บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ชุดหมอชีวก

พญาอินทรีข้ามถิ่น

——————–

ความสามารถในการรักษาโรคของหมอชีวกไม่ใช่จะรู้กันเฉพาะในแคว้นมคธบ้านเกิดเท่านั้น แต่ยังเลื่องลือไปถึงต่างรัฐอีกด้วย

นี่เป็นอีกตอนหนึ่งที่หมอชีวกเปรียบเหมือนพญาอินทรีที่บินข้ามเขตอย่างองอาจและสง่างาม

เชิญสดับสำนวนจากพระไตรปิฎก แปลแบบไม่ตอกไข่ ไม่ใส่สี รสเดิมแท้ๆ จากบาลี มีกลิ่นโรตีพอหอมปากหอมคอ

…………………

ก็โดยสมัยนั้นแล บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีผู้เล่นกีฬาหกคะเมน (*) ป่วยเป็นโรคเนื้องอกที่ลำไส้ ยาคูที่เธอดื่มเข้าไปก็ดี อาหารที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก เพราะโรคนั้นเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น

ครั้งนั้น เศรษฐีเมืองพาราณสีได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า

“บุตรของเราเจ็บป่วยถึงเพียงนี้ ยาคูที่เธอดื่มก็ดี อาหารที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก เพราะโรคนั้นบุตรของเราจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ถ้ากระไร เราพึงไปเมืองราชคฤห์แล้วทูลขอนายแพทย์ชีวกต่อพระเจ้าอยู่หัวเพื่อจะได้รักษาบุตรของเรา”

ครั้งนั้นแล เศรษฐีเมืองพาราณสีได้เดินทางไปเมืองราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามคธราช กราบทูลว่า

“ขอเดชะ บุตรของข้าพระพุทธเจ้าเจ็บป่วยอาการเป็นดังนี้ ยาคูที่เธอดื่มก็ดี อาหารที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก เพราะโรคนั้นเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงมีพระบรมราชโองการสั่งนายแพทย์ชีวกให้ไปรักษาบุตรของข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด”

ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงมีพระราชดำรัสสั่งหมอชีวกว่า

“ไปเถิดพ่อชีวก เจ้าจงไปเมืองพาราณสี แล้วรักษาบุตรของเศรษฐีเมืองพาราณสีเถิด”

หมอชีวกทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า “รับด้วยเกล้า พระพุทธเจ้าข้า”

ครั้นแล้วจึงเดินทางไปเมืองพาราณสี เข้าไปหาบุตรเศรษฐี ตรวจดูอาการป่วยของเขา แล้วเชิญคนที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกไปเสีย ขึงม่าน แล้วมัดบุตรเศรษฐีไว้กับเสา บอกให้ภรรยาบุตรเศรษฐีมายืนอยู่ข้างหน้า แล้วผ่าหนังท้อง นำเนื้องอกที่ลำไส้ออกแสดงแก่ภรรยาว่า

“เธอจงดูความเจ็บป่วยของสามีเธอ ยาคูที่สามีเธอดื่มก็ดี อาหารที่สามีเธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก เพราะโรคนี้สามีเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น”

ว่าแล้วก็ตัดเนื้องอกในลำไส้ออก แล้วสอดใส่ลำไส้กลับเข้าที่เดิม แล้วเย็บหนังท้อง ทายาสมานแผล

ต่อมาไม่นานเท่าไรนัก บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีก็หายป่วย

ครั้งนั้น เศรษฐีเมืองพาราณสีดีใจว่า “บุตรของเราหายโรคพ้นอันตรายแล้ว” จึงให้รางวัลแก่หมอชีวกเป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ

หมอชีวกรับเงิน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ เดินทางกลับสู่เมืองราชคฤห์

………….

เรื่องราวตอนนี้ฟังดูก็เรียบๆ ไม่มีอะไรตื่นเต้น แต่มีเงื่อนแง่ที่น่าคิดบางประการ

ประการที่หนึ่ง หมอชีวกอยู่เมืองราชคฤห์ แต่ไปรักษาคนไข้ที่เมืองพาราณสี เป็นการหากินข้ามรัฐ (แต่ก็เป็นการทำตามพระบรมราชโองการ ไม่ได้ไปโดยพลการ) หมอดีๆ ที่เมืองพาราณสีไม่มีหรืออย่างไร หมอเมืองพาราณสีไม่รู้สึก “เสียหน้า” บ้างหรืออย่างไร

อาจเป็นได้ที่การผ่าตัดในวงการแพทย์สมัยนั้นยังทำได้ไม่กว้างขวาง หมอชีวกอาจเป็นหมอเพียงไม่กี่คนที่สามารถทำได้ และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วชมพูทวีป จึงเป็นที่ต้องการของบรรดาผู้ป่วยที่มีฐานะดี

และไม่ใช่เฉพาะรักษาเศรษฐีต่างรัฐ ตอนต่อไปยังมีเรื่องหมอชีวกไปรักษาพระราชาต่างรัฐอีกด้วย เป็นตอนที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิตการทำงานของหมอชีวก

ประการที่สอง น่าสังเกตว่าหมอชีวกไม่เคยลังเลเลยในการที่จะลงมือรักษาไข้ แสดงว่าในขั้นตอนการตรวจอาการ หมอชีวกต้องทำอย่างละเอียดที่สุด และวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำที่สุด อย่างที่พูดกันว่า “แม่นเหมือนตาเห็น” เมื่อลงมือรักษาจึงไม่พลาด

ขอให้นึกถึงเหตุการณ์ในตอนที่ผ่านมา คราวรักษาโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐีเมืองสาเกต รักษาริดสีดวงของพระเจ้าพิมพิสาร รักษาโรคปวดศีรษะของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ด้วยวิธีผ่าตัด หมอชีวกทำอย่างมั่นใจ ไม่มีคาดเดาหรือสุ่มเสี่ยง และใช้ยาขนานเดียวครั้งเดียวเท่านั้น พูดภาษาคะนองว่า “ม้วนเดียวจบ” ทุกราย

ประการที่สาม เริ่มกระบวนการผ่าตัดต้องมัดตัวผู้ป่วย ตอนรักษาโรคปวดศีรษะของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ด้วยวิธีผ่าตัดสมอง ต้นฉบับใช้คำว่า “มญฺจเก  สมฺพนฺธิตฺวา” แปลว่า “มัดติดไว้กับเตียง” (คนไข้นอน) คราวนี้ผ่าตัดลำไส้ ต้นฉบับใช้คำว่า “ถมฺเภ  อุปนิพนฺธิตฺวา” แปลว่า “มัดติดไว้กับเสา” แสดงว่าคนไข้ต้องยืน

การใช้วิธีมัดตัวคนไข้ก็เพื่อไม่ให้คนไข้ดิ้น แปลว่าการวางยาสลบยังไม่นิยมทำกัน (หรือยังทำไม่ได้?) หรือมีเหตุผลอย่างไร เช่น-ระหว่างคนไข้รู้สึกตัวกับคนไข้หมดความรู้สึก มีผลต่างต่อการรักษาหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าศึกษา

………….

(*) “กีฬาหกคะเมน” แปลจากคำว่า “โมกฺขจิกา” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลศัพท์นี้ว่า tumbling, turning somersaults, an acrobatic feat (หกคะเมน, ตีลังกา, ท่ากายกรรมแปลกๆ) น่าจะเป็นกีฬาที่เราเรียกกันว่า ยิมนาสติก หรือกายกรรม (gymnastics, calisthenics)

………….

แปลจาก: จีวรขันธกะ มหาวรรค วินัยปิฎก

พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๓๓-

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓ เมษายน ๒๕๖๓

๑๔:๐๕

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *