บาลีวันละคำ

ยมราช (บาลีวันละคำ 1,839)

ยมราช

ผู้ยิ่งใหญ่ในโลกแห่งความตาย

อ่านว่า ยม-มะ-ราด

แยกศัพท์เป็น ยม + ราช

(๑) “ยม

บาลีอ่านว่า ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก ยมฺ (ธาตุ = ระวัง, เลี้ยงดู, ปรนปรือ) + ปัจจัย

: ยมฺ + = ยม แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้คอยระวังเหล่าสัตว์” คือใครทำกรรมอย่างไร ควรไปเสวยผลในภพภูมิไหน ก็นำไปส่งยังภพภูมินั้น เหมือนคนดูแลสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในที่ในทาง

(2) “ผู้ปรนปรือ” คือคอยรับใช้มัจจุราชด้วยการนำคนถึงที่ตายไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ยม” ว่า the ruler of the kingdom of the dead (ผู้ปกครองอาณาจักรแห่งคนตาย)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ยม” บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ยม : (คำนาม) ลูกแฝด; การห้ามหรือระงับ; การงดเว้น, วิรามหรือวิรติ; คู่; ชื่อของพระเสาร์; พระยมหรือยมบาล (ผู้เปนเจ้าเปนใหญ่ในยมโลก); กาก์; วิราม, สิทธิหรือความเสร็จสิ้น; a twin; restraining or controlling; refraining, forbearance; a pair, a brace, a couple; a name of the planet Saturn; the deity of Naraka or hell; a crow; cessation, finish or end.”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “ยม” เป็นอังกฤษดังนี้ –

ยม (Yama) : the Lord of the Underworld; ruler of

the kingdom of the dead; death.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ยม ๒, ยม– : (คำนาม) เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ประจําโลกของคนตาย; ชื่อดาวเคราะห์แคระในระบบสุริยะ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อยู่ห่างดวงอาทิตย์ประมาณ ๕,๙๐๐ ล้านกิโลเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ระหว่าง ๒,๕๘๐ ถึง ๓,๕๓๐ กิโลเมตร ทางโคจรเป็นวงรีมาก ทําให้ส่วนหนึ่งของทางโคจรอยู่ภายในวงโคจรของดาวเนปจูน, ดาวพลูโต ก็เรียก. (ป., ส.).”

สรุปว่า “ยม” ในที่นี้หมายถึง ความตาย หรือโลกแห่งความตาย (death, world of the dead) ไม่ใช่นรกหรือสวรรค์โดยเฉพาะ

(๒) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ปัจจัย, ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา

: รญฺชฺ + = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

ยม + ราช = ยมราช แปลตามศัพท์ว่า “ราชาแห่งยมโลก” หรือ “พญายม” = ผู้เป็นใหญ่แห่งยมโลก

แต่หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงรากศัพท์ของ “ยมราช” ไว้ว่า –

ยม (พญายม) + ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + ปัจจัย

: ยม + ราชฺ = ยมราชฺ + = ยมราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองอยู่ในหมู่ผู้คอยรับใช้ซึ่งมีพญามัจจุราชเป็นต้น

คำแปลนี้หมายความว่า พระยมมีเทพผู้คอยรับใช้หลายองค์ เช่น มัจจุ หรือที่เรามักเรียกกันว่ามัจจุราชเป็นต้น (มัจจุราชเป็นผู้รับใช้พระยม) พระยมจึงเป็นผู้รุ่งเรือง คือมีเดชมีอำนาจยิ่งใหญ่ในหมู่ผู้รับใช้เหล่านั้น

ตามนัยนี้ “ราช” ไม่ได้แปลว่า “ราชา” หรือ “พญา” แต่แปลว่า “ผู้รุ่งเรือง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ยมราช” บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ยมราช, ยมราชฺ : (คำนาม) พระยม, ผู้เปนเจ้าเปนใหญ่ในยมโลก; Yama, the Indian Pluto, or god of the nether or world.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ยมราช : (คำนาม) เทพผู้เป็นใหญ่ประจํายมโลก. (ป., ส.).”

…………..

อภิปราย :

ในบทกรวดน้ำ “อิมินา ปุญฺญกมฺเมน” มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ยโม มิตฺตา มนุสฺสา จ” (ยะโม มิตตา มะนุสสา จะ)

ยโม” (ยะโม) นี่ก็หมายถึง “ยมราช” นั่นเอง

ยโม” เป็นรูปคำเอกพจน์ ตามบทนี้ก็คือยมราชมีองค์เดียว

แต่ในพระคาถาชินบัญชรที่เผยแพร่กันทั่วไป มีผู้เติมข้อความ “ปุตตะกาโม ละเภ ปุตตัง” อ้างว่าเป็นคำบูชาสมเด็จโตบ้าง เป็นคำระลึกถึงสมเด็จโตบ้าง (แต่ความจริงข้อความที่เติมเข้าข้างหน้าก่อนจะถึงตัวบทชินบัญชรนั้นไม่ใช่ทั้งคำบูชาและคำระลึกถึงสมเด็จโต เป็นการพูดด้วยความไม่เข้าใจของผู้เติม) มีคำบาลีประสมไทยตอนหนึ่งว่า “ยมราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ” (ยะมะราชาโน …) นี่ก็หมายถึง “ยมราช” เช่นกัน

แต่ “ยมราชาโน” ในที่นี้เป็นรูปคำพหูพจน์ แสดงว่าผู้คิดคำนี้ขึ้นมาเข้าใจว่า “ยมราช” มีหลายองค์

นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การแต่งหรือเติมอะไรขึ้นมาใหม่โดยไม่ศึกษาของเดิมย่อมเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งยุ่งเหยิงขึ้นมาได้

ต่อไปก็ต้องมีผู้แต่งนิยายรองรับว่า “ยมราช” นั้นบางตำราก็ว่ามีองค์เดียว บางตำราก็ว่ามีหลายองค์ กลายเป็นตำนานหรือลัทธิความเชื่อแปลกๆ ต่อไปอีก

…………..

ยมราช” เคยใช้เป็นราชทินนามขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ในนาม “พระยายมราช” และ “เจ้าพระยายมราช

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่อยากตาย

: อย่าเกิด

22-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย