อุดมการณ์ (บาลีวันละคำ 643)
อุดมการณ์
(บาลีไทย)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกคำอ่านไว้ว่า
(1) อุ-ดม-มะ-กาน
(2) อุ-ดม-กาน
ความเห็น
1. อ่านว่า อุ-ดม-มะ-กาน เป็นการอ่านตามหลักคำสมาส
2. อ่านว่า อุ-ดม-กาน (ไม่มีเสียง -มะ-) เป็นการอ่านแบบไม่เอื้อหลัก หรืออ่านตามสะดวกปาก ถ้ารักภาษาไทย ไม่ควรอ่านแบบนี้
“อุดมการณ์” ประกอบ อุดม + การณ์ เทียบบาลีเป็น อุตฺตม + การณ
“อุดม” บาลีเป็น “อุตฺตม” (อุด-ตะ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีความหมายยิ่งกว่ายอด” เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า ใหญ่ที่สุด, ดีที่สุด, ประเสริฐ, สูงสุด, เป็นใหญ่
ในภาษาไทย พจน.42 บอกความหมายว่า สูงสุด, ยิ่ง, เลิศ, มากมาย, บริบูรณ์
“การณ์” บาลีเป็น “การณ” (กา-ระ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำผล” ใช้ในความหมายหลายหลาก (ในที่นี้วงเล็บคำอังกฤษไว้ให้เพื่อเทียบเคียงความหมาย) เช่น – การกระทำ (a deed), วิธีทำ (action) , การปฏิบัติ (performance), การลงโทษ (punishment), การฆ่า (killing), การงาน (task), หน้าที่ (duty, obligation), การปฏิบัติในฐานเป็นเหตุ (acting, action as material cause), เหตุ (intellectual cause), เหตุผล (reason), ความจำเป็น (necessity, needs)
ในภาษาไทย “การณ์” (อ่านว่า กาน) พจน.42 บอกความหมายว่า เหตุ, เค้า, มูล, เช่น รู้เท่าไม่ถึงการณ์ สังเกตการณ์
อุดม + การณ์ = อุดมการณ์ พจน.42 บอกไว้ว่าว่า
“อุดมการณ์ : หลักการที่วางระเบียบไว้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้”
“อุดมการณ์” เป็นศัพท์ที่ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ได้ทรงบัญญัติขึ้นแทนคำอังกฤษว่า noble cause (noble = อุดม cause = การณ์)
คำว่า cause พจนานุกรม SE-ED’S MODERN ENGLISH-THAI DICTIONARY ของ วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม แปลว่า สาเหตุ, มูลเหตุ, ต้นเหตุ, เหตุชนวน, เหตุผล, จุดประสงค์, เป้าหมาย, กิจการ, งาน, มูลฟ้อง, คดีฟ้องร้องได้, เรื่องที่อภิปราย, สวัสดิภาพทั่วไป, สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต
noble cause > อุตฺตมการณ > อุดมการณ์ จึงมีความหมายว่า เป้าหมายอันสูงส่ง – จุดประสงค์อันสุงสุด หรือ แรงจูงใจที่ทำให้อยากจะไปให้ถึงสิ่งสูงสุด
: นิพพานเป็นอุดมการณ์ของชาวพุทธ
: อดทนสูงสุด เป็นอุดมการณ์สู่พระนิพพาน
——————
(ได้รับเหตุจูงใจจากพระคุณท่าน Sunant Pramaha)
18-2-57