กลยุทธ์ (บาลีวันละคำ 3,979)
กลยุทธ์
สำคัญที่สุดคือจะรบกับใคร
อ่านว่า กน-ละ-ยุด
ประกอบด้วยคำว่า กล + ยุทธ์
(๑) “กล”
คำนี้ตรงกับบาลีว่า “กลา” (กะ-ลา) รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กลฺ + อ = กล + อา = กลา แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันเขานับด้วย ๑ เป็นต้น”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กลา” ดังนี้ –
(1) a small fraction of a whole, one infinitesimal part (เสี้ยวเล็กๆ ของส่วนที่เต็ม, ส่วนที่เล็กน้อยเหลือประมาณ)
(2) an art, a trick (อุบาย, การหลอกลวง)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กล, กล– : (คำนาม) การลวงหรือล่อลวงให้หลงหรือให้เข้าใจผิดเพื่อให้ฉงนหรือเสียเปรียบ เช่น เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม เช่น กลโกง; เรียกการเล่นที่ลวงตาให้เห็นเป็นจริงว่า เล่นกล; เครื่องกลไก, เครื่องจักร, เครื่องยนต์, เช่น ช่างกล. (คำวิเศษณ์) เช่น, อย่าง, เหมือน, เช่น เหตุผลกลใด; เคลือบแฝง เช่น ถ้าจําเลยให้การเป็นกลความ. (คำที่ใช้ในกฎหมาย).”
จะเห็นได้ว่าความหมายในภาษาไทยที่ตรงกับบาลีก็มี ที่ใช้แตกต่างออกไปก็มี
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กล” บอกความหมายไว้หลายอย่าง ตอนท้ายบอกไว้ว่า … มายา, ความโกง; … fraud, deceit.
(๒) ยุทธ์
เขียนแบบบาลีเป็น “ยุทฺธ” โปรดสังเกตว่ามีจุดใต้ ทฺ อ่านว่า ยุด-ทะ รากศัพท์มาจาก ยุธฺ (ธาตุ = รบ, ต่อสู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺต (คือ –ธ ที่ ยุธฺ + ต ปัจจัย) เป็น ทฺธ
: ยุธฺ + ต = ยุธฺต (ธฺต > ทฺธ) = ยุทฺธ แปลตามศัพท์ว่า “การต่อสู้กัน” หมายถึง สงคราม, การรบ, การต่อสู้ (war, battle, fight)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยุทธ-, ยุทธ์ : (คำนาม) สงคราม, การรบพุ่ง. (ป., ส.).”
กล + ยุทธ์ = กลยุทธ์ (กน-ละ-ยุด) เป็นคำที่บัญญัติขึ้นในภาษาไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กลยุทธ์ : (คำนาม) การรบที่มีเล่ห์เหลี่ยม, วิธีการที่ต้องใช้กลอุบายต่าง ๆ, เล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้.”
ขยายความ :
คำว่า “กลยุทธ์” แปลเป็นภาษาอังกฤษตรงกับคำว่า strategy
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล strategy เป็นไทยว่า ตำราพิชัยสงคราม, ยุทธศิลป์, ยุทธศาสตร์, การนำทัพ, แผนการ
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรม สอ เสถบุตร ไม่มีคำแปลว่า กลยุทธ์
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล strategy เป็นบาลีดังนี้:
saṅgāmopāya สงฺคาโมปาย (สัง-คา-โม-ปา-ยะ) = อุบายในการสงคราม, อุบายในการต่อสู้
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ก็ไม่ได้แปล strategy เป็นบาลีว่า “กลยุทฺธ”
…………..
คำว่า “กลยุทธ์” ในภาษาไทย แปลจากหน้าไปหลังหรือแปลจากหลังมาหน้า?
คำจำกัดความของพจนานุกรมฯ แปลไว้ทั้ง 2 แบบ คือ –
“การรบที่มีเล่ห์เหลี่ยม” แปลจากหลังมาหน้า
“เล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้” แปลจากหน้าไปหลัง
แถม :
ในวิชาการทหาร เมื่อบรรยายถึงการรบซึ่งมีรายละเอียดหลายขั้นตอน จะมีขั้นตอนหนึ่งเรียกว่า “ดำเนินกลยุทธ์” หมายถึง ลงมือปฏิบัติการตามแผนการรบที่วางไว้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กลยุทธ์ เรียนเพื่อเอาชนะผู้อื่นในการชิงชัย
: พระธรรมวินัย เรียนเพื่อปฏิบัติขัดเกลาตนเอง
#บาลีวันละคำ (3,979)
5-5-66
…………………………….
…………………………….