บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ชุดหมอชีวก

แง่มุมจากเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหิน (๖)

————————————

จะมีไหม-ดร. สาขา “ภูมิศาสตร์พุทธประวัติ”?

………..

เรื่องที่ ๑๐

………..

ในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถาทั่วไปแสดงว่า เหตุการณ์พระเทวทัตกลิ้งหินเกิดที่เขาคิชฌกูฏ

แต่มีอรรถกถาฉบับหนึ่งแสดงข้อมูลต่างออกไป

ถามนักเรียนบาลีว่า ใครเคยเห็นบ้าง?

อย่าตอบว่า ไม่เคยเห็นนะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นยอมรับว่า เรียนบาลีเพื่อสอบได้ ไม่ได้เรียนเพื่อศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย-ซึ่งก็คือศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกา

คัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี (เป็นอรรถกถาของคัมภีร์อปทาน) ภาค ๑ หน้า ๒๑๕ แสดงเรื่องราวไว้ว่า –

………………..

เทวทตฺโต  เวรํ  พนฺธิตฺวา  ปริหีนชฺฌาโน  ภควนฺตํ  มาเรตุกาโม  เอกทิวสํ  เวภารปพฺพตปาเท  ฐิตสฺส  ภควโต  อุปริ  ฐิโต  ปพฺพตกูฏํ  ปวิทฺเธสิ,  ภควโต  อานุภาเวน  อปโร  ปพฺพตกูโฏ  ตํ  ปตมานํ  สมฺปฏิจฺฉิ.  เตสํ  ฆฏฺฏเนน  อุฏฺฐิตา  ปปฏิกา  อาคนฺตวา  ภควโต  ปาทปิฏฺฐิยํ  ปหริ.

พระเทวทัตผูกเวรจึงเสื่อมจากฌาน ต้องการจะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่ที่เชิงเขาเวภาระ จึงขึ้นไปข้างบน กลิ้งหินจากยอดเขาลงมา, ด้วยอานุภาพแห่งพระผู้มีพระภาค หินที่กำลังตกลงมาปะทะเขาอีกยอดหนึ่ง สะเก็ดหินที่เกิดจากก้อนหินใหญ่กระทบกันกระเด็นมากระทบหลังพระบาทพระผู้มีพระภาค

………………..

อรรถกถาฉบับนี้ฉบับเดียวที่ระบุสถานที่เกิดเหตุว่า “เวภารปพฺพตปาเท” = เชิงเขาเวภาระ

เราก็เพียงแต่รับรู้ไว้ แต่ไม่ต้องเถียงกัน เพราะข้อมูลในพระไตรปิฎก-ซึ่งเป็นหลักฐานที่เหนือกว่า-ระบุไว้ชัดเจนว่า เหตุเกิดที่เขาคิชฌกูฏ

แต่ท่านที่ประสงค์จะวิเคราะห์วิจารณ์ก็สามารถทำได้ เช่นอาจจะบอกว่าอรรถกถาฉบับนี้น่าจะ “ปมาเทน ลิขิตพฺพํ” หรือ “พูดเพลินไป” เป็นต้น

หลักปฏิบัติของโบราณบัณฑิตท่านให้เกียรติกัน คือไม่ลบทิ้ง จะพูดผิดหรือเขียนผิดท่านก็คงไว้ให้เห็นกันว่ามีผู้ให้ข้อมูลแบบนี้ด้วย คนข้างหลังจะได้เห็นข้อมูลเท่าๆ กับเรา

แต่ท่านก็ให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น

เพราะฉะนั้น ใครจะเห็นตามหรือเห็นต่าง ก็สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี

เรื่องที่น่าสนใจกว่าก็คือ เขาเวภาระอยู่ตรงไหน?

ที่เรารู้กันก็คือ เขาเวภาระเป็น ๑ ในภูเขา ๕ ลูกที่ตั้งล้อมเมืองราชคฤห์ อันได้แก่ ปัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ อิสิคิลิ และเวปุลละ

ในพุทธประวัติหรือในคัมภีร์มีกล่าวถึงเขาเวภาระ เช่นบอกว่า ถ้ำสัตตบรรณคูหาอยู่ที่ภูเขาเวภารบรรพต เป็นที่พระพุทธเจ้าเคยทรงทำนิมิตโอภาสแก่พระอานนท์ และเป็นที่ทำสังคายนาครั้งแรก-อย่างนี้เป็นต้น

ถ้าถามว่า เขาเวภาระอยู่ตรงไหน หรือไปถึงเมืองราชคฤห์ มองเห็นภูเขา ๕ ลูก แล้วถามว่า เขาลูกไหนคือเขาเวภาระ ใครจะชี้บอกได้บ้าง?

นี่คือประเด็น

เรารู้กันแต่ชื่อ แต่เอาเข้าจริงๆ คนส่วนมากบอกไม่ได้

คนที่ไปไหว้พระในอินเดียบ่อยๆ ไปถึงเมืองราชคฤห์บ่อยๆ ขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏมาแล้วหลายเที่ยว ก็รู้แต่เพียงว่าเขาลูกนี้คือคิชฌกูฏ แต่บอกกันไม่ได้หมดทุกคนว่า แล้วลูกไหนคือปัณฑวะ ลูกไหนคือเวภาระ ลูกไหนคืออิสิคิลิ และลูกไหนคือเวปุลละ

เขียนแผนผังที่ตั้งเมืองราชคฤห์

เขียนภูเขา ๕ ลูกตั้งล้อมเมืองตามตำแหน่งที่เป็นจริง

เขียนชื่อบอกไว้ด้วยว่าภูเขาลูกไหนชื่ออะไร – ปัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ อิสิคิลิ เวปุลละ

ใครสามารถเขียนได้บ้าง – ขอแรงญาติมิตรที่ชำนาญภูมิประเทศอินเดียแถบนั้น โดยเฉพาะท่านที่ไปอินเดียมาหลายรอบแล้ว

แต่ก็นั่นแหละ ส่วนมากเราไปแสวงบุญกัน

ไม่ได้ตั้งใจไปแสวงหาความรู้ทางภูมิศาสตร์พุทธประวัติ

………..

มีไกด์ให้นิดหนึ่งครับ

ในอิสิคิลิสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ข้อ ๒๔๘ แสดงไว้ว่า คราวหนึ่งพระพุทธองค์ประทับที่ภูเขาอิสิคิลิพร้อมด้วยหมู่ภิกษุ ตรัสถามภิกษุว่า นั่งอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มองไปเห็นภูเขาอีก ๔ ลูกไหม แล้วก็ตรัสชื่อภูเขา เริ่มจากเวภาระ ปัณฑวะ เวปุลละ คิชฌกูฏ แล้วจึงมาถึงอิสิคิลิ

อรรถกถาของอิสิคิลิสูตร คือคัมภีร์ปปัญจสูทนี ภาค ๓ หน้า ๖๔๖ อธิบายว่า

“อิเม  ปญฺจ  ปพฺพเต  ปฏิปาฏิยา  อาจิกฺขิ.”

แปลว่า “พระพุทธองค์ตรัสถึงภูเขาทั้ง ๕ ลูกนี้ตามลำดับ”

ถ้ายึดตามอิสิคิลิสูตรและอรรถกถา ภูเขาทั้ง ๕ ลูกจะเรียงกันเป็นวงดังนี้

ปัณฑวะอยู่ระหว่างเวภาระกับเวปุลละ

เวปุลละอยู่ระหว่างปัณฑวะกับคิชฌกูฏ

คิชฌกูฏอยู่ระหว่างเวปุลละกับอิสิคิลิ

อิสิคิลิอยู่ระหว่างคิชฌกูฏกับเวภาระ

เวภาระอยู่ระหว่างอิสิคิลิกับปัณฑวะ

ถ้าใครสามารถหาภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงตำแหน่งของภูเขา ๕ ลูกมาให้ดูกันได้ด้วย ก็จะยิ่งประเสริฐนัก

……………..

เรื่องจะยิ่งสำคัญมากขึ้น-ถ้าสถาบันการศึกษา เช่นมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง เปิดหลักสูตรอะไรสักหลักสูตร ศึกษาเฉพาะ “ภูมิศาสตร์พุทธประวัติ” โดยตรง มีตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก

เอาให้เก่งเลิศในสาขานี้กันไปเลย

ด้านเนื้อหาของวิชา-คิดคร่าวๆ ก่อน อาจขอความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของอินเดีย ซึ่งผมเชื่อว่าเจ้าของบ้านเขาจะต้องมีการศึกษาสืบค้นเรื่องแบบนี้กันอยู่แล้ว

ขอข้อมูลเขามาเป็นพื้นฐาน

แล้วเราต่อยอด ให้นักศึกษาของเราไปสืบเชิงลึกเชิงกว้างต่อไปอีก

เอาให้ถึงขั้นที่ว่า-ใครอยากรู้ภูมิศาสตร์ในพุทธประวัติต้องมาที่ มจร-มมร ของไทยเรา เรารู้ละเอียดยิ่งกว่าอินเดียเจ้าของบ้านเสียอีก

ทำได้ไหม

จะมีวันเกิดขึ้นได้จริงไหม – ดร. สาขา “ภูมิศาสตร์พุทธประวัติ”?

ท่านที่มีประสบการณ์ในการก่อตั้งภาควิชา หรือเปิดหลักสูตรในมหาวิทยาลัย ขอแรงช่วยด้วยนะครับ

หรือจะต้องให้ไปกราบเท้าใครก่อน กระผมยินดีขอรับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ เมษายน ๒๕๖๓

๑๓:๒๔

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

———–

ภาพประกอบ: จาก google

———–

คิชฌกูฏ

“[ภูเขา]มียอดดุจแร้ง”, ชื่อภูเขาลูกหนึ่งในเบญจคีรี (ภูเขาห้าลูก คือ ปัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ อิสิคิลิ และเวปุลละ ที่ล้อมรอบพระนครราชคฤห์) ซึ่งได้ชื่ออย่างนี้ เพราะคนมองเห็นยอดเขานั้นมีรูปร่างเหมือนแร้ง (อีกนัยหนึ่งว่า เพราะมีแร้งอยู่บนยอดเขานั้น), ยอดเขาคิชฌกูฏเป็นที่ซึ่งพุทธศาสนิกชนรู้จักกันมากแม้ในบัดนี้ เพราะเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าประทับบ่อย และยังมีซากพระคันธกุฎี ที่ผู้จาริกมักขึ้นไปสักการะบูชา

เวภารบรรพต

ชื่อภูเขาลูกหนึ่งในภูเขาห้าลูก ที่เป็นดุจคอกล้อมกรุงราชคฤห์

สัตตบรรณคูหา

ชื่อถ้ำที่ภูเขาเวภารบรรพต ในกรุงราชคฤห์ เป็นที่พระพุทธเจ้าเคยทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์ และเป็นที่ทำสังคายนาครั้งแรก; เขียน สัตตปัณณิคูหา หรือ สัตตบัณณคูหา ก็มี


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *