อายัต ไม่ใช่ “อายัด” (บาลีวันละคำ 3,206)
อายัต ไม่ใช่ “อายัด”
และ “อายัด” ก็ไม่ใช่ “อายัต”
เป็นคนละคำกัน
ทำบัตร ATM หาย ต้องรีบแจ้งอา- บัตร
คำที่เว้น-ไว้นั้น เราคงพูดถูกกันทุกคนว่า อา- อะไร แต่หลายคนอาจจะเขียนไม่ถูก
“อายัด” ด เด็ก สะกด?
“อายัต” ต เต่า สะกด?
คำไหนถูก?
เปิดพจนานุกรมก็จะได้คำตอบ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อายัด : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำกริยา) ห้ามจําหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้อง.”
เป็นอันว่าคำนี้เขียนเป็น “อายัด” ด เด็ก สะกด
แต่หลายคนยังเข้าใจว่า คำนี้เขียน “อายัต” ต เต่า สะกด
“อายัต” ต เต่า สะกด ก็มีในพจนานุกรม แต่เป็นคนละคำกัน ความหมายเป็นคนละอย่างกัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อายัต : (คำวิเศษณ์) ขยัน, ขันแข็ง. (ป., ส. อายตฺต).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “อายัต” (ต เต่า สะกด) มาจากบาลีสันสกฤต
“อายัต” (ต เต่า สะกด) บาลีเป็น “อายตฺต” อ่านว่า อา-ยัด-ตะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่งขึ้น) + ยตฺ (ธาตุ = พยายาม) + ต ปัจจัย
: อา + ยตฺ = อายตฺ + ต = อายตฺต (อา-ยัด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “พยายามอย่างยิ่งแล้ว”
“อายตฺต” ในบาลีใช้เป็นคำกริยาและเป็นคุณศัพท์ด้วย มีความหมายดังนี้ –
(1) พยายาม, ขวนขวาย, เตรียมพร้อม, พากเพียร (striving, active, ready, exerted)
(2) เพียรหา, ติดตาม (striven after, pursued)
(3) ขึ้นอยู่กับ (dependent on)
บาลี “อายตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อายัต” อ่านว่า อา-ยัด
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อายตฺต” เหมือนในบาลี บอกไว้ดังนี้ –
“อายตฺต : (คำวิเศษณ์) อันว่าง่าย, สอนง่าย; docile, tractable.”
จะเห็นว่า “อายตฺต” ในสันสกฤตความหมายไม่เหมือนในบาลี
อาจกล่าวได้ว่า ถ้าเขียนเป็น “อายตฺต” อย่างนี้มีทั้งในบาลีและในสันสกฤต แต่ความหมาย (ตามที่พจนานุกรมบอกไว้) แตกต่างกัน
ภาษาไทยเอาบาลีสันสกฤตมาใช้เป็น “อายัต” ความหมายตรงกับบาลี แต่ “อายัต” ในบาลีมีความหมายมากกว่าที่ใช้ในภาษาไทย
แต่ที่แน่ๆ ความหมายในภาษาไทยที่ว่า “ห้ามจําหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้อง” หรือในกรณีที่ทำบัตร ATM หรือบัตรเครดิตหาย แล้วไปแจ้งเพื่อระงับการใช้บัตรนั้น เราพูดว่า อา-ยัด
ภาษาไทยเขียน “อายัด” ด เด็ก สะกด
ไม่ใช่ “อายัต” ต เต่า สะกด
ต่อไปอย่าเขียนผิดอีก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำความดีด้วยความซื่อสัตย์
: สวรรค์ไม่เคยอายัดผลบุญ
#บาลีวันละคำ (3,206)
23-3-64