บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ชุดหมอชีวก

แง่มุมจากเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหิน (๔)

————————————

ชื่อนั้นสำคัญนัก

………..

เรื่องที่ ๘

………..

เมื่อผมเขียนเรื่อง โลหิตุปบาท ตอนที่ ๒ (๘ เมษายน ๒๕๖๓) ว่าด้วยเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหินหมายสังหารพระพุทธองค์ และเรื่องหมอชีวกรักษาอาการบาดเจ็บของพระพุทธองค์จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ผมบอกว่ามีสถานที่ ๓ แห่งที่เกี่ยวข้อง คือ เขาคิชฌกูฏ สวนมัททกุจฉิ และชีวกัมพวัน

ญาติมิตรท่านหนึ่งมีแก่ใจเอาลิงก์สารคดีชุด “อริยทัศน์ อินเดีย” ตอนเขาคิชฌกูฏมาวางไว้ให้

ผมตามไปดูแล้ว ขอบพระคุณอย่างยิ่ง

ดูแล้วก็ได้เงื่อนแง่บางประการมาคุยสู่กันฟัง

ได้ความตามที่ปรากฏว่า พระคันธกุฎีที่พระพุทธองค์ประทับอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏ

มีทางขึ้นสู่เขาคิชฌกูฏ จากพื้นราบค่อยๆ ลาดขึ้นไปสู่ยอดเขา ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ภาพยนตร์สารคดีบอกว่าเป็นทางที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าพิมพิสาร ทรงสร้างไว้เพื่อให้พระพุทธองค์เสด็จขึ้นลงเขาคิชฌกูฏได้สะดวก

ภาพยนตร์สารคดีบอกว่า ตามทางขึ้นเขาคิชฌกูฏนี้จะผ่านสถานที่แห่งหนึ่ง ผู้บรรยายออกเสียงว่า “มาตะกุจฉิ” เป็นสถานที่ซึ่งพระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารแอบเสด็จมาทำแท้งเนื่องจากโหรทำนายว่าโอรสในพระครรภ์จะเกิดมาฆ่าพ่อ

เรื่องราวตรงกับที่คัมภีร์อรรถกถาเล่าเรื่องไว้ แต่ชื่อสถานที่ที่เกิดเรื่องนี้ ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาออกชื่อว่า “มัททกุจฉิ” ชื่อเต็มว่า “มัททกุจฉิมิคทายวัน”

ไม่ใช่ “มาตะกุจฉิ”

“มัททกุจฉิ” อ่านว่า มัด-ทะ-กุด-ฉิ แปลว่า “บีบท้อง” คือรีดครรภ์ ตรงกับเรื่องที่บอกเล่ามา

“มาตะกุจฉิ” ไม่ทราบว่าจะให้มีความหมายอย่างไร ดูตามเสียงที่ฟัง (ไม่มีตัวหนังสือขึ้นให้เห็น) พอจะแปลได้ว่า “ท้องแม่” พอมีเค้าอยู่บ้าง แต่ไม่สื่อความหมายตามเรื่องเล่า

ทั้ง ๒ คำนี้อาจกลายเสียงกันไปกลายกันมา

แต่-ใครกลายจากใคร?

“มัททกุจฉิ” – เรียกอย่างนี้มา ๒๖๐๐ ปี

“มาตะกุจฉิ” ไม่ทราบว่าเรียกกันมาตั้งแต่เมื่อไร

เสียงที่ได้ยินกับการถอดออกมาเป็นตัวอักษรอาจคลาดเคลื่อนกันได้ เป็นธรรมดา

แม้ตัวอักษรของชาติหนึ่งถอดออกเป็นอักษรของอีกชาติหนึ่งก็อาจคลาดเคลื่อนไปได้

ชื่อที่ปรากฏในเรื่องราวทางพระพุทธศาสนานี่เองที่เขียนเป็นอักษรโรมัน (ขอความกรุณาอย่าพูดผิดว่า “แปลเป็นภาษาอังกฤษ” นะครับ-ขอร้อง) ยังมีคนถอดเป็นอักษรไทยแบบประหลาดๆ

ขออนุญาตยกตัวอย่างตามที่เคยเห็นมาจริงๆ

Abhayagiri

คัมภีร์บาลีท่านเรียกว่า “อภยคิริ” เรียกแบบไทยว่า “อภัยคีรี”

นักเขียนรุ่นใหม่ถอดเป็นอักษไทยว่า อับหายาคีรี

Anuradhapura

คัมภีร์บาลีท่านเรียกว่า “อนุราธปุร” เรียกแบบไทยว่า “อนุราธบุรี”

นักเขียนรุ่นใหม่ถอดเป็นอักษไทยว่า อนุราดห์ปูร์

Thuparama

คัมภีร์บาลีท่านเรียกว่า “ถูปาราม” เรียกแบบไทยว่า “ถูปาราม”

นักเขียนรุ่นใหม่ถอดเป็นอักษไทยว่า ถูปะราม่า

และ Maddakucchi

คัมภีร์บาลีท่านเรียกว่า “มทฺทกุจฺฉิ” = มัททกุจฉิ

เพิ่งได้ยินคนรุ่นใหม่เรียกว่า มาตะกุจฉิ

ผมว่าเวลานี้เราถูกครอบงำด้วยบรรยากาศฝรั่งจนกำลังจะห่างจากความเป็นไทย

อย่างชื่อ Abhayagiri (สถานที่แห่งนี้อยู่ในศรีลังกา)

คัมภีร์บาลีเรียก “อภยคิริ”

ไทยเราเรียก “อภัยคีรี”

แต่ไทยรุ่นใหม่เรียกเป็น อับหายาคีรี

ไม่เหลืออรรถรสแบบไทยเลย

“มัททกุจฉิ” กลายเป็น “มาตะกุจฉิ”

รูป เสียง และความหมายไปคนละโลก

………………

เรื่องพระเทวทัตกลิ้งหิน ยังมีแง่ที่งอกออกมาให้คิดอีกหลายเรื่องครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ เมษายน ๒๕๖๓

๑๒:๐๙

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *