บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ชุดหมอชีวก

พญาอินทรีเข้าถ้ำสิงห์ (๒)

————————

พระเจ้าปัชโชต ราชาแห่งอุชเชนี ประชวรด้วยโรค “ปณฺฑุโรคาพาธ” ซึ่งนักปราชญ์แปลกันว่า-โรคผอมเหลือง (jaundice)

น่าประหลาดที่หมอในกรุงอุชเชนีไม่สามารถรักษาโรคนี้ได้ ต้องร้อนถึงหมอชีวกจนได้

เชิญสดับสำนวนจากพระไตรปิฎก แปลแบบไม่ตอกไข่ ไม่ใส่สี รสเดิมแท้ๆ จากบาลี มีกลิ่นโรตีพอหอมปากหอมคอ

…………………

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนีทรงประชวรโรคผอมเหลือง นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ขนเงินไปเป็นอันมาก (*)

…………………

(*) อธิบายแทรก

ญาติมิตรที่ได้อ่านมาตั้งแต่ตอนต้นๆ คงระลึกได้ว่า เมื่อคราวภรรยาเศรษฐีเมืองสาเกตป่วย และเศรษฐีเมืองราชคฤห์ป่วย พระไตรปิฎกก็ใช้สำนวนแบบนี้

ภาษาบาลีต้นฉบับว่า –

พหู  มหนฺตา  มหนฺตา  ทิสาปาโมกฺขา  เวชฺชา  อาคนฺตฺวา  ติกิจฺฉนฺตา  นาสกฺขึสุ  อโรคํ  กาตุํ  พหุํ  หิรญฺญํ  อาทาย  อคมํสุ.

แปลตามศัพท์ว่า – หมอใหญ่ๆ ที่เป็นทิศาปาโมกข์หลายคนมารักษา ก็ไม่อาจจะทำให้หายโรคได้ รับเอาเงินจำนวนมากไปแล้ว

พูดภาษาง่ายๆ ก็ว่า-หมอที่มีชื่อเสียงหลายหมอมารักษาก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ หมดเงินไปเป็นอันมาก

รูปประโยคภาษาบาลีเช่นนี้ในวงการนักเรียนบาลีเรียกกันว่าเป็น “ประโยคแบบ” ชนิดหนึ่ง คือเมื่อจะบรรยายความว่าใครป่วยหมอรักษาไม่หาย ก็จะต้องใช้ถ้อยคำบรรยายแบบนี้

…………………

ครั้งนั้น พระเจ้าปัชโชตได้ส่งราชทูตถือพระราชสาส์นไปยังราชสำนักพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามคธราช มีใจความว่า

“หม่อมฉันเจ็บป่วยเป็นเช่นนี้ ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ขอพระองค์โปรดสั่งหมอชีวกให้ไปรักษาหม่อมฉันเถิด”

จึงพระเจ้าพิมพิสารได้ดำรัสสั่งหมอชีวกว่า

“ไปเถิดพ่อชีวก เจ้าจงไปเมืองอุชเชนี รักษาพระเจ้าปัชโชตเถิด”

หมอชีวกทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า “รับด้วยเกล้า พระพุทธเจ้าข้า”

ครั้นแล้วจึงเดินทางไปเมืองอุชเชนี เข้าเฝ้าพระเจ้าปัชโชต ตรวจดูอาการประชวรแล้วได้กราบทูลว่า

“ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าจักหุงเนยใส พระองค์จะต้องเสวยเนยใส”

พระเจ้าปัชโชตรับสั่งห้ามว่า

“อย่าเลยพ่อชีวก เธอเว้นเนยใสเสียอาจรักษาเราให้หายโรคได้ด้วยวิธีใด จงทำวิธีนั้นเถิด เนยใสเป็นของน่าเกลียดน่าสะอิดสะเอียนสำหรับเรา”

ครั้นแล้ว หมอชีวกก็เกิดความคิดขึ้นว่า

“พระราชาพระองค์นี้ทรงประชวรด้วยโรคเช่นนี้ เว้นเนยใสเสียไม่อาจรักษาให้หายได้ เอาละ เราควรหุงเนยใสให้มีสี กลิ่น รส เหมือนน้ำฝาด”

คิดดังนี้แล้วจึงได้หุงเนยใสด้วยเภสัชนานาชนิด ให้มีสี กลิ่น รส

 เหมือนน้ำฝาด (*)

(*ความตอนนี้แสดงให้เห็นว่า หมอชีวกไม่ใช่เป็นเพียง “หมอ” ที่ทำหน้าที่รักษาไข้ตามที่เราเข้าใจกันในบัดนี้เท่านั้น หากแต่ยังเป็น “เภสัชกร” ตามความหมายตรงตัว นั่นคือสามารถปรุงยาหรือประกอบตัวยาได้เองอีกด้วย)

ครั้นแล้ว หมอชีวกก็ฉุกคิดได้ว่า

“เนยใสที่พระราชาพระองค์นี้เสวยแล้ว เมื่อย่อยจักทำให้เรอ ท้าวเธอทรงเป็นกษัตริย์ที่ดุร้าย จะพึงรับสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้ ถ้ากระไรเราพึงหาทางหนีทีไล่ไว้ก่อน”

วันต่อมาจึงเข้าเฝ้าพระเจ้าปัชโชต กราบทูลแด่ท้าวเธอว่า

“ขอเดชะ ธรรมดาพวกข้าพระพุทธเจ้าที่เป็นแพทย์ จำเป็นจะต้องถอนรากไม้มาประกอบยาตามเวลาที่สมุนไพรนั้นจะออกสรรพคุณ ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงทรงมีพระบรมราชโองการตรัสสั่งเจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและที่ประตูทั้งหลายว่า ‘หมอชีวกต้องการไปด้วยพาหนะใด จงไปด้วยพาหนะนั้น ปรารถนาไปทางประตูใด จงไปทางประตูนั้น ต้องการไปเวลาใด จงไปเวลานั้น ปรารถนาจะเข้ามาเวลาใด จงเข้ามาเวลานั้น’ ” (*)

…………………

(*) อธิบายแทรก

ความตอนนี้แสดงให้เห็นว่า หมอชีวกวางแผนหนีไว้แล้ว ความจริงหมอชีวกน่าจะวางแผนไว้แล้วตั้งแต่รู้ภารกิจว่าจะต้องไปรักษาพระเจ้าปัชโชตโน่นแล้ว เพราะความโหดของพระองค์เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ยิ่งเมื่อตรวจดูอาการและแน่ใจว่าต้องใช้ยาที่เข้าเนยใส หมอชีวกเป็นคนรอบคอบในการศึกษาบุคลิกของคนไข้อยู่แล้ว ต้องรู้ว่าพระเจ้าปัชโชตไม่ถูกโรคกับเนยใส เพราะฉะนั้นกระบวนการรักษาจะต้องวางแผนอย่างรัดกุม นั่นคือไม่ใช่รักษาคนไข้อย่างเดียว แต่ต้องรักษาชีวิตของตัวเองด้วย จะว่าไปแล้วภารกิจครั้งนี้ รักษาโรคเป็นเรื่องเล็ก รักษาชีวิตหมอต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่ และหมอชีวกต้องผ่านให้ได้ทั้งสองด่านด้วยสติปัญญาของตัวเอง-และด้วยตัวคนเดียวเท่านั้น

…………………

จึงพระเจ้าปัชโชตก็ได้มีพระราชดำรัสสั่งเจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและที่ประตูทั้งหลาย ตามที่หมอชีวกกราบทูลขอบรมราชานุญาตไว้ทุกประการ

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตมีช้างพังชื่อภัททวติกา (*) เดินทางได้วันละ ๕๐ โยชน์ (*คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาออกชื่อช้างว่า “ภัททวตี”)

จึงหมอชีวกได้ทูลถวายเนยใสที่ปรุงรสตามความคิดของตนนั้นแด่พระเจ้าปัชโชต โดยกราบทูลว่า

“ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงเสวยน้ำฝาด”

ครั้นให้พระเจ้าปัชโชตเสวยเนยใสแล้ว หมอชีวกก็ไปยังโรงช้าง หนีออกจากพระนครไปโดยช้างพังภัททวติกา

ขณะเดียวกันนั้น เมื่อเนยใสที่พระเจ้าปัชโชตเสวยนั้นย่อย ได้ทำให้ทรงเรอขึ้น (จึงทรงรู้ว่าที่เสวยเข้าไปนั้นคือเนยใส)

จึงพระเจ้าปัชโชตได้รับสั่งแก่พวกมหาดเล็กว่า

“พวกเอ็งเว้ย ข้าถูกหมอชีวกชาติชั่วลวงให้ดื่มเนยใส เฮ้ย พวกเจ้าจงค้นจับหมอชีวกมาเร็วไว”

พวกมหาดเล็กกราบทูลว่า “หมอชีวกหนีออกจากพระนครไปโดยช้างพังภัททวติกาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตมีมหาดเล็กชื่อ กากะ ซึ่งอาศัยเกิดกับอมนุษย์ เดินทางได้วันละ ๖๐ โยชน์

จึงพระเจ้าปัชโชตดำรัสสั่งกากะมหาดเล็กว่า

“เฮ้ยเจ้ากากะ เจ้าจงไปเอาตัวหมอชีวกกลับมา บอกว่า ‘ท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เชิญท่านกลับไป’ แต่ขึ้นชื่อว่าหมอพวกนี้มีเล่ห์เหลี่ยมมาก เพราะฉะนั้นเจ้าอย่ารับของอะไรๆ ของมัน”

ครั้งนั้น กากะมหาดเล็กได้เดินไปทันหมอชีวกซึ่งกำลังรับประทานอาหารมื้อเช้าระหว่างทางในเขตพระนครโกสัมพี (*โกสัมพีเป็นเมืองหลวงแคว้นวังสะ อวันตีกับวังสะมีพรมแดนติดต่อกัน) จึงได้บอกแก่หมอชีวกว่า “ท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เชิญท่านกลับไป”

“พ่อกากะ ท่านจงรออยู่เพียงชั่วเวลาที่เรารับประทานอาหาร เชิญท่านรับประทานอาหารด้วยกันสิ”

“ช่างเถิดท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งข้าพเจ้าไว้ว่า ‘เจ้ากากะ ขึ้นชื่อว่าหมอพวกนี้มีเล่ห์เหลี่ยมมาก เพราะฉะนั้นเจ้าอย่ารับของอะไรๆ ของมัน’ ”

ทันใดนั้น หมอชีวกเอาเล็บที่มียาพิษจิกลงไปที่ผลมะขามป้อม พลางกัดมะขามป้อมไปครึ่งผลแล้วเคี้ยวกินและดื่มน้ำ ครั้นแล้วได้ร้องเชื้อเชิญกากะมหาดเล็กว่า “เชิญพ่อกากะกินมะขามป้อมและดื่มน้ำเถิด”

กากะมหาดเล็กคิดว่า

“หมอคนนี้กินมะขามป้อมและดื่มน้ำอย่างเดียวกันนี่เอง คงไม่มีอะไรจะให้โทษ”

คิดแล้วจึงรับมะขามป้อมครึ่งผลมากิน และดื่มน้ำ

มะขามป้อมครึ่งผลที่เขากินนั้นได้ระบายอุจจาระออกมาในที่นั้นเอง

ครั้งนั้น กากะมหาดเล็กได้ถามหมอชีวกว่า “ท่านอาจารย์ ชีวิตของข้าพเจ้าจะรอดไปได้หรือ?”

หมอชีวกตอบว่า

“อย่ากลัวเลยพ่อกากะ ท่านจักไม่มีอันตราย แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงเหี้ยมโหดดุร้าย จะพึงรับสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้ เพราะฉะนั้น เราไม่กลับละ”

ว่าแล้วหมอชีวกก็มอบช้างพังภัททวติกาแก่นายกากะ แล้วเดินทางกลับเมืองราชคฤห์ รอนแรมไปโดยลำดับ ถึงเมืองราชคฤห์แล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบทุกประการ

พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งว่า “พ่อชีวก เจ้าไม่กลับไปนั้นชื่อว่าได้ทำถูกแล้ว เพราะพระราชาองค์นั้นเหี้ยมโหด จะพึงสั่งให้สำเร็จโทษเจ้าเสียก็ได้”

…………………

ครั้นพระเจ้าปัชโชตทรงหายประชวรแล้ว ทรงระลึกถึงคุณของหมอชีวก จึงส่งราชทูตไปหาหมอชีวกว่า “เชิญหมอชีวกมา เราจักปูนบำเหน็จให้”

หมอชีวกกราบทูลตอบไปว่า “ไม่ต้องไปก็ได้พระพุทธเจ้าข้า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงโปรดอนุสรณ์ถึงความดีของข้าพระพุทธเจ้าเถิด”

ก็โดยสมัยนั้นแล ผ้าสิไวยกะคู่หนึ่งบังเกิดแก่พระเจ้าปัชโชต ผ้าสิไวยกะเป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐ มีชื่อเด่น อุดม และยอดเยี่ยม (*) กว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมากตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่

…………………

(*) อธิบายแทรก

ต้นฉบับบรรยายคุณภาพของผ้าชนิดนี้ด้วยคำว่า อคฺคํ  เสฏฺฐํ  ปาโมกฺขํ  อุตฺตมํ  ปวรํ ผมหมดปัญญาที่จะแปลให้ได้อรรถรสเต็มตามต้นฉบับ ขอยกคำแปลที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษแปลศัพท์เหล่านี้เป็นอังกฤษมาเสนอเทียบไว้ คนสมัยใหม่ที่คุ้นคำฝรั่งอาจจะเข้าใจความหมายได้ลึกซึ้งตรงตามต้นฉบับบาลีก็เป็นได้

อคฺค = illustrious, excellent, the best, highest, chief

เสฏฺฐ = best, excellent

ปาโมกฺข = chief, first, excellent, eminent

อุตฺตม = utmost, highest, greatest, best

ปวร = most excellent, noble, distinguished

…………………

ครั้งนั้น พระเจ้าปัชโชตได้ทรงส่งผ้าสิไวยกะคู่นั้นไปพระราชทานแก่หมอชีวก

จึงหมอชีวกได้มีความดำริว่า “ผ้าสิไวยกะคู่นี้พระเจ้าปัชโชตส่งมาพระราชทาน เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐ มีชื่อเด่น อุดม และยอดเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมากตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่ นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น หรือพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามคธราชแล้ว ใครอื่นไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้ผ้าสิไวยกะคู่นี้”

…………………

สรุปเรื่องต่อจากนี้ก็คือ ในที่สุดหมอชีวกก็น้อมนำผ้าสิไวยกะที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าปัชโชตถวายแด่พระพุทธองค์ พร้อมทั้งทูลขอให้ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้สอยจีวรสำเร็จรูปที่มีผู้ถวายได้ด้วย

เหตุที่ต้องทูลขอเช่นนี้ก็เพราะธรรมเนียมเดิมนั้นพระภิกษุจะใช้จีวรที่เป็น “ผ้าบังสุกุล” เท่านั้น กล่าวคือภิกษุต้องเที่ยวเก็บผ้าที่มีผู้ทิ้งแล้ว ซึ่งเรียกว่า “ผ้าบังสุกุล” มาซักย้อมเย็บเข้าเป็นผืนจีวรใช้นุ่งห่ม

อรรถกถาขยายความว่า ตั้งแต่ตรัสรู้แล้วมีผู้เข้ามาบวชเป็นพระสงฆ์สาวกจนถึงเรื่องนี้เกิดขึ้น เป็นเวลา ๒๐ ปี ภิกษุในพระพุทธศาสนาใช้สอยเฉพาะผ้าบังสุกุลเท่านั้น

เมื่อทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุใช้ผ้าที่มีผู้ถวายเพื่อทำเป็นจีวรโดยตรง ซึ่งมีคำเรียกว่า “คหบดีจีวร” ตามคำทูลขอของหมอชีวกแล้ว ชาวบ้านก็นิยมถวายจีวรสำเร็จรูปแก่ภิกษุกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในพระพุทธพจน์ที่เป็นพุทธานุญาตนั้นได้ตรัสกำกับไว้ด้วยว่า

โย  อิจฺฉติ  ปํสุกูลิโก  โหตุ,

โย  อิจฺฉติ  คหปติจีวรํ  สาทิยตุ,

อิตรีตเรน  จาหํ  ภิกฺขเว  สนฺตุฏฺฐึ วณฺเณมิ.

(พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๓๕)

แปลความว่า –

ภิกษุรูปใดปรารถนาจะใช้ผ้าบังสุกุลก็จงใช้

รูปใดพอใจคหบดีจีวรก็จงใช้ตามปรารถนา

แต่เราตถาคตสรรเสริญการยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้

………….

เป็นอันว่าหมอชีวกไปรักษาอาการประชวรของพระเจ้าปัชโชตแห่งอุชเชนี แล้วใช้สติปัญญาไหวพริบเอาตัวรอดกลับราชคฤห์โดยสวัสดิภาพ พระเจ้าปัชโชตพระราชทานรางวัลเป็นผ้าชนิดพิเศษ หมอชีวกถวายผ้านั้นแด่พระพุทธองค์ เป็นเหตุให้ทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุใช้สอยจีวรสำเร็จรูปที่มีผู้ถวายได้สืบมาจนบัดนี้

………….

แปลจาก: จีวรขันธกะ มหาวรรค วินัยปิฎก

พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๓๔-

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๕ เมษายน ๒๕๖๓

๑๑:๒๙

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

———-

อวันตี

ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีป ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นวังสะ มีนครหลวงชื่ออุชเชนี ราชาผู้ครองอวันตีในพุทธกาล มีพระนามว่าพระเจ้าจัณฑปัชโชต; เดิมนั้นแคว้นอวันตีมีเมืองหลวงเก่าชื่อมาหิษมตี (น่าจะได้แก่เมือง Godarpura ในบัดนี้) ซึ่งตั้งอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำนัมมทา ต่อมาจึงย้ายขึ้นเหนือมาตั้งที่อุชเชนี, ในคัมภีร์บาลีบางที่ มีคำเรียกอวันตีว่า “อวันตีทักขิณาบถ” ถ้าถือแม่น้ำคงคาเป็นเส้นแบ่ง ทั้งแคว้นอวันตีก็อยู่ในทักขิณาบถ แต่ถ้าถือแม่น้ำนัมมทาเป็นเส้นแบ่ง อวันตีก็มีทั้งส่วนที่เป็นอุตราบถ และส่วนที่เป็นทักขิณาบถ คือ แถบที่ตั้งของมาหิษมตีเมืองหลวงเก่าลงไป เป็นทักขิณาบถ

———-

แคว้นอวันตี

http://www.dhammahansa.com/avanti.php

แคว้นอวันตี ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเทือกเขาวินธัยหรือวินธยะ ทางใต้ของแคว้นมัจฉะ และทางตะวันตกของแคว้นวังสะ เทือกเขาวินธัย ถือเป็นแดนกำ หนดเขตที่เรียกกันว่า อินเดียตอนเหนือและอินเดียตอน ใต้ ผู้รู้ในปัจจุบันทั่วไปมีความเห็นว่า เขตของมัชฌิมประเทศแห่งชมพู ทวีปในสมัยพุทธกาล ด้านทิศใต้คงแค่จรดเทือกเขาวินธัยลงไป จึงจัด ว่าอยู่นอกเขตมัชฌิมประเทศ เขตแคว้นอวันตีเองก็มีส่วนที่นับเข้าไป ในปัจจันตชนบท

เทียบกับปัจจุบัน เขตของแคว้นอวันตี กล่าวอย่างคราวๆ ได้แก่ อาณาเขตในบริเวณจังหวัดอุชเชนี หรือุซไซน์ นิมาร์ตะวันตก อิน โดร์ และวิทิศา รวมกับอาณาเขตใกล้เคียงด้วย ทั้งหมดอยู่ในเขตรัฐมัธย ประเทศ ซึ่งมีโภปาล เป็นเมืองหลวง คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา แคว้นอวันตีในสมัยพุทธกาลแบ่ง ออกเป็นสองส่วน คือเป็นอวันตีเหนือ ซึ่งมีอุชเชนี เป็นเมืองหลวง กับ อวันตีใต้หรืออวันติทิกขิณาปถะ มีเมืองหลวงชื่อมาหิสสติ หรือมาหิศมตี ตามที่เข้าใจแคว้นอวันตี มีเมืองชื่ออุชเชนี พระเจ้าจัณฑปัชโชติ เป็นผู้ ปกครองอุชเชนี ปัจจุบันได้แก่เมืองอุชเชน หรืออุชไชน์ ตั้งอยู่ริมฝั่ง แม่น้ำ สิปรา ส่วนมาหิสสตินั้น กล่าวว่าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ นัมมทา หรือนรทา แต่ยังไม่มีความเห็นลงกันแน่นอนเกี่ยวกับที่ตั้งของเมือง อวันติทักขิณาปถะ บาลีจัมมักขันธกะ แห่งมหาวรรค วินัยปิฏก แสดงว่าอยู่ในเขตปัจจันตชนบท ปรารภเหตุถึงการผ่อนปรนข้อปฏิบัติ พระวินัย

ในสมัยพุทธกาล อวันตีเป็นราชอาณาจักรที่รุ่งเรืองยิ่ง พระเจ้า จัณฑปัชโชติทรงเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งมาก พระองค์มีความสัมพันธ์กับ พระเจ้าพิมพิสาร แคว้นมคธ และพระเจ้าอุเทน เมืองโกสัมพี แคว้นวังสะ หลังพุทธกาล เข้าสู่ยุคอโศกมหาราช จักรพรรดิธรรมราชา

พ.ศ. ๒๑๔ (=329 BC; แต่ฝรั่งนับ=268 BC) สิ้นรัชกาลพระเจ้า พินทุสาร เจ้าชายอโศก ซึ่งเป็นอุปราชอยู่ที่กรุงอุชเชนี ในแคว้นอวันตี ดำ เนินการยึดอำ นาจโดยกำ จัดพี่น้อง ครองอำ นาจโดยยังไม่ได้อภิเษก อยู่ ๔ ปี

พ.ศ. ๒๑๘ (=325 BC; แต่ฝรั่งนับ=265 BC) พระเจ้าอโศก มหาราชราชาภิเษกแล้ว แผ่ขยายอาณาจักรออกไป จนได้แม้แต่แคว้น กลิงคะที่เข้มแข็งยิ่งยง กลายเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และมีดินแดน กว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *