บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ชุดหมอชีวก

แง่มุมจากเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหิน (๓)

————————————

มาถูกทาง แต่ยังไปไม่สุดทาง

………..

เรื่องที่ ๖

………..

เมื่ออยากรู้เรื่องหมอชีวกรักษาอาการบาดเจ็บของพระพุทธเจ้า ทำให้ต้องค้นคัมภีร์ ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา

นอกจากจะเจอ (บางทีก็ไม่เจอ) เรื่องที่ต้องการรู้แล้ว หลายครั้งก็พลอยได้รู้เรื่องอื่นๆ ไปด้วย – ไม่ใช่เป้าหมาย แต่เก็บได้ตามรายทาง

เช่น-พระเทวทัตทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก ใครรู้บ้าง

ในคัมภีร์สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๑๒๒ มีพระสูตรชื่อสกลิกสูตร ว่าด้วยพระบาทถูกสะเก็ดหิน ตัวพระสูตรไม่ได้เอ่ยถึงว่าเกิดจากเหตุอะไร

แต่อรรถกถา (คัมภีร์สารัตถปกาสินี ภาค ๑ หน้า ๑๐๘) ขยายความว่า เกิดจากพระเทวทัตกลิ้งหิน อรรถกถาบอกด้วยว่า –

“มหาถามวา กิเรส ปญฺจนฺนํ หตฺถีนํ พลํ  ธาเรติ.”

แปลว่า “ว่ากันว่าพระเทวทัตมีแรงมหาศาล ทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก”

เพราะฉะนั้น พระเทวทัตคนเดียวจึงกลิ้งหินก้อนใหญ่ไหว

นักเรียนบาลีคงนึกถึงอีกคนหนึ่งที่ทรงกำลังแบบนี้ นั่นคือนางวิสาขา

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๓ หน้า ๖๗ วิสาขาวัตถุ เรื่องนางวิสาขา บอกไว้ว่า –

“วิสาขา กิร ปญฺจนฺนํ หตฺถีนํ ถามํ ธาเรติ.”

แปลว่า “ว่ากันว่านางวิสาขาทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก”

ธัมมปทัฏฐกถาเล่าว่า วันหนึ่งนางวิสาขากับพวกสาวใช้กลับจากฟังเทศน์ เดินผ่านพระลานหลวง พระราชาต้องการจะพิสูจน์ความจริง จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างวิ่งเข้าใส่ พอช้างมาถึงตัว นางวิสาขาใช้นิ้ว ๒ นิ้วจับงวงช้างแล้วผลักไป

สำนวนต้นฉบับท่านว่า –

“หตฺถี อตฺตานํ สณฺฐาตุํ นาสกฺขิ, ราชงฺคเณ อุกฺกุฏิโก หุตฺวา ปติ.”

แปลให้เห็นภาพว่า – แค่นางวิสาขาผลักเบาๆ ช้างเซ ก้นจ้ำเบ้า

“อุกฺกุฏิโก หุตฺวา ปติ” แปลว่า “ก้นจ้ำเบ้า” ไม่ใช่สำนวนผมนะครับ เป็นสำนวนบาลีสนามหลวงแปลออกสอบ

สรุปว่า มนุษย์ที่มีกำลังเท่าช้างมีอยู่จริง

………..

เรื่องที่ ๗

………..

พระสูตรที่แสดงถึงบทบาทของหมอชีวกอีกพระสูตรหนึ่งก็คือ สามัญผลสูตร อยู่ในคัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๙๑-๑๔๐ เป็นเรื่องที่หมอชีวกนำเสด็จพระเจ้าอชาตศัตรูไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่ชีวกัมพวัน

มาเจอเงื่อนแง่เอาตอนที่อ่านคำแปลอรรถกถาของพระสูตรนี้

อรรถกถาของพระไตรปิฎกที่แปลเป็นไทยครบชุดแล้ว คือ “พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล” ชุด ๙๑ เล่มของมหามกุฏราชวิทยาลัย

สามัญผลสูตรอยู่ในเล่มที่ ๑๑ หน้า ๓๖๓ ข้อความที่แปลเป็นดังนี้ –

… สวนอัมพวันของหมอชีวกอยู่ระหว่างกำแพงเมืองกับภูเขาคิชฌกูฏต่อกัน. พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จออกทางประตูทิศตะวันตก …

ในเว็บไซต์ 84000 ที่เผยแพร่พระไตรปิฎกและอรรถกถา รวมทั้งหนังสือธรรมะต่างๆ ก็เอาไปเผยแพร่ตามนี้ (ดูภาพประกอบ)

…………………..

http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=91&p=2#%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%B5_%E0%B9%94_%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87

…………………..

อรรถกถาสามัญผลสูตร ฉบับภาษาบาลี (สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ หน้า ๒๒๓, ฉบับ budsir 7 หน้า ๑๓๗) บอกว่า

“โส ปาจีนทฺวาเรน นิกฺขมิตฺวา ปพฺพตจฺฉายาย ปาวิสิ.”

คำว่า “ปาจีน” แปลว่า “ตะวันออก” (eastern)

ภาษาไทยที่เราคุ้นกันดี ก็อย่างชื่อจังหวัด “ปราจีนบุรี” แปลว่า เมืองทางตะวันออก ปราจีน- ก็เป็นคำเดียวกับ ปาจีน-

ภาษาบาลีในอรรถกถาข้างต้นแปลว่า “พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก เสด็จเข้าไปในเงาของภูเขา”

ต้นฉบับเป็น “ปาจีนทฺวาเรน” = “ทางประตูทิศตะวันออก”

แต่ที่แปลและพิมพ์เผยแพร่เป็น “ทางประตูทิศตะวันตก”

จนถึงวันนี้ก็ยังแปลอย่างนี้และเผยแพร่อย่างนี้ จะว่าอย่างไรกันดี

คนอ่านส่วนใหญ่ ย่อมอ่านตามฉบับแปล น้อยนัก-จะว่าเป็นศูนย์เลยก็ได้-ที่จะตรวจสอบกับต้นฉบับภาษาบาลี

เพราะฉะนั้น คนอ่านส่วนใหญ่ก็จะได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดชนิดตรงกันข้าม

แล้วจะทำอย่างไรกัน?

คงไม่ต้องมัวมาโทษกันว่า แปลผิด พิมพ์ผิด ไม่รู้จักตรวจสอบให้ดี ชุ่ย ฯลฯ

แบบนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับจะเพิ่มปัญหา อย่างน้อยก็ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองใส่กัน

วิธีที่ถูกต้องก็คือ ลงมือแก้ปัญหา ด้วยการบอกกล่าวถึงจุดที่ผิดพลาด และบอกข้อมูลที่ถูกต้อง แล้วช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้รู้กันแพร่หลายออกไป

ข้อผิดพลาดแบบนี้น่าจะยังมีอยู่อีก และอาจจะมีอีกมากด้วย

ผมเคยเสนอแนะไปที่มหามกุฏราชวิทยาลัยให้นำเอาพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม มาตรวจชำระสะสางกันใหม่

แต่ผู้บริหารท่านก็ยังนิ่งๆ อยู่ ไม่ทราบว่าจนถึงวันนี้ได้มีการขยับตัวทำอะไรไปบ้างแล้วหรือยัง

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่มเป็นชุดที่ดีมากๆ อ่านง่าย เพราะมีทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาอยู่ในที่เดียวกัน ถ้าชำระสะสางให้บริสุทธิ์สะอาดขึ้นจะเป็นอุปการะแก่การศึกษาพระธรรมวินัยของประชาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง

แต่ในขณะที่ยังไม่มีใครคิดจะทำอะไรให้มันดีขึ้น (ซึ่งเป็นอาการปกติทั่วไปของสังคมพระศาสนา) สิ่งหนึ่งที่นักเรียนบาลีสามารถทำได้ก็คือ-ช่วยกันอัญเชิญพระไตรปิฎกและอรรถกถาออกมาศึกษา

อย่างที่ผมกำลังทำอยู่ทุกวันนี้-ขอประทานโทษที่กล่าวถึงตัวเองเป็นตัวอย่าง

ผมแค่จะสื่อว่า-ผมเป็นคนแก่คนหนึ่งที่โชคดีได้เรียนบาลี พอจะจับๆ คลำๆ ได้บ้างตามสติปัญญาอันน้อย

ยังมีคนหนุ่ม (และคนสาว) อีกเป็นอันมากที่เรียนบาลี จบบาลี ท่านเหล่านั้นยังแคล่วคล่องว่องไว กระฉับกระเฉง ปราดเปรียวกว่าผมหลายเท่า

ถ้าท่านเหล่านั้น-ทั้งที่ยังทรงสมณเพศอยู่ หรือแม้จะลาเพศไปแล้วก็ตาม-จะมีแก่ใจ มีอุตสาหะ เห็นแก่พระศาสนา บริหารเวลา วางแผนชีวิต อุทิศเวลาส่วนหนึ่งให้แก่การศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ เจาะไปที่ผลงานที่บูรพาจารย์ท่านทำไว้แล้วนั่นแหละ ช่วยกันศึกษา ช่วยกันตรวจสอบ พบเห็นอะไรตรงไหมีพิรุธ ช่วยกันแก้ไขให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ขึ้น ทำไว้ สะสมไว้ แล้วเผยแพร่เป็นบริการทางวิชาการให้แก่สังคม ก็จะเป็นมหากุศลยิ่งนัก

ท่านจะสามารถทำงานเช่นนี้ได้ดีกว่า ละเอียดกว่า ประณีตกว่า ก้าวหน้ากว่าที่ผมงมทำอยู่คนเดียวนี้เป็นหลายร้อยหลายพันเท่า

เราเรียนบาลี จบบาลี เรามาถูกทางแล้วขอรับ

เพียงแต่เรายังไปไม่สุดทาง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ เมษายน ๒๕๖๓

๑๘:๔๙

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

——-

ประโยค๒ – ธมฺมปทฏฺฐกถา (ตติโย ภาโค) – หน้าที่ 45

                                    ๘. วิสาขา  วตฺถุ.  [ ๔๐ ]

        ยถาปิ   ปุปฺผราสิมฺหาติ   อิมํ   ธมฺมเทสนํ   สตฺถา   สาวตฺถึ

อุปนิสฺสาย ปุพฺพาราเม วิหรนฺโต วิสาขํ อุปาสิกํ อารพฺภ กเถสิ. 

        สา    กิร    องฺครฏฺเฐ    ภทฺทิยนคเร   เมณฺฑกเสฏฺฐิปุตฺตสฺส  ธนญฺชยเสฏฺฐิโน  อคฺคมเหสิยา  สุมนาเทวิยา  กุจฺฉิสฺมึ  นิพฺพตฺติ.  ตสฺสา  สตฺตวสฺสิกกาเล     สตฺถา     เสลพฺราหฺมณาทีนํ    โพธเนยฺยพนฺธวานํ  อุปนิสฺสยสมฺปตฺตึ  ทิสฺวา  มหาภิกฺขุสงฺฆปริวาโร  จาริกํ  จรมาโน

ฯเปฯ

ประโยค๒ – ธมฺมปทฏฺฐกถา (ตติโย ภาโค) – หน้าที่ 67

นาโหสิ   นิจฺจํ  โสฬสวสฺสุทฺเทสิกา  วิย  อโหสิ.  ตํ  ปุตฺตนตฺตปริวารํ 

วิหารํ  คจฺฉนฺตึ  ทิสฺวา  กตมา  เอตฺถ  วิสาขาติ  ปฏิปุจฺฉิตาโร๑

โหนฺติ.  เย  นํ  คจฺฉนฺตึ  ปสฺสนฺติ  อิทานิ  โถกํ  คจฺฉตุ คจฺฉมานา  ว

โน  อยฺยา  โสภตีติ  จินฺเตนฺติ.  เย  นํ  ฐิตํ  นิสินฺนํ  นิปนฺนํ  ปสฺสนฺติ

อิทานิ   โถกํ   นิปชฺชตุ  นิปนฺนาว  โน  อยฺยา  โสภตีติ  จินฺเตนฺติ.

อิติ   สา   จตูสุ  อิริยาปเถสุ  อสุกอิริยาปเถ  นาม  น  โสภตีติ  น

วตฺตพฺพา   อโหสิ.  ปญฺจนฺนํ  โข  ปน  หตฺถีนํ  ถามํ  ธาเรติ.  ราชา 

วิสาขา  กิร  ปญฺจนฺนํ  หตฺถีนํ  ถามํ  ธาเรตีติ  สุตฺวา  ตสฺสา  วิหารํ 

คนฺตฺวา   ธมฺมํ   สุตฺวา   อาคมนเวลาย   ถามํ   วีมํสิตุกาโม   หตฺถึ

วิสฺสชฺชาเปสิ.  โส  โสณฺฑํ  อุกฺขิปิตฺวา  วิสาขาภิมุโข  อคมาสิ.  ตสฺสา 

ปริวาริตฺถิโย  ปญฺจสตา  เอกจฺจา  ปลายึสุ  เอกจฺจา  นํ  อปริจฺจชิตฺวา

กิมิทนฺติ  วุตฺเต  ราชา  กิร  เต  อยฺเย  ถามํ  วีมํสิตุกาโม  หตฺถึ

วิสฺสชฺชาเปสีติ  วทึสุ.  วิสาขา  อิมํ  ทิสฺวา  กึ  ปลายิเตน  กถนฺนุ โข 

ตํ  คณฺหิสฺสามีติ  จินฺเตตฺวา  สเจ  ตํ  ทฬฺหํ  คณฺหิสฺสามิ  วินสฺเสยฺยาติ

ทฺวีหิ   องฺคุลีหิ   โสณฺฑาย   คเหตฺวา   ปฏิปฺปณาเมสิ.  หตฺถี  อตฺตานํ 

สณฺฐาตุํ   นาสกฺขิ   ราชงฺคเณ   อุกฺกุฏิโก   หุตฺวา   ปติ.  มหาชโน  

สาธุการํ  อทาสิ.  สา  สปริวารา  โสตฺถินา  เคหํ  อคมาสิ.

        เตน  โข  ปน  สมเยน  สาวตฺถิยํ  วิสาขา  มิคารมาตา พหุปุตฺตา

โหติ     พหุนตฺตา    อโรคปุตฺตา    อโรคนตฺตา    อภิมงฺคลสมฺมตา.

ตาวตเกสุ   ปุตฺตนตฺตสหสฺเสสุ   เอโกปิ   อนฺตรา   มรณปฺปตฺโต  นาม

 ๑. สี. ยุ. เอตฺถนฺตเร นาติ อตฺถิ.

ประโยค๒ – พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๓ – หน้าที่ 101

ทราบมาว่า   นางมีบุตร  ๑๐  คน  มีธิดา  ๑๐  คน,  บรรดาบุตร  (ชายหญิง)

เหล่านั้น  คนหนึ่ง ๆ ได้มีบุตรคนละ  ๑๐  คน  มีธิดาคนละ  ๑๐  คน,  บรรดา

หลานเหล่านั้น  คนหนึ่ง ๆ ได้มีบุตรคนละ  ๑๐  คน  มีธิดาคนละ  ๑๐  คน,

จำนวนคน  ได้มีตั้ง  ๘,๔๒๐  คน  เป็นไปด้วยสามารถแห่งความสืบเนื่อง

แห่งบุตรหลานและเหลน   ของนางวิสาขานั้น   อย่างนี้  ด้วยประการฉะนี้.

นางวิสาขาเอง  ก็ได้มีอายุ  ๑๒๐  ปี.  ชื่อว่าผมหงอกบนศีรษะแม้เส้น

หนึ่ง   ก็ไม่มี.  นางได้เป็นประหนึ่งเด็กหญิงรุ่นอายุราว  ๑๖  ปี  เป็นนิตย์.

ชนทั้งหลาย   เห็นนางมีบุตรและหลานเป็นบริวารเดินไปวิหาร  ย่อมถาม

กันว่า  “ในหญิงเหล่านี้  คนไหน  นางวิสาขา ?.   ชนผู้เห็นนางเดินไป

อยู่  ย่อมคิดว่า  ‘บัดนี้ขอจงเดินไปหน่อยเถิด,  แม้เจ้าของเราเดินไปอยู่

เทียว  ย่อมงาม.”  ชนที่เห็นนางยืน  นั่ง  นอน  ก็ย่อมคิดว่า   “บัดนี้

จงนอนหน่อยเถิด,  แม่เจ้าของเรานอนแล้วแล  ย่อมงาม.”  นางได้เป็น

ผู้อันใคร ๆ  พูดไม่ได้ว่า   “ในอิริยาบถทั้ง  ๔  นางย่อมไม่งามในอิริยาบถ

ชื่อโน้น”   ด้วยประการฉะนี้.  ก็นางวิสาขานั้น  ย่อมทรงกำลังเท่าช้าง

๕  เชือก.  พระราชาทรงสดับว่า  “ได้ทราบว่า  นางวิสาขา  ทรงกำลัง

เท่าช้าง  ๕  เชือก”  ในเวลานางไปวิหารฟังธรรมแล้วกลับมา  มีพระ

ประสงค์จะทดลองกำลัง  จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างไป.  ช้างนั้นชูงวง  ได้วิ่ง

รี่เข้าใส่นางวิสาขาแล้ว.   หญิงบริวารของนาง ๕๐๐  บางพวกวิ่งหนีไป,

บางพวกไม่ละนาง,  เมื่อนางวิสาขาถามว่า  “อะไรกันนี่ ?”   จึงบอก

ว่า   “แม่เจ้า  ได้ทราบว่า   พระราชาทรงประสงค์จะทดลองกำลัง

แม่เจ้า   จึงรับสั่งให้ปล่อยช้าง.”   นางวิสาขา  คิดว่า  “ประโยชน์

ประโยค๒ – พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๓ – หน้าที่ 102

อะไร    ด้วยการเห็นช้างนี้แล้ววิ่งหนีไป,   เราจักจับช้างนั้นอย่างไร

หนอแล ?”   จึงคิดว่า   “ถ้าเราจับช้างนั้นอย่างมั่นคง,  ช้างนั้นจะพึง

ฉิบหาย”  ดังนี้แล้ว  จึงเอานิ้ว  ๒  นิ้ว   จับงวงแล้วผลักไป.  ช้างไม่

อาจทรงตัวอยู่ได้,  ได้ซวนล้มลงที่พระลานหลวงแล้ว.  มหาชนได้ให้

สาธุการ.   นางพร้อมกับบริวาร  ได้กลับเรือนโดยสวัสดีแล้ว.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *