บาลีวันละคำ

ปทปรมะ (บาลีวันละคำ 729)

ปทปรมะ

(บัวเหล่าที่ 4)

อ่านว่า ปะ-ทะ-ปะ-ระ-มะ

บาลีเขียน “ปทปรม” อ่านเหมือนกัน

ประกอบด้วย ปท + ปรม = ปทปรม

ปท” โดยทั่วไปแปลว่า เท้า, รอยเท้า, ทาง (foot, footstep, track) มักใช้ทับศัพท์ว่า “บท

คำว่า ปทบท ยังมีความหมายอื่นๆ อีก ดูตามที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลไว้ อาจช่วยให้เห็นความหมายอื่นๆ ได้ดี คือ “ปท” หมายถึง step, way, path, position, place, case, lot, principle, part, constituent, characteristic, ingredient, item, thing, element, a word, verse (or a quarter of a verse), stanza, line, sentence (การก้าว, ทาง, ตำแหน่ง, สถานที่ กรณี, โชคชะตา, หลักการ, ส่วน, องค์ประกอบ, ลักษณะ, ส่วนประกอบ, รายการ, สิ่งของ, มูลฐาน, คำ, ฉันท์ (หรือหนึ่งในสี่ของฉันท์), โศลก, บท, ประโยค)

ในที่นี้ ปทบท หมายถึง คำ (word)

ปรม” เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)

ปรม” ภาษาไทยใช้ว่า “บรม” (บอ-รม) พจน.54 บอกไว้ว่า –

บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น ขี้เกียจบรม บรมขี้เกียจ”

ปรม” คงเป็น ปรม– เมื่อสมาสกับคำอื่นก็มี เช่น ปรมินทร์ ปรเมนทร์

ปท + ปรม = ปทปรม แปลตามศัพท์ว่า “มีบท (คือถ้อยคำ) เป็นอย่างยิ่ง” เป็นชื่อเรียกบุคคลประเภทหนึ่งในจำนวน 4 ประเภท ที่เปรียบกับบัว 4 เหล่า คือ –

1. อุคฆฏิตัญญู (อุก-คะ-ติ-ตัน-ยู) ผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลันเพียงแต่ยกหัวข้อขึ้นแสดง เหมือนดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำ พอสัมผัสแสงอาทิตย์ก็บานทันที

2. วิปจิตัญญู (วิ-ปะ-จิ-ตัน-ยู) ผู้รู้เข้าใจต่อเมื่อได้ฟังคำขยายความ เหมือนดอกบัวที่ปริ่มน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้

3. เนยยะ (เน็ย-ยะ) ผู้ที่พอจะแนะนำต่อไปได้ เหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่พ้นน้ำ แต่จักโผล่ขึ้นและบานในวันต่อๆ ไป

4. ปทปรมะ (ปะ-ทะ-ปะ-ระ-มะ) ผู้ได้แค่ตัวบทคือถ้อยคำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อาจเข้าใจความหมาย เหมือนดอกบัวจมอยู่ใต้น้ำที่จะกลายเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า

ปทปรมะ อาจใช้แบบไทยๆ ว่า “บทบรม” (บด-บอ-รม) หรือ “บรมบท” (บอ-รม-มะ-บด)

คำแปลว่า “มีบท (คือถ้อยคำ) เป็นอย่างยิ่ง” อาจตีความได้ ๒ นัย คือ –

(1) หมายความว่า เอาดีได้ (= บรม) แค่จำถ้อยคำ (= บท) เกินกว่านี้เอาดีไม่ได้ คือไม่รู้ความหมายและไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้น อาจเทียบได้กับ-จำเหมือนนกแก้วนกขุนทอง

(2) หมายความว่า แม้จะใช้คำ (= บท) อบรม แนะนำ สั่งสอนไปมากมาย (= บรม) สักเท่าไร ก็ไม่เกิดผล คือไม่รับรู้ ไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตาม อาจเทียบได้กับ-ปากเปียกปากแฉะ (ว่ากล่าวตักเตือนซํ้าแล้วซํ้าเล่าก็ยังไม่ได้ผลตามที่มุ่งหมาย-พจน.54)

อุปมาอีกนัยหนึ่งอาจช่วยให้เข้าใจความหมายของ “ปทปรมะ” ได้ชัดเจนขึ้น

อุคฆฏิตัญญู เหมือนคนที่พอบอกว่า “ไปแกงส้มมา” ก็สามารถไปทำแกงส้มมาได้โดยไม่ต้องอธิบายอะไรอีก

วิปจิตัญญู เหมือนคนที่บอกว่า “ไปแกงส้มมา” ยังต้องอธิบายว่าแกงส้มต้องใส่อะไรบ้าง ต้องปรุงอย่างไร จึงจะแกงส้มได้

เนยยะ เหมือนคนที่บอกว่า “ไปแกงส้มมา” ก็ยังไม่เข้าใจ บอกว่าต้องใช้เครื่องปรุงอะไรบ้าง ก็ยังไม่รู้จัก ต้องพาไปชี้ให้ดูว่า นี่หอม นี่กระเทียม ฯลฯ บอกว่าต้องตำเครื่องแกงอย่างนี้ ต้องปรุงอย่างนี้ ก็ยังทำไม่เป็นทันที ต่อเมื่อได้ฝึกสอนให้ทำไปเรื่อยๆ จึงพอจะแกงส้มกินได้

ปทปรมะ เป็นประเภทไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น แกงส้มคืออะไรก็ไม่รู้ เครื่องแกงส้มมีอะไรบ้างก็ไม่รู้ หอมกระเทียมหน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้จัก ทั้งไม่ประสงค์จะรู้ด้วย บอกว่า “แกงส้ม” ก็จำได้คำเดียวแค่นี้ นอกเหนือไปจากนี้ไม่รับรู้อะไรหมด นี่คือ ปทปรมะ = เอาดีได้คำเดียว

: ทำดีเป็นอยู่อย่างเดียว

: ดีกว่าเชี่ยวชาญทางชั่วตั้งร้อยอย่าง

—————-

(แรงบันดาลใจจากโพสต์ของ เมธีวุฒินันทน์ ภาณุภัทรธนวัฒน์ เมื่อ 13 พฤษภาคม 2557 ว่าด้วยบุคลากรทางการศึกษา 4 จำพวก คล้ายบัว 4 เหล่า)

#บาลีวันละคำ (729)

16-5-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *