บาลีวันละคำ

บัตร (บาลีวันละคำ 229)

บัตร

คำบาลีสันสกฤตที่เขียนแบบไทย อ่านว่า บัด

บัตร” บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) หมายถึง ใบไม้ (แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน”)

บัตร” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” แปลว่า ใบ, แผ่น, ใบหนังสือ, จดหมาย, ลายลักษณ์อักษรทั่วไป

เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า “ปตฺตบัตร

ในภาษาไทย คำว่า “บัตร” ใช้ต่อท้าย “คำศัพท์” ที่เป็นบาลีสันสกฤตด้วยกัน เช่น นามบัตร สิทธิบัตร ประกาศนียบัตร มรณบัตร อนุโมทนาบัตร

ถ้าใช้คำว่า “บัตร” นำหน้า คำตามหลังจะเป็นคำแสดงลักษณะของบัตรนั้นๆ เช่น บัตรประจำตัว บัตรเครดิต บัตรสนเท่ห์

มีบางคำที่บางคนมักพูดหรือเขียนซ้ำซ้อน เช่น ใบอนุโมทนาบัตร ใบมรณบัตร ใบประกาศนียบัตร

บัตร” แปลว่า “ใบ” อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเรียก “…บัตร” ก็ไม่ต้องมี “ใบ” ถ้าใช้ “ใบ…” ก็ไม่ต้องมี “บัตร

: ถ้ามีทั้งบัตรทั้งใบ ภาษาไทยก็วิบัติ

บาลีวันละคำ (229)

24-12-55

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย