บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ชุดหมอชีวก

พญาอินทรีเข้าถ้ำสิงห์ (๑)

————————-

เกริ่น

……

จากมคธรัฐ ขีดเส้นตรงไปทางตะวันตกให้จรดมหาสมุทรอินเดีย แล้วถอยกลับมาประมาณครึ่งทาง มีรัฐมหาอำนาจอีกรัฐหนึ่งคือรัฐอวันตี เมืองหลวงชื่ออุชเชนี (คอหนังสือกามนิตคงจำได้ว่า กามนิตเป็นชาวเมืองอุชเชนีแห่งนี้) พระราชาแห่งแคว้นนี้มีพระนามว่า พระเจ้าปัชโชต

พระเจ้าปัชโชตทรงมีนิสัยดุร้าย จึงได้รับพระสมัญญานามว่า “จัณฑปัชโชต” แปลว่า ปัชโชตจอมโหด

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๒ สามาวตีวัตถุ เล่าว่า ในอดีตชาติ พระเจ้าปัชโชตเกิดเป็นคนรับใช้ของนายคนหนึ่ง เช้าวันหนึ่งนายไปทำธุระนอกเมือง ขากลับเข้าเมืองได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งที่ประตูเมือง (เป็นยุคสมัยที่โลกยังว่างจากพระพุทธศาสนา) พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านเข้าไปบิณฑบาตในเมือง แต่เกิดเหตุพิกลไม่มีคนใส่บาตรเลย ท่านจึงออกจากเมืองทั้งบาตรเปล่า

นายคนนั้นซักถาม ทราบว่าท่านยังไม่ได้รับภัตตาหารเลยก็เกิดศรัทธาจะถวายอาหาร แต่ไม่แน่ใจว่าที่บ้านเตรียมอาหารสำหรับตนเองเสร็จหรือยัง จึงขอให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารอที่ประตูเมืองสักครู่ก่อน แล้วรีบกลับบ้านซึ่งอยู่ในเมือง

ถึงบ้าน รู้ว่าอาหารของตนทางบ้านทำเสร็จแล้ว จึงบอกคนรับใช้ให้รีบวิ่งไปที่ประตูเมืองขอรับบาตรจากพระปัจเจกพุทธเจ้ามา

ขณะนั้นสายใกล้เที่ยง พระปัจเจกพุทธเจ้าเหลือเวลาเพียงเล็กน้อยที่จะฉันภัตตาหาร คนรับใช้จึงต้อง “ทำเวลา” เต็มกำลังถึง ๓ เที่ยว

เที่ยวที่ ๑ วิ่งตัวเปล่าจากบ้านนายไปที่ประตูเมือง

เที่ยวที่ ๒ รับบาตรจากพระปัจเจกพุทธเจ้า ถือบาตรเปล่าวิ่งจากประตูเมืองกลับไปที่บ้านนาย

เที่ยวที่ ๓ นายใส่อาหารเต็มบาตร ประคองบาตรวิ่งจากบ้านนายไปที่ประตูเมือง

ยามสายใกล้เที่ยง แดดกำลังกล้า คนรับใช้วิ่ง ๓ เที่ยวไม่หยุดเลย เหนื่อยสุดชีวิต ถวายบาตรให้พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วตั้งความปรารถนา ๓ ประการต่อหน้าพระปัจเจกพุทธเจ้า

๑ เกิดทุกภพทุกชาติ ขอให้มีพาหนะที่วิ่งได้เร็วที่สุด

๒ เกิดทุกภพทุกชาติ ขอให้มีอำนาจเรืองเดชดังดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน

๓ ในชาติที่สุด ขอให้ได้บรรลุธรรมดังที่พระปัจเจกพุทธเจ้าได้บรรลุแล้วนั้นเถิด

พระปัจเจกพุทธเจ้าอำนวยพรว่า “เอวํ  โหตุ” จงเป็นเช่นนั้นเถิด

แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ทุกภพทุกชาติ

ชาตินี้มาเกิดเป็นพระเจ้าปัชโชต ครองแคว้นอวันตี มีอำนาจเรืองเดช ไม่ดุก็เหมือนดุ คนเกรงขามทั้งแผ่นดิน มีพาหนะที่ขึ้นชื่อ ๔ อย่าง ๕ ชีวิต คือ

(๑) ช้างพังชื่อภัททวดี เดินทางได้วันละ ๕๐ โยชน์

(๒) มหาดเล็กประจำพระองค์ ชื่อกากะ เดินเท้าได้วันละ ๖๐ โยชน์

(๓-๔) ม้า ๒ ตัว ชื่อม้าเวลกังสีและม้ามุญชเกสิ วิ่งทางไกลได้วันละ ๑๐๐ โยชน์

(๕) ช้างนาฬาคิรี เดินทางได้วันละ ๑๒๐ โยชน์

พระเจ้าปัชโชตมีพระราชธิดาโฉมงาม นามวาสุลทัตตา ต่อมาได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนแห่งกรุงโกสัมพีแคว้นวังสะ เรื่องนี้มีเบื้องหลังที่หักเหลี่ยมเฉือนคมกันอย่างน่าตื่นเต้น ผู้สนใจใคร่รู้ โปรดศึกษาได้จากคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๒

หรือท่านที่ศึกษาแล้ว ถ้าจะมีศรัทาอุตสาหะนำมาแปลสู่กันอ่าน ก็จะเป็นอลังการแห่งสติปัญญาได้อีกส่วนหนึ่ง – ขออนุโมทนาล่วงหน้า

สมัยนั้น แคว้นอวันตีกับแคว้นมคธเป็นสัมพันธมิตรกันเป็นอันดี

มาเกิดเหตุให้พญาอินทรี-หมอชีวก ต้องเข้าถ้ำสิงห์ก็เมื่อ-อยู่มาคราวหนึ่ง พระเจ้าปัชโชตเกิดประชวรด้วยโรค “ปณฺฑุโรคาพาธ” ซึ่งนักปราชญ์แปลกันว่า-โรคผอมเหลือง (jaundice)

เรื่องราวเป็นประการใด อดใจรออ่านตอนหน้า

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๔ เมษายน ๒๕๖๓

๑๕:๔๓

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *