บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง กลองอานกะ

กลองอานกะ (๒)

————-

เรื่องกลองอานกะที่เล่าไว้ในตอนที่ ๑ นั้นเป็นพระพุทธดำรัสตรัสเล่า ไม่ใช่นิทานธรรมดา

ต้นเรื่องเป็นพระสูตรหนึ่งในคัมภีร์สังยุตนิกาย นิทานวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ข้อ ๖๗๒-๖๗๓

แต่พึงแยกประเด็นให้ถูกด้วยนะครับ ชื่อกลองและการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำตัวกลองจนไม่เหลือเนื้อเดิมนั้นเป็นพระพุทธดำรัส

แต่นิทานเรื่องปูยักษ์กับช้างอันเป็นต้นกำเนิดกลองนั้นเป็นเรื่องที่คัมภีร์อรรถกถาท่านเล่าไว้ ไม่ใช่พระพุทธดำรัสตรัสเล่า

เวลาเอาไปถ่ายทอดต่อ กรุณาแยกกันให้ชัดๆ

พระพุทธองค์ตรัสเรื่องกลองอานกะก็เพื่อเปรียบเทียบกับพระพุทธดำรัสตรัสสอนของพระองค์-ว่านานไปก็จะเหมือนกลองอานกะ

เหมือนอย่างไร?

ลองศึกษาดูจากสำนวนในตัวพระสูตรโดยตรง

……………….

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว กลองชื่ออานกะของพวกกษัตริย์ทสารหะได้มีแล้ว

เมื่อกลองชำรุด พวกทสารหะได้ตอกลิ่มอื่นลงไป สมัยต่อมาโครงเก่าของกลองอานกะก็หายไป ยังเหลือแต่โครงลิ่ม แม้ฉันใด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุในอนาคต เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญตธรรม จักไม่ปรารถนาฟัง จักไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้ และจักไม่สำคัญธรรมเหล่านั้นว่าควรเรียนควรศึกษา

แต่ว่าเมื่อเขากล่าวพระสูตรอันกวีรจนาไว้ อันกวีร้อยกรองไว้ มีอักษรอันวิจิตร มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นของภายนอก เป็นสาวกภาษิต จักปรารถนาฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้นว่าควรเรียนควรศึกษา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสูตรเหล่านั้นที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญตธรรม จักอันตรธานฉันนั้นเหมือนกัน

เพราะเหตุดังนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญตธรรม พวกเราจักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้นว่าควรเรียนควรศึกษา ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

……………….

โปรดสังเกตว่า ในตัวพระสูตรมีข้อความที่กล่าวซ้ำๆ กันอยู่ชุดหนึ่ง นั่นคือ –

“พระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญตธรรม”

ตัวบทที่เป็นคำบาลีว่า “สุตฺตนฺตา  ตถาคตภาสิตา  คมฺภีรา  คมฺภีรตฺถา  โลกุตฺตรา  สุญฺญตปฏิสญฺญุตฺตา”

การพูดซ้ำๆ เช่นนี้ท่านว่าเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการช่วยจำ

โปรดอย่าลืมว่า พระไตรปิฎกทั้งสิ้นที่ตกมาถึงมือเราในปัจจุบันนำสืบๆ กันมาด้วยการทรงจำ คือท่องไว้ จำได้ และทบทวน

ไม่มี text หรือ copy เก็บเป็นต้นฉบับไว้ที่ไหนทั้งสิ้น

ทุกอย่างเก็บไว้ที่ความจำ

ระบบ text หรือ copy มามีขึ้นในภายหลังเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงแล้วประมาณ ๔๐๐ ปีกว่าๆ

การพูดซ้ำๆ จึงเป็นวิธีที่ช่วยให้จำได้ง่ายและจำได้แม่นยำ

………………

กลองอานกะ ตัวกลองเดิมเป็นก้ามปู แต่ซ่อมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก้ามปูที่เป็นตัวกลองไม่เหลือ โครงรูปตัวกลองยังเหมือนเดิม แต่วัสดุที่เป็นตัวกลองกลายเป็นอย่างอื่น

พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ที่ประกอบกันขึ้นเป็น “พระพุทธศาสนา” เหมือนตัวกลองอานกะ

ในชั้นต้นก็มีแต่พระพุทธพจน์และภาษิตอื่นๆ ที่พระพุทธองค์ทรงรับรองว่าเป็นหลักคำสอนที่ถูกต้อง-ที่พระอรหันต์ ๕๐๐ ท่านรวบรวมไว้เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงแล้ว ๓ เดือน

ครั้นนานไป คนที่จะมีอุตสาหะศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์มีน้อยลง อ้างว่า อ่านยาก เข้าใจยาก และสารพัดที่จะอ้าง แล้วก็ไม่สนใจ ไม่ศึกษา

เป็นโอกาสที่นักคิดนักเผยแผ่รุ่นใหม่จะแสดงความคิดความเห็นของตัวเอง ด้วยสำนวนโวหารของตัวเองออกสู่สังคม แน่นอน ในนาม “ธรรมะในพระพุทธศาสนา” คือบอกว่า-ที่ข้าพเจ้าพูดนี้ก็เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้านะ แต่สำนวนของข้าพเจ้าทันสมัยกว่า น่าฟังกว่า ฟังง่ายกว่า

………………

ลักษณะของพระพุทธพจน์ที่เป็น “ตถาคตภาสิตา” = พระตถาคตตรัสไว้ ตามคำบรรยายในพระสูตรนี้ก็คือ –

๑ “คมฺภีรา” = ล้ำลึก

๒ “คมฺภีรตฺถา” = มีความหมายที่ล้ำลึก

๓ “โลกุตฺตรา” = เป็นโลกุตระ คืออยู่เหนือกระแสโลกหรืออิทธิพลของโลก

๔ “สุญฺญตปฏิสญฺญุตฺตา” = ประกอบด้วยสุญตธรรม คือมีเนื้อหาอันแสดงถึงความว่างเปล่าจากตัวตนที่จะพึงยึดถือครอบครอง

นี่คือตัวกลองอานกะของเดิมของแท้

ส่วนวัสดุที่เข้ามาแทนที่เนื้อเดิมของตัวกลองตามคำบรรยายในพระสูตรนี้ก็คือ

๑ “กวิกตา กาเวยฺยา” = กวีรจนาไว้เป็นคำกวี

๒ “จิตฺตกฺขรา จิตฺตพฺยญฺชนา” = มีอักษรอันวิจิตร มีพยัญชนะอันวิจิตร คือเป็นคำที่สละสลวยไพเราะเพราะพริ้ง อย่างที่เราพูดกันว่า แต่งดี เขียนดี พูดดี น่าฟัง ฟังเพลิน อ่านเพลิน

๓ “พาหิรกา” = เป็นของภายนอก ท่านไขความว่า “สาสนโต  พหิภูตา” แปลว่า “นอกศาสนา” คือถ้าพระพุทธศาสนาสอนมุ่งไปที่โลกุตระ คำสอนของนักคิดนักเขียนรุ่นใหม่ก็สอนนอกจากโลกุตระ

คงเป็นประเภทเดียวกับแนวคิดที่ว่า-อย่าให้พระท่านไปนิพพานกันหมดเลย อยู่ช่วยสังคมกันบ้างเถิด

๔ “สาวกภาสิตา” = เป็นสาวกภาษิต “สาวก” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพระอรหันตสาวก เช่นพระสารีบุตรหรือพระอานนท์เป็นต้น เพราะกำลังกล่าวถึงคำที่เกิดใหม่แทรกเสริมขึ้นในภายหลัง จะเป็นคำของพระอรหันตสาวกไม่ได้อยู่เอง

ท่านไขความว่า “เตสํ  เตสํ  สาวเกหิ  ภาสิตา” แปลความว่า สาวกของเจ้าลัทธิใหม่ๆ หรือสานุศิษย์ของนักคิดนักเขียนเหล่านั้นนำมาประกาศเผยแพร่ไว้ ก็คืออย่างที่ว่า-ใครชอบใจเลื่อมใสแนวคิดของใคร ก็เอาแนวคิดนั้นๆ มาเชิดชูชื่นชมยกย่องขยายผล

แบบเดียวกับที่-นักการศึกษาของไทยในสมัยหนึ่งไปเรียนเมืองนอก เลื่อมใสแนวคิดของฝรั่ง ก็เอาแนวคิดนั้นมาจัดการศึกษาให้คนไทย

สมัยนั้นชื่อโรงเรียนที่มีชื่อวัดติดอยู่ด้วย ถูกตัดคำว่า “วัด” ออกไปเพราะเกิดรังเกียจวัด ก็สืบเนื่องมาจากอิทธิพลของแนวคิดที่ไปรับไปเลื่อมใสมานี่แหละ

เป็นอันว่าแนวคิดใหม่ก็เกิดขึ้น แทรกเสริมเข้าไปแทนที่พระพุทธดำรัสตรัสสอนที่นับวันก็ไม่มีใครสนใจจะสดับรับฟังศึกษาสืบค้น อ้างว่าอ่านยาก ฟังยาก เข้าใจยาก

เวลานี้เริ่มจะมีจุดพลุขึ้นมาบ้างแล้วว่า-พระไตรปิฎกเป็นของโบราณล้าสมัย

เสียงขานรับกำลังจะดังขึ้นเรื่อยๆ

………………

ใครพอมีเวลาว่าง ช่วยกันสำรวจกลองอานกะดูบ้างนะครับว่าเนื้อเดิมของตัวกลองยังพอมีเหลืออยู่บ้างไหม เนื้อใหม่ที่แทรกเสริมเข้ามามีมากแค่ไหน

และเราท่านทั้งหลาย-ในฐานะที่เคยได้ยินเสียงกลอง หรือเคยเป็นผู้ตีกลอง หรือเคยได้-หรือกำลัง-อาศัยใบบุญของกลองใบนี้ —

บัดนี้กำลังพยายามรักษาเนื้อเดิมของตัวกลองไว้

หรือว่ากำลังพยายามเอาวัสดุแปลกปลอมเข้าไปแทรกเสริมเป็นเนื้อใหม่ของตัวกลองอยู่อย่างขะมักเขม้น-ด้วยเหตุผล “เพื่อความอยู่รอด”

หรือว่ากำลังท่องคาถามหาศักดิ์สิทธิ์ – “อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด” แถมด้วยคำถามอมตะ-จะวิตกวิจารณ์ให้มันได้อะไรขึ้นมา?

หรือว่ากำลังนั่งมองกลองใบนี้แบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไรทั้งนั้น

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ เมษายน ๒๕๖๓

๑๕:๓๗

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

———-

ภูตปุพฺพํ  ภิกฺขเว  ทสารหานํ  อานโก  นาม  มุทิงฺโค  อโหสิ  ฯ  ตสฺส  ทสารหา  อานเก  ผฬิเต  อญฺญํ  อาณึ  โอทหึสุ  ฯ  อหุ  โข  โส  ภิกฺขเว  สมโย  ยํ  อานกสฺส  มุทิงฺคสฺส  โปราณํ  โปกฺขรํ  ผลกํ  อนฺตรธายิ  อาณิสงฺฆาโต  จ๑  อวสิสยิ  ฯ  เอวเมว  โข  ภิกฺขเว  ภวิสฺสนฺติ  ภิกฺขู  อนาคตมทฺธานํ  เย  เต  สุตฺตนฺตา  ตถาคตภาสิตา  คมฺภีรา  คมฺภีรตฺถา  โลกุตฺตรา  สุญฺญตปฏิสญฺญุตฺตา  เตสุ  ภญฺญมาเนสุ  น  สุสฺสุสิสฺสนฺติ๒  น  อญฺญาจิตฺตํ  อุปฏฺฐาเปสฺสนฺติ  น  จ  เต  ธมฺเม  อุคฺคเหตพฺพํ  ปริยาปุณิตพฺพํ  มญฺญิสฺสนฺติ  ฯ  เย  ปน  เต  สุตฺตนฺตา  กวิกตา  กาเวยฺยา  จิตฺตกฺขรา  จิตฺตพฺยญฺชนา  พาหิรกา  สาวกภาสิตา  เตสุ  ภญฺญมาเนสุ  สุสฺสุสิสฺสนฺติ  โสตํ  โอทหิสฺสนฺติ  อญฺญาจิตฺตํ  อุปฏฺฐาเปสฺสนฺติ  เต  จ  ธมฺเม  อุคฺคเหตพฺพํ  ปริยาปุณิตพฺพํ  มญฺญิสฺสนฺติ  ฯ 

     [๖๗๓]  เอวเมว  เตสํ  ภิกฺขเว  สุตฺตนฺตานํ  ตถาคตภาสิตานํ 

คมฺภีรานํ  คมฺภีรตฺถานํ  โลกุตฺตรานํ  สุญฺญตปฏิสญฺญุตฺตานํ 

อนฺตรธานํ  ภวิสฺสติ  ฯ  ตสฺมาติห  ภิกฺขเว  เอวํ  สิกฺขิตพฺพํ  เย 

เต  สุตฺตนฺตา  ตถาคตภาสิตา  คมฺภีรา  คมฺภีรตฺถา  โลกุตฺตรา 

สุญฺญตปฏิสญฺญุตฺตา  เตสุ  ภญฺญมาเนสุ  สุสฺสุสิสฺสาม  โสตํ 

#๑ ม. ยุ. ว ฯ  ๒ ม. สุสฺสูสิสฺสนฺติ ฯ เอวมุปริปิ ฯ 

สุตฺต สํ. นิทานวคฺโค – หน้าที่ 312

โอทหิสฺสาม  อญฺญาจิตฺตํ  อุปฏฺฐาเปสฺสาม  เต  จ  ธมฺเม 

อุคฺคเหตพฺพํ  ปริยาปุณิตพฺพํ  มญฺญิสฺสามาติ  เอวญฺหิ  โว  ภิกฺขเว 

สิกฺขิตพฺพนฺติ  ฯ  สตฺตมํ  ฯ 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *