บาลีวันละคำ

ทวีคูณ (บาลีวันละคำ 1,868)

ทวีคูณ

อ่านว่า ทะ-วี-คูน

แยกศัพท์เป็น ทวี + คูณ

(๑) “ทวี

บาลีเป็น “ทฺวิ” ออกเสียงตามลิ้นไทยว่า ทะ-วิ เสียง ทะ แผ่วๆ และควบกับ วิ หรือออกเสียงคำว่า ทุยอิ๊ เร็วๆ จะได้เสียง ทฺวิ ที่ถูกต้องที่สุด

ทฺวิ” เป็นศัพท์สังขยา คือคำบอกจำนวน แปลว่า สอง (จำนวน ๒) (number two)

ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ทฺวิ:

ทฺวิ” ในบาลีเมื่อไปสมาสกับคำอื่นอาจแปลงรูปได้อีกอย่างน้อย 5 รูป อาจจำเป็นสูตรง่ายๆ ว่า “ทฺวิ ทิ ทุ ทฺวา พา เทฺว

ทฺวิ, ทฺวา, เทฺว 3 คำนี้อ่านเพื่อให้ได้เสียงที่ถูกต้องว่า ทุย-อิ๊, ทัว-อา, ทัว-เอ

ตัวอย่าง :

(1) “ทิ” เช่น ทิช = “เกิดสองครั้ง” คือ นก, พราหมณ์

(2) “ทุ” เช่น ทุปฏวตฺถ = ผ้าสองชั้น

(3) “ทฺวา” เช่น ทฺวาทส จำนวน 12 เช่นในคำว่า ทวาทศมาส = 12 เดือน

(4) “พา” เช่น พาวีสติ = จำนวน 22

(5) “เทฺว” เช่น เทฺวภาว = ความเป็นสอง

คำว่า “โท” ในภาษาไทยที่แปลว่า สอง ก็เป็นรูปที่กลายมาจาก ทฺวิ คือ ทฺวิ > ทุ > โท

ทฺวิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทวี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทวี : (คำกริยา) เพิ่มขึ้น, มากขึ้น, เช่น งานทวีขึ้น. (ป., ส. ทฺวิ).”

โปรดสังเกตว่า ในบาลี “ทฺวิ” แปลว่า สอง ไม่ได้แปลว่า เพิ่มขึ้น

เข้าใจว่า “ทวี” ในภาษาไทยที่แปลว่า เพิ่มขึ้น นั้น คงเอาความหมายมาจาก “ทฺวิคุณ” ในสันสกฤต หรือ “ทิคุณ” ในบาลีที่แปลว่า “สองเท่า” ซึ่งมีความหมายว่า เพิ่มขึ้น แต่เมื่อใช้ในภาษาไทย ตัดคำว่า “คุณ” ออกไป เหลือแต่ “ทวี” แต่ยังคงใช้ในความหมายเท่ากับ “ทฺวิคุณ

(๒) “คูณ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คูณ : (คำกริยา) เพิ่มจํานวนเท่าตัวตามหน่วยที่ต้องการ, เท่า เช่น ทวีคูณ คือ ๒ เท่า ตรีคูณ คือ ๓ เท่า. (คำนาม) เรียกเครื่องหมายดังนี้ x ว่า เครื่องหมายคูณ. (ป., ส. คุณ).”

คำในวงเล็บ “(ป., ส. คุณ)” หมายความว่า คำว่า “คูณ” นี้บาลีและสันสกฤตเป็น “คุณ

(ก) “คุณ” ในบาลี

อ่านว่า คุ-นะ รากศัพท์มาจาก คุณฺ (ธาตุ = ประกาศ, ผูก, มัด, สั่งสม) + ปัจจัย

: คุณฺ + = คุณ แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “สิ่งที่ประกาศความดีของตน” = เมื่อทำสิ่งนั้น ก็จะประกาศให้รู้ว่าสิ่งที่ทำหรือผู้ทำสิ่งนั้นมีความดี

(2) “สิ่งที่ผูกผลไว้กับตน” = เมื่อทำสิ่งนั้นก็เท่ากับได้ผลของสิ่งนั้นติดพันมาด้วย

(3) “สิ่งอันผู้ต้องการความดีสั่งสม” = ใครต้องการความดีก็ต้องสั่งสมสิ่งนั้น ถ้าไม่สั่งสมก็ไม่มีและไม่ได้สิ่งที่ต้องการ

คุณ” ในบาลีหมายถึง :

(1) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ (quality, good quality, advantage, merit)

(2) ส่วนประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งประกอบ (constituent part, ingredient, component, element)

(3) ใช้กับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (equals-fold) เช่น “ทิคุณ” = สองเท่า ตรงกับ “ทวีคูณ” ในคำไทย

(ข) “คุณ” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) “คุณ” ที่เป็นธาตุ (รากศัพท์) มีความหมายว่า เชิญ; แนะนำ; คูณ (ทำให้มากด้วยการทวีค่าตามตำราเลขหรือองกวิทยา), คุณยติ, ทวีค่าตามวิธีองกคณิต; to invite; to advise; to multiply.

(2) “คุณ” ที่เป็นคำนาม มีความหมายหลายอย่าง ความหมายที่ตรงกับภาษาไทยคือ… วิศิษฏตา, ความประเสริฐ; คุณวัตตา, ความพ้นเปนพิเศษ, ความหาโทษหรือตำหนิมิได้; ตัวคูณหรือ ‘คุณะ’ ของเลขจำนวนใดจำนวนหนึ่ง excellence; merit, freedom from fault or blemish; the coefficient of any number or quantity.

คุณ” ที่ใช้ในภาษาไทย มีความหมายตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แสดงไว้ดังนี้ –

(๑) คุณ ๑, คุณ

(1) ความดีที่มีประจําอยู่ในสิ่งนั้น ๆ.

(2) ความเกื้อกูล เช่น รู้คุณ.

(3) คําที่ใช้เรียกนําหน้าบุคคลเพื่อแสดงความยกย่อง เช่น คุณพ่อ คุณแม่ คุณสมร.

(4) คํานําหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นจตุตถจุลจอมเกล้าถึงชั้นทุติยจุลจอมเกล้า, คำนำหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขึ้นไป

(5) (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) คําแต่งชื่อ. (สรรพนาม) คําใช้แทนผู้ที่เราพูดด้วย เป็นคําสุภาพ, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒, (ภาษาปาก) คําใช้แทนผู้ที่เราพูดถึงด้วยความสุภาพ, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓, เช่น คุณอยู่ไหม ช่วยไปเรียนว่ามีคนมาหา.

(๒) คุณ

อาถรรพณ์ คือ พิธีทําร้ายต่ออมิตร โดยเสกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าในตัวหรือฝังรูปฝังรอย เรียกกันว่า กระทําคุณ, ผู้ถูกกระทำ เรียกว่า ถูกคุณ, คุณไสย ก็ว่า.

คุณ” ตามความหมายในข้อ (1) และ (2) เป็นความหมายเดิมในบาลี ส่วนข้ออื่นๆ เป็นความหมายเฉพาะในภาษาไทย

ในภาษาไทย “คุณ” ใช้เป็น “คุณ” ตามรูปเดิมในบาลีสันสกฤตก็มี กลายเสียงเป็น “คูณ” ก็มี

ทฺวิ + คุณ ในบาลีแปลง ทฺวิ เป็น ทิ (ดูข้างต้น)

: ทฺวิ > ทิ + คุณ = ทิคุณ แปลตามศัพท์ว่า “สองเท่า

บาลี “ทิคุณ” สันสกฤตเป็น “ทฺวิคุณ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ทฺวิคุณ : (คำวิเศษณ์) ‘ทวิคณ, ทฺวิคูณ,’ สองหน, คูณด้วยสอง, สองเท่า; twice or two times, multiplied by two, doubled.”

ทิคุณ > ทฺวิคุณ ในภาษาไทยใช้เป็น “ทวีคูณ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้สั้นๆ ว่า –

ทวีคูณ : (คำวิเศษณ์) ๒ เท่า. (ส. ทฺวิคุณ; ป. ทิคุณ).”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความดี ทวีเป็นร้อยเท่าพันเท่าก็จงอย่าหยุดทำ

: ความชั่วระยำ แม้เท่ากิ่งก้อยก็จงอย่าใกล้กราย

21-7-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย