บาลีวันละคำ

อมราวิกเขปิกะ (บาลีวันละคำ 4,230)

อมราวิกเขปิกะ

สมณะกะล่อน

ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่งกล่าวถึงหนังสือ “พระธรรมเจดีย์ (กี) พระผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน” ซึ่ง ส. ศิวรักษ์ เป็นผู้เขียน ก็นึกขึ้นมาว่า “กะล่อน” ในความหมายนี้คำบาลีว่าอย่างไร?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กะล่อน ๒ : (คำวิเศษณ์) อาการที่พูดคล่อง แต่ไม่จริงเป็นส่วนมาก.”

ผู้เขียนบาลีวันละคำนึกถึงคำบาลีได้คำหนึ่ง คือคำว่า “อมราวิกเขปิก” เขียนแบบไทยเป็น “อมราวิกเขปิกะ” อ่านว่า อะ-มะ-รา-วิก-เข-ปิ-กะ แยกศัพท์เป็น อมรา + วิกฺเขป + อิก ปัจจัย

(๑) “อมรา” 

บาลีอ่านว่า อะ-มะ-รา รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ไม่, ไม่ใช่) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + (อะ) ปัจจัย, แปลง เป็น + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: + มรฺ = นมร + = นมร > อมร + อมรา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่มีความตาย

ศัพท์ทั่วไปที่เราคุ้นกันคือ “อมร” ในภาษาบาลี ถ้าเป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง เทวดา, เทพเจ้า; เทพยดา, พระเจ้า (divinity; divine being, deity) ถ้าเป็นคุณศัพท์หมายถึง ไม่เสื่อมสูญ, ไม่ตาย (not mortal, not subject to death) 

บาลี “อมร” สันสกฤตก็เป็น “อมร” เหมือนกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

อมร : (คำนาม) เทพดา, ผู้ไม่ตาย; ปรอท; วิมานของพระอินทร์; เสาเรือน; อุทร; สายสะดือ; หญ้าแพรก; a deity; an immortal; quicksilver; the residence of Indra; a house post; the womb; the umbilical cord or navel-string; bent grass; – (คำวิเศษณ์) ไม่ตาย; immortal.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อมร, อมร– : (คำนาม) ผู้ไม่ตาย, เทวดา. (คำวิเศษณ์) ไม่ตาย, ไม่เสื่อมสูญ, ยั่งยืน. (ป., ส.).”

ในที่นี้ อมร + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เป็น “อมรา” เป็นชื่อปลาชนิดหนึ่ง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ให้ความหมายของ “อมรา” ไว้ว่า a kind of slippery fish, an eel [?] (ปลาชนิดหนึ่งมีลักษณะลื่น, ปลาไหล [?]) 

(๒) “วิกฺเขป

อ่านว่า วิก-เข-ปะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ขิปฺ (ธาตุ = ซัดไป) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (วิ + กฺ + ขิป), แผลง อิ ที่ ขิ-(ปฺ) เป็น เอ (ขิปฺ > เขป)

: วิ + กฺ + ขิปฺ = วิกฺขิปฺ + = วิกฺขิป > วิกฺเขป แปลตามศัพท์ว่า “ความซัดส่ายไปมา”

วิกฺเขป” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความไม่สงบ, ความยุ่งเหยิง (disturbance, derangement)

(2) ความพิศวง, ความงงงวย (perplexity, confusion)

(3) จิตผิดหวังหรือยุ่ง, จิตไม่สมดุล, จิตไม่สมประกอบ (upset of mind, unbalanced mind, mental derangement)

(4) ถ้าประกอบกับคำว่า “วาจา” เป็น “วาจาวิกฺเขป” มีความหมายว่า คำพูดที่ดิ้นได้, วาจาไม่มีสาระ (equivocation, senseless talk)

อมรา + วิกฺเขป = อมราวิกฺเขป แปลว่า “ซัดส่ายเหมือนปลาไหล”

(๓) อมราวิกฺเขป + อิก = อมราวิกฺเขปิก (อะ-มะ-รา-วิก-เข-ปิ-กะ) แปลว่า “ผู้มีวาทะซัดส่ายไปมาเหมือนปลาไหล” 

อมราวิกฺเขปิก” เขียนแบบไทยเป็น “อมราวิกเขปิกะ” หมายความว่า คนพูดจากะล่อน ตรงกับสำนวนไทยที่ว่า “ลื่นเหมือนปลาไหล” 

พอดีพอร้าย สำนวนไทย “ลื่นเหมือนปลาไหล” อาจได้มาจากบาลีคำนี้ก็เป็นได้

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎก มีพุทธพจน์ที่ตรัสถึงสมณพราหมณ์ประเภท “อมราวิกเขปิกะ” ไว้ในพระสูตรหนึ่ง ดังนี้ –

…………..

สนฺติ  ภิกฺขเว  เอเก  สมณพฺราหฺมณา  อมราวิกฺเขปิกา  ตตฺถ  ตตฺถ  ปณฺหํ  ปุฏฺฐา  สมานา  วาจาวิกฺเขปํ  อาปชฺชนฺติ  อมราวิกฺเขปํ  จตูหิ  วตฺถูหิ  ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีความเห็นดิ้นได้ไม่ตายตัว เมื่อถูกถามปัญหาในเรื่องนั้น ๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัวด้วยข้ออ้าง 4 แบบ

ที่มา: พรหมชาลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 39

…………..

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินีไขความคำว่า “อมราวิกฺเขปิกา” ในพระไตรปิฎกไว้ว่า 

…………..

อมรา  นาม  เอกา  มจฺฉชาติ  ฯ  สา  อุมฺมุชฺชนนิมุชฺชนาทิวเสน  อุทเก  สนฺธาวมานา  คเหตุํ  น  สกฺกา  

ปลาชนิดหนึ่งชื่อ อมรา (แปลว่าปลาไหล) ปลาไหลนั้นเมื่อแล่นไปในน้ำด้วยการผุดขึ้นและดำลงเป็นต้น ใคร ๆ ไม่อาจจับได้ 

เอวเมว  อยํปิ  วาโท  อิโต  จิโต  จ  สนฺธาวติ  คาหณํ  น  อุปคจฺฉตีติ  อมราวิกฺเขโปติ  วุจฺจติ  ฯ  

แม้วาทะนี้ก็เหมือนปลาไหล แถไปข้างโน้นข้างนี้ ไม่เข้าถึงอาการที่จะจับไว้ได้ (คือไล่ไม่จน) เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า “อมราวิกเขปะ” 

โส  เอเตสํ  อตฺถีติ  อมราวิกฺเขปิกา  ฯ

สมณะหรือพราหมณ์ที่ชื่อว่า “อมราวิกเขปิกะ” เพราะมีทัศนคติและวาทะดิ้นได้เหมือนปลาไหล

ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 1 หน้า 172-173

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กะล่อนเพื่อชาติ อาจจะพอให้อภัย

: ถ้ากะล่อนเพื่อตัวเองเมื่อไร เมื่อนั้นก็หมดดี

#บาลีวันละคำ (4,230)

11-1-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *