นพรัตน์ (บาลีวันละคำ 655)
นพรัตน์
อ่านว่า นบ-พะ-รัด
บาลีเป็น “นวรตน” อ่านว่า นะ-วะ-ระ-ตะ-นะ
ประกอบด้วย นว + รตน
“นว” มีความหมาย 2 อย่าง คือ ใหม่ (new) และ 9,จำนวนเก้า (nine)
ในที่นี้ นว หมายถึง จำนวนเก้า
“รตน” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายความยินดี”( คือเพิ่มความยินดีให้) “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน” “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี” “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น” ความหมายที่เข้าใจกันคือ แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง
นว + รตน แปลง ว เป็น พ เขียนแบบไทยเป็น “นพรัตน์”
พจน.42 บอกไว้ว่า –
“นพรัตน์ : แก้ว 9 อย่าง คือ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย ไพฑูรย์, นวรัตน์ หรือ เนาวรัตน์ ก็ว่า
แก้ว 9 อย่าง มีรายละเอียดทางภาษาที่ควรทราบดังนี้ –
(1) เพชร : ชื่อแก้วที่แข็งที่สุดและมีนํ้าแวววาวมากกว่าพลอยอื่น ๆ ใช้ทําเครื่องประดับหรือใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม; โดยปริยายหมายความว่า แข็งที่สุด เช่น เหล็กเพชร ใจเพชร (diamond)
“เพชร” บาลีเป็น “วชิร” (วะ-ชิ-ระ) ในภาษาไทยใช้เป็น วชิร เหมือนบาลีก็มี และแปลงรูปเป็นอีกหลายอย่าง คือ วัชร (ตามสันสกฤต), พชร, พัชร, เพชร, วิเชียร, พิเชียร
คำเหล่านี้เราแปลกันว่า “เพชร” อันที่จริงไม่ใช่แปล แต่ควรเรียกว่า “ทับศัพท์” เพราะต้องถามต่อไปอีกว่า แล้ว “เพชร” แปลว่าอะไร ?
“วชิร” (เพชร) ตามรากศัพท์แปลว่า “สิ่งที่ไปได้เรื่อย” (คือไม่มีอะไรขัดขวางการไปได้) หรือ “สิ่งที่ไปอย่างไม่มีอะไรขัดขวาง” โดยความมุ่งหมายแล้ว “วชิร” หมายถึงอสนีบาต หรือสายฟ้า ซึ่งถือว่าเป็น “อาวุธพระอินทร์”
(2) ทับทิม : พลอยสีแดงชนิดหนึ่ง (a ruby)
“ทับทิม” บาลีเป็น “ปทุมราค” (ปะ-ทุ-มะ-รา-คะ) แปลตามศัพท์ว่า “มีสีดอกบัว”
ภาษาไทยเอามาใช้เป็น ปัทมราค และเพียนเป็น ปัทมราช อีกคำหนึ่ง หมายถึง พลอยสีแดง, ทับทิม
พจน.42 บอกไว้ว่า – ไทยเดิม ทับทิม ว่า แสงแดง สันสกฤตเป็น “ทาฑิม”
(3) มรกต (มอ-ระ-กด) : ชื่อรัตนะอย่างหนึ่งในจำพวกนพรัตน์ มีสีเขียว (an emerald)
“มรกต” บาลีเป็น “มรกต” (มะ-ระ-กะ-ตะ) ถ้าจะแปลตามศัพท์ก็ต้องแปลว่า “สิ่งที่ความตายทำไว้” แต่ถ้าจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นก็อธิบายใหม่โดยอัตโนมัติว่า “มร” มาจาก “มรุ” ที่แปลว่า “เทวดา” มรุ ลบ อุ ที่ รุ > มร + กต = มรกต แปลว่า “สิ่งที่เทวดาทำไว้”
(4) บุษราคัม (บุด-สะ-รา-คํา) : พลอยสีเหลือง (topaz)
“บุษราคัม” บาลีเป็น “ผุสฺสราค” (ผุด-สะ-รา-คะ) แปลตามศัพท์ว่า “มีสีดอกไม้” สันสกฤตเป็น “ปุษฺปราค” เราเอามาเขียนแบบไทยเป็น “บุษราคัม” (โปรดสังเกต –คัม ไม่ใช่ –คำ)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า “บุษราคัม” มาจากการเขียนรูปสันสกฤตเป็น “ปุษฺปราคํ” หรือ “ปุษฺปราคมฺ” สันสกฤตออกเสียงเป็น ปุด-ษฺปะ-รา-คำ
พจน.42 มีคำว่า “บุษย์น้ำทอง” หมายถึง บุษราคัม, พลอยสีเหลือง
ในสมัยที่การสะกดการันต์ยังไม่ลงตัว เคยมีคำว่า “บุศย์” ซึ่งน่าจะหมายถึง “บุษราคัม” หรือ “บุษย์น้ำทอง” นี่เอง
(5) โกเมน : พลอยสีแดงเข้ม (garnet)
พจน.42 บอกไว้ว่า – สันสกฤต “โกเมท” ว่า พลอยซึ่งได้มาจากเทือกเขาหิมาลัยและแม่นํ้าสินธุ มีลักษณะ 4 ประเภท คือ สีขาว สีเหลืองซีด สีแดง สีนํ้าเงิน
เป็นนัยว่า “โกเมน” มาจาก “โกเมท”
ขณะนี้ยังไม่พบคำว่า “โกเมน” ในบาลี
(6) นิล (นิน) : พลอยชนิดหนึ่ง มีสีดํา ถ้าสีนํ้าเงินแก่ เรียก นิลสีดอกผักตบ (a sapphire, blue-stone)
“นิล” บาลีเป็น “นีลมณิ” (นี-ละ-มะนิ) แปลตามศัพท์ว่า “หินสีน้ำเงิน”
(7) มุกดา, มุกดาหาร : ไข่มุก; ชื่อรัตนะอย่างหนึ่งในพวกนพรัตน์ สีหมอกอ่อน ๆ (a pearl, a string or necklace of pearls)
“มุกดา” และ “มุกดาหาร” บาลีเป็น “มุตฺตา” (มุด-ตา) แปลว่า “แก้วที่พ้น” (คือพ้นจากความเป็นแก้วอย่างอื่น) และ “มุตฺตาหาร” (มุด-ตา-หา-ระ) หมายถึง สร้อยไข่มุก หรือสร้อยคอที่ทำด้วยมุก
(8) เพทาย : พลอยชนิดหนึ่ง สีแดงสลัว ๆ (zircon)
ยังไม่พบคำว่า “เพทาย” ในบาลี
(9) ไพฑูรย์ : ชื่อรัตนะอย่างหนึ่ง ในจําพวกนพรัตน์ มีสีเหลืองแกมเขียวหรือนํ้าตาลเทา มีนํ้าเป็นสายรุ้งกลอกไปมา, เพชรตาแมว หรือ แก้วสีไม้ไผ่ ก็ว่า (a cat’s-eye, lapis lazuli)
“ไพฑูรย์” บาลีเป็น “เวฬุริย” (เว-ลุ-ริ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “รัตนชาติที่มองดูเหมือนไม้ไผ่” สันสกฤตเป็น “ไวฑูรฺย” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ไพฑูรย์”
นอกจากนี้ยังมีคำว่า “มสารคลฺล” (มะ-สา-ระ-คัน-ละ) แปลตามศัพท์ว่า “แก้วที่เกิดที่ภูเขามสารคีรี” ชื่อที่เข้าใจกันคือ “เพชรตาแมว”
นพรัตน์ : แต่งให้งามได้เฉพาะบางคนและบางวัย
ธรรมรัตน์ : แต่งให้งามได้ทุกคนและทุกวัย
—————–
(ตามข้อข้องใจเรื่องคำว่า “บุศย์” ของพระคุณท่าน Burapa Anan)
3-3-57