บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ความรู้เรื่องการขบฉัน

ความรู้เรื่องการขบฉัน (๐๑)

————————–

นำร่อง

…………

อนุสนธิจากกรณีพระฉันอาหารที่เรียกกันว่า ชาบู แล้วมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือไม่ แล้วก็มีผู้แสดงความคิดเห็นกันไปต่างๆ ซึ่งส่วนมากเป็นความคิดเห็นที่มาจากความรู้สึกส่วนตัว

กรณีนี้เป็นเพียงเรื่องหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมบ้านเรา ที่นิยมแสดงความคิดเห็น แต่ไม่นิยมแสวงหาความรู้แม้ในเรื่องที่ตนกำลังแสดงความคิดเห็นอยู่นั่นเอง

เมื่อไม่หาความรู้ที่ถูกต้อง ความคิดเห็นนั้นก็ขาดหลัก กลายเป็นเรื่องต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเห็น

แล้วก็เกิดเป็นหลักที่ยึดถือกันว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น และความคิดเห็นที่แสดงออกมาตามสิทธิ์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนควรเคารพ จะเอาถูกผิดมาตัดสินไม่ได้ คือจะมาบอกว่าความคิดเห็นของใครถูก ของใครผิด อย่างนี้ไม่ได้ เพราะเป็นเสรีภาพ

กล่าวเฉพาะพระพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมีหลักที่แน่นอนที่เรียกว่า พระธรรมวินัย คณะสงฆ์หรือตัวพระภิกษุเกิดมาจากพระธรรมวินัย มีพระธรรมวินัยเป็นกรอบขอบเขต

พระห้ามทำอะไร และพระต้องทำอะไร ตัดสินกันด้วยพระธรรมวินัยเป็นหลักใหญ่ มีกฎหมายของบ้านเมือง ระเบียบของคณะสงฆ์ และจารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัยเป็นส่วนเสริม

จะเห็นได้ว่า-ไม่ใช่เรื่องที่จะบอกว่า ใครจะแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ ไม่มีถูกไม่มีผิด

แต่เป็นเรื่องที่ควรจะบอกกันว่า ใครจะแสดงความคิดเห็นอย่างไร ควรหาความรู้ในเรื่องนั้นให้แม่นยำเสียก่อนว่าอย่างไรถูกอย่างไรผิด

เวลานี้มีเสียงบ่นว่า พระธรรมวินัยเขียนเป็นภาษาบาลีสันสกฤต ชาวบ้านอ่านไม่ออก แม้จะแปลเป็นภาษาไทยก็ยังอ่านไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง ควรจะเขียนพระธรรมวินัยให้เป็นภาษาชาวบ้าน อ่านเข้าใจได้ง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องอ้างบาลีกันร่ำไป

เรื่องนี้ต้องเข้าใจประเด็นให้ถูก

ต้นฉบับพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาเถรวาทบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาสันสกฤต ควรแยกกันให้ชัด

พระไตรปิฎกภาษาบาลีนั้นมีแปลเป็นภาษาไทยแล้ว อรรถกถา (หนังสืออธิบายพระไตรปิฎก) ก็มีแปลแล้ว บุคคลทั่วไปสามารถศึกษาหาความรู้ได้ ไม่ใช่ของหวงห้าม ไม่ใช่ของศักดิ์สิทธิ์ที่สงวนไว้เฉพาะใครบางคนบางกลุ่ม

นอกจากนี้ วัดต่างๆ สำนักต่างๆ ที่เปิดสอนความรู้ในพระพุทธศาสนาก็มีอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดเปิดสอนเป็นการกุศล

สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือ ความอุตสาหะหรือฉันทะของผู้คนในการที่จะแสวงหาความรู้

และที่ขาดอย่างยิ่งก็คือ นโยบาย หรือวิธีการ หรือเทคนิคของผู้บริหารการพระศาสนาหรือบริหารบ้านเมืองที่จะชักชวน จูงใจ ปลุกเร้า ให้ผู้คนมีอุตสาหะหรือฉันทะในการที่จะแสวงหาความรู้ทางพระศาสนา

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่-ไม่มีหนังสือภาษาไทยง่ายๆ อธิบายพระธรรมวินัย

แต่ปัญหาอยู่ที่-แม้จะอธิบายพระธรรมวินัยเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็ไม่มีใครสนใจฟัง

จึงขอให้ช่วยกันคิดว่า เราขาดอะไรกันแน่

นั่นเป็นส่วนของประชาชน

แต่ในส่วนของพระภิกษุสามเณร กรณีจะเป็นคนละอย่างกัน นั่นคือ เมื่อสมัครเข้าไปบวชเป็นพระภิกษุสามเณรแล้วมีหน้าที่ต้องศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ พระอุปัชฌาย์อาจารย์ก็มีหน้าที่ต้องอบรมสั่งสอนสัทธิวิหาริกอันเตวาสิกของตนให้มีความรู้พระธรรมวินัย จะได้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ

เพราะฉะนั้น ถ้าทำอะไรไม่ถูก จะเอาแต่อ้างว่าอาตมาไม่รู้ ย่อมไม่ได้ ถ้าไม่รู้ก็ชอบที่จะขวนขวายหาความรู้

นี่เป็นความพยายามของอุบาสกคนหนึ่งที่จะหาความรู้ในพระธรรมวินัยมาบอกกล่าวแก่เพื่อนมนุษย์ ตามสติปัญญา

ถ้าญาติมิตรท่านใดเห็นว่าตรงไหนผิดพลาดคลาดเคลื่อน ขอได้โปรดทักท้วงติงเตือนกันด้วยจิตอันประกอบด้วยเมตตา เทอญ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐

:

หมายเหตุ: ภาพประกอบของ Panca Kalyana Dhamma

ตอนต่อไป – ความรู้เรื่องการขบฉัน (๐๒)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *