บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ชุดหมอชีวก

ยาถ่ายขั้นเทพ

—————

หมอชีวกได้รับแต่งตั้งเป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์พระเจ้าพิมพิสาร ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์และฝ่ายในทั้งปวง แต่ที่สำคัญก็คือได้รับมอบหมายให้เป็นแพทย์ประจำพระพุทธองค์ รวมทั้งดูแลอาการอาพาธของภิกษุสงฆ์ทั่วไปอีกด้วย

การรักษาพระพุทธองค์ครั้งสำคัญที่เราทราบกันก็คือ คราวที่พระเทวทัตกลิ้งหินจากภูเขาคิชฌกูฏหวังจะปลงพระชนม์พระพุทธองค์ แต่พลาดไป กระนั้นสะเก็ดหินก็กระทบพระบาทถึงห้อพระโลหิต หมอชีวกแสดงฝีมือในการรักษาจนพระอาการบาดเจ็บหายเป็นปกติ

แต่มีเรื่องหนึ่งที่เราท่านอาจจะไม่ค่อยทราบ เป็นเรื่องที่มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก เป็นเรื่องหมอชีวกรักษาอาการประชวรของพระพุทธองค์ด้วยวิธีการที่แปลกประหลาด

เชิญสดับสำนวนจากพระไตรปิฎก แปลแบบไม่ตอกไข่ ไม่ใส่สี รสเดิมแท้ๆ จากบาลี มีกลิ่นโรตีพอหอมปากหอมคอ

…………………

ก็โดยสมัยนั้นแล พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ(*) จึงพระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า

“ดูก่อนอานนท์ กายของตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตต้องการจะฉันยาถ่าย”

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์จึงเข้าไปหาหมอชีวก ครั้นไปถึงแล้วได้กล่าวกะหมอชีวกว่า

“ท่านชีวก พระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ พระตถาคตต้องการจะเสวยพระโอสถถ่าย”

หมอชีวกกล่าวว่า “พระคุณเจ้า ถ้าอย่างนั้นขอท่านจงโปรดทำพระกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่นสัก ๒-๓ วันก่อน”

…………………

(*) อธิบายแทรก

คำว่า “หมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ” ต้นฉบับใช้คำว่า “โทสาภิสนฺโน” อรรถกถาวิจารณ์ความข้อนี้ไว้ว่า –

กึ  ปน  ภควโต  กาโย  ลูโข  น  ลูโข.  ภควโต  หิ  อาหาเร  สทา  เทวตา  ทิพฺโพชํ  ปกฺขิปนฺติ  สิเนหปานมฺปน  สพฺพตฺถ  โทเส  เตเมติ  สิรา  มุทุกา  กโรติ. (สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๒๒๕)

แปลว่า – ถามว่า พระกายของพระผู้มีพระภาคเศร้าหมองไปกระนั้นหรือ? ตอบว่า ไม่เศร้าหมอง เพราะว่าเทวดาย่อมแทรกทิพยโอชาลงในอาหารที่พระผู้มีพระภาคเสวยทุกมื้อ แต่ว่าไขมันก็ทำให้มีของเสียซึมอยู่ในพระสรีระทั่วไป ทำให้เส้นโลหิตอุดตัน (สิรา มุทุกา = เส้นโลหิต (bloodvessel) เปราะบาง โลหิตไหลเวียนได้ไม่เต็มที่?)

ตามเรื่องที่พระพุทธองค์ตรัสว่าต้องการจะฉันยาถ่าย เข้าใจว่าพระองค์มีอาการอย่างที่เรียกว่าท้องผูก แต่เมื่อดูคำอธิบายของอรรถกถา ไม่ได้พูดถึงท้องผูกเลย แต่กลับพูดถึงไขมัน (สิเนหปาน) และเส้นโลหิต (สิรา = bloodvessel) แต่วิธีรักษาโดยใช้ยาถ่ายก็นับว่าชอบกลอยู่ ขอผู้รู้พึงพิจารณาดูเถิดว่าพระพุทธองค์ประชวรด้วยโรคอะไรกันแน่

…………………

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ทำพระกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่น ๒-๓ วันแล้ว จึงเข้าไปหาหมอชีวก ได้กล่าวกะหมอชีวกว่า

“ท่านชีวก พระกายของพระตถาคตชุ่มชื่นแล้ว(*) บัดนี้ท่านจงรู้กาลอันควรเถิด”

…………………

(*) สินิทฺโธ  โข  อาวุโส  ชีวก  ตถาคตสฺส  กาโย คำว่า “สินิทฺธกาย” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า a body with good movement of bowels = ร่างกายที่ถ่ายท้องคล่อง

…………………

ครั้งนั้น หมอชีวกได้มีความคิดดังนี้ว่า

“การที่เราจะพึงถวายพระโอสถถ่ายที่หยาบแด่พระผู้มีพระภาคนั้นไม่สมควรเลย ถ้ากระไรเราพึงอบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วถวายพระตถาคต” (*)

…………………

(*) อรรถกถาขยายความว่า –

ตีณิ  อุปฺปลหตฺถานีติ  เอกํ  อุปฺปลหตฺถํ  โอฬาริกโทสหรณตฺถํ  เอกํ  มชฺฌิมโทสหรณตฺถํ  เอกํ  สุขุมโทสหรณตฺถํ. (สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๒๒๕)

คำว่า  ตีณิ  อุปฺปลหตฺถานิ (อุบล ๓ ก้าน) ก็คือ อุบลก้านหนึ่งเพื่อบำบัดโทษ (คือสิ่งที่หมักหมมในพระกายของพระตถาคต) อย่างหยาบ ก้านหนึ่งเพื่อบำบัดโทษอย่างปานกลาง ก้านหนึ่งเพื่อบำบัดโทษอย่างละเอียด

…………………

ครั้นแล้วจึงได้อบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วได้ถวายก้านอุบลก้านที่ ๑ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

“พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดอุบลก้านที่ ๑ นี้ การทรงสูดอุบลก้านนี้จักทำให้พระผู้มีพระภาคถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง”

แล้วได้ถวายก้านอุบลก้านที่ ๒ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

“พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดอุบลก้านที่ ๒ นี้ การทรงสูดอุบลก้านนี้จักทำให้พระผู้มีพระภาคถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง”

แล้วได้ถวายก้านอุบลก้านที่ ๓ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

“พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดอุบลก้านที่ ๓ นี้ การทรงสูดอุบลก้านนี้จักทำให้พระผู้มีพระภาคถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง ด้วยวิธีนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายถึง ๓๐ ครั้ง”

ครั้นหมอชีวกถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้วก็ถวายอภิวาท ทำประทักษิณแล้วกลับไป

………………

ขณะเมื่อหมอชีวกเดินออกไปนอกซุ้มประตูแล้ว ได้มีความคิดคำนึงดังนี้ว่า

“เราถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วจักสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้วจักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง”

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงของหมอชีวกด้วยพระทัย จึงรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า

“อานนท์ หมอชีวกกำลังเดินออกไปนอกซุ้มประตูวิหารนี้ ได้มีความคิดคำนึงดังนี้ … อานนท์ ถ้าอย่างนั้นเธอจงจัดเตรียมน้ำร้อนไว้”

พระอานนท์ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคว่า “เช่นนั้นพระพุทธเจ้าข้า” แล้วจัดเตรียมน้ำร้อนไว้ถวาย

ต่อมา หมอชีวกจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลถามว่า

“พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วหรือพระพุทธเจ้าข้า”

“เราถ่ายแล้ว ชีวก”

“พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคพระสุคตจงโปรดสรงพระกายเถิด”

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรงน้ำอุ่น ครั้นสรงแล้วทรงถ่ายอีกครั้งหนึ่ง เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้

ลำดับนั้น หมอชีวกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

“พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคไม่ควรเสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผักต่างๆ(*) จนกว่าจะมีพระกายเป็นปกติ”

…………………

(*) แปลตามที่ท่านแปลกันมา จากศัพท์ว่า ยูสปิณฺฑเกน. ยูส แปลว่า (๑) น้ำผลไม้ (juice) (๒) แกงจืด, น้ำซุป, เยื่อ (soup, broth)

…………………

ต่อมาไม่นานนัก พระกายของพระผู้มีพระภาคก็กลับเป็นปกติ

………………

สรุปความในตอนนี้ก็คือ หมอชีวกถวายพระโอสถแด่พระพุทธองค์เพื่อแก้อาการที่พระกาย “หมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ” (โทสาภิสนฺโน ซึ่งสันนิษฐานว่า ถ้าไม่ใช่ท้องผูกก็น่าจะเป็นไขมันในเส้นเลือด) กระบวนการรักษาก็คือใช้ยาถ่าย

แต่ยาถ่ายของหมอชีวกแปลกประหลาดไม่เหมือนใคร คือไม่ได้เป็นยาน้ำ ยาผง หรือยาเม็ด ไม่ใช้วิธีกินหรือทา หากแต่ใช้วิธีสูดดม กล่าวคือหมอชีวกใช้ก้านบัวหลวง (อุปฺปลหตฺถ) อบสมุนไพรตามสูตรของตน โดยอบขึ้น ๓ ก้าน

ก้านแรก เมื่อพระพุทธองค์ทรงสูดดมจะทรงถ่าย ๑๐ ครั้ง เป็นการขับเชื้อหยาบๆ ออกจากพระกาย

ก้านที่สอง เมื่อพระพุทธองค์ทรงสูดดมจะทรงถ่ายอีก ๑๐ ครั้ง เป็นการขับเชื้อที่ละเอียดขึ้นออกจากพระกาย

ก้านที่สาม เมื่อพระพุทธองค์ทรงสูดดมจะทรงถ่าย ๙ ครั้ง เป็นการขับเชื้อชนิดละเอียดที่สุดออกจากพระกาย หลังจากทรงถ่าย ๙ ครั้งแล้วจะต้องสรงน้ำก่อนจึงจะถ่ายอีกครั้งหนึ่ง

เป็นอันว่า พระพุทธองค์ทรงถ่ายทั้งสิ้น ๓๐ ครั้งจึงครบจบกระบวนการ แล้วพระกายก็สำราญเป็นปกติดังเดิม

นับเป็นกระบวนการรักษาที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก ไม่มีใครทำได้-นอกจากหมอชีวก

………….

แปลจาก: จีวรขันธกะ มหาวรรค วินัยปิฎก

พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๓๕-

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ เมษายน ๒๕๖๓

๑๖:๕๔

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *