บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ความรู้เรื่องการขบฉัน

ความรู้เรื่องการขบฉัน (๐๒)

———————-

โภชนะที่ได้มาด้วยปลีแข้ง

…………

พระภิกษุในพระพุทธศาสนามาจากชาวบ้าน-อย่างที่ผมพูดอยู่บ่อยๆ ว่า ไม่ได้เป็นพระมาตั้งแต่เกิด เกิดมาเป็นชาวบ้านธรรมดา แล้วจึงสมัครเข้ามาบวช

การเข้ามาบวชเป็นพระหมายถึงเปลี่ยนวิถีชีวิตจากชาวบ้านมาใช้ชีวิตอย่างพระ

ว่าย่อๆ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่แสดงหนทางปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของพระศาสนาทรงชี้ทางไว้ว่า การปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์จะได้ผลดีต้องออกจากเรือนไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน มีหลักมีเกณฑ์ในการครองชีวิตอีกแบบหนึ่งต่างจากผู้ครองเรือน

คำแนะนำนี้มีตัวพระพุทธเจ้าเองเป็นบทพิสูจน์ และต่อมาก็มีพระสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นพยานยืนยัน

พระสงฆ์สาวกทั้งหลาย แต่เดิมก็คือชาวบ้านธรรมดาเหมือนเราท่านนี่เอง ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาวที่ไหน เป็นชาวบ้านที่ฟังคำสอนแล้วเกิดศรัทธา

แล้วออกบวช

แล้วปฏิบัติตาม

แล้วบรรลุธรรม

ที่ยังไม่บรรลุก็พยายามปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุในโอกาสต่อไป

นี่คือเหตุผลที่แท้จริงที่มีเพศสมณะเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา

โปรดจับหลักตรงนี้ให้มั่นและให้แม่น มิเช่นนั้นจะไขว้เขว

ดังที่เวลานี้ได้ไขว้เขวไปมากแล้ว คือเข้ามาบวชเป็นพระ แต่ใช้ชีวิตอย่างชาวบ้าน ชาวบ้านทำอะไร ชาวบ้านมีอะไร พระก็ทำอย่างนั้นมีอย่างนั้นด้วย

ก็ถ้าจะทำเหมือนชาวบ้าน มีเหมือนชาวบ้าน แล้วจะต้องเข้ามาบวชทำไม

การบวชแล้วไม่ใช้ชีวิตอย่างพระ แต่ไปทำเหมือนชาวบ้านจึงเป็นเรื่องแปลก

แต่คนทั้งหลายในเวลานี้-แม้แต่พระด้วยกันเอง-พากันมองว่า-ไม่เห็นแปลกอะไร

เพราะฉะนั้นจึงต้องย้ำกันก่อนว่า-บวชเป็นพระหมายถึงเปลี่ยนวิถีชีวิตจากชาวบ้านมาใช้ชีวิตอย่างพระ-โปรดจับหลักตรงนี้ให้มั่นและให้แม่น

ถ้าถามว่าอาหารประจำวันของพระได้มาจากไหน คำตอบมีอยู่แล้วตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาเป็นพระ

คนที่จะบวชเป็นพระได้ ต้องมีเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่เรียกว่า “อัฐบริขาร” (บริขาร ๘ อย่าง) ครบตามเกณฑ์ มีไม่ครบ บวชไม่ได้

๑ ใน ๘ คือ บาตร

บาตรเอาไว้ทำอะไร

ทันทีที่บวชเป็นพระสมบูรณ์แล้ว พระอุปัชฌาย์จะต้องชี้แจงข้อห้ามข้อแนะนำสำคัญ ที่เรียกว่า นิสัย ๔ อกรณียกิจ ๔

๑ ในนิสัย ๔ คือ –

“ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา – การบวชมีวิธีดำรงชีวิตโดยอาศัยโภชนะคืออาหารแต่ละคำที่ได้มาด้วยปลีแข้ง”

“อาหารแต่ละคำที่ได้มาด้วยปลีแข้ง” ก็คือต้องเดินบิณฑบาต และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเดินบิณฑบาตก็คือบาตร

ได้หลักข้อหนึ่งว่า อาหารของพระได้มาจากการบิณฑบาต

เพราะฉะนั้น กิจวัตรประจำวันของพระก็คือ ต้องออกบิณฑบาต

จะไม่ต้องออกบิณฑบาตตามปกติก็ได้หากมีกรณียกเว้น ซึ่งท่านก็บอกไว้ต่อจาก “ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา” นั่นเอง คือบอกว่า –

………………..

อติเรกลาโภ  สงฺฆภตฺตํ  อุทฺเทสภตฺตํ  นิมนฺตนํ  สลากภตฺตํ  ปกฺขิกํ  อุโปสถิกํ  ปาฏิปทิกํ.

อดิเรกลาภ คือ ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลาก ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ ภัตถวายในวันปาฏิบท

………………..

คำว่า “อติเรกลาโภ = อดิเรกลาภ” หมายถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค นอกเหนือจากที่กำหนดไว้แล้วว่าคืออะไร ได้มาจากไหน พระสามารถบริโภคใช้สอยอะไรได้อีก

เช่นอาหาร นอกจากที่กำหนดไว้แล้วว่าต้องได้มาด้วยการบิณฑบาต ถ้าจะไม่ต้องบิณฑบาต จะฉันอาหารที่ได้มาโดยทางอื่นได้หรือไม่ ถ้าได้ คืออย่างไรบ้าง-อย่างนี้เป็นต้น

คำบาลีและคำแปลเหล่านี้เป็นศัพท์วิชาการ ฟังพอเป็นพื้นไว้ทีก่อน มีโอกาสก็ไปหาความรู้กันต่อไป

ยกเฉพาะคำที่เห็นกันง่ายๆ คือ นิมนฺตนํ = การนิมนต์

นี่ก็คือที่รู้จักกันในบัดนี้ว่า “ได้รับนิมนต์” หมายความว่า กรณีที่มีผู้นิมนต์ให้ไปฉันในงาน ก็ไม่ต้องออกบิณฑบาต

แวะหาความรู้กันตรงนี้หน่อยหนึ่ง

“ได้รับนิมนต์” ในความหมายเดิมสมัยพุทธกาลหมายถึงมีชาวบ้านมาบอกว่าให้ไปรับอาหารบิณฑบาตที่บ้านของเขา พอถึงเวลาพระก็ถือบาตรตรงไปยังบ้านที่มานิมนต์ได้เลย ไม่ต้องไปบ้านอื่น

ตามปกติเวลาออกบิณฑบาต พระวินัยกำหนดให้เดินรับอาหารไปตามลำดับบ้าน คือเข้าบ้านนี้ออกบ้านนั้นไปตามลำดับไม่ต้องเลือกว่าจะเป็นบ้านไหนบ้าง จนได้อาหารพอแก่ความต้องการแล้วก็กลับ

แต่กรณีที่ได้รับนิมนต์ดังกล่าวนั้น ไม่ต้องเดินไปตามลำดับบ้านเหมือนปกติ แต่เดินตรงไปยังบ้านที่นิมนต์บ้านเดียว (แต่บางทีผู้นิมนต์ก็มาขอรับบาตรเอาไปใส่อาหารแล้วนำกลับมาถวายถึงที่พักโดยพระไม่ต้องเดินไปเอง)

จะเห็นได้ว่า แต่เดิมนั้นแม้จะ “ได้รับนิมนต์” พระก็ยังต้องออกบิณฑบาตอยู่นั่นเอง ต่างกันตรงที่ไม่ต้องไปบิณฑบาตที่บ้านนั้นบ้านนี้ แต่ไปบิณฑบาตเฉพาะบ้านที่นิมนต์บ้านเดียว

การนิมนต์ในลักษณะนี้ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ คือมีบางบ้านนิมนต์พระที่รู้จักคุ้นเคยให้ไปรับบิณฑบาตที่บ้านเป็นประจำ เรียกกันว่า “บ้านโยมประจำ” บางรูปมีโยมประจำหลายบ้าน รับเฉพาะบ้านโยมประจำก็พอฉัน

แต่สมัยนี้ความหมายของคำว่า “ได้รับนิมนต์” ผิดเพี้ยนไปจากเดิม คือหมายถึงไปเจริญพระพุทธมนต์ในงานพิธี แล้วเจ้าภาพถวายภัตตาหารเช้าหรือเพล เรียกกันว่า สวดมนต์ฉันเช้า หรือสวดมนต์ฉันเพล

ถึงกระนั้น งานสวดมนต์ฉันเช้าสมัยก่อน พระที่ได้รับนิมนต์จะเอาบาตรไปด้วย แสดงให้เห็นร่องรอยที่ว่ารับนิมนต์ก็คือไปบิณฑบาตเฉพาะบ้านที่นิมนต์นั่นเอง เป็นที่มาของธรรมเนียมเจ้าภาพใส่บาตรแล้วจึงถวายภัตตาหารให้พระฉันเช้า ส่วนอาหารที่ใส่บาตรพระก็นำกลับไปฉันเพลที่วัด

ทุกวันนี้ธรรมเนียมนิมนต์พระไปสวดมนต์ฉันเช้าและเอาบาตรไปตักบาตรที่บ้านงาน เข้าใจว่าจะไม่มีใครทำกันแล้ว โดยเฉพาะในสังคมเมือง

ถ้าไม่ศึกษากันไว้ ต่อไปจะไม่มีใครรู้จักว่า นิมนฺตนํ = การนิมนต์ ของเดิมแท้นั้นคืออย่างไร

——————–

ยังมีกรณีอื่นอีกที่เป็นเหตุให้ไม่ต้องออกบิณฑบาตตามปกติ คือชาวบ้านนิมนต์เป็นประจำ ภัตตาหารที่ชาวบ้านนิมนต์เป็นประจำนี้เรียกเป็นศัพท์ว่า “นิตยภัต” แปลว่า “ภัตตาหารที่ถวายเป็นประจำ” ในทางปฏิบัติคือชาวบ้านจัดอาหารมาถวายให้เป็นประจำวัน พระภิกษุรูปนั้นก็จึงไม่ต้องออกบิณฑบาต

ปัจจุบันทางราชการจัด “นิตยภัต” ถวายพระภิกษุบางจำพวก เช่นภิกษุที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ และพระสังฆาธิการระดับต่างๆ เพียงแต่ว่าไม่ได้จัดเป็นอาหารเหมือนในสมัยแรกเริ่ม หากแต่ถวายเป็นเงิน แต่ก็ยังใช้คำเรียกว่า “นิตยภัต” เหมือนเดิม

ภิกษุที่ได้รับนิตยภัตดังกล่าวนี้ย่อมสามารถใช้สิทธิ์-ไม่ต้องออกบิณฑบาตได้

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การออกบิณฑบาตก็ยังคงเป็นกิจวัตรที่ภิกษุสามเณรควรถือปฏิบัติ เพราะนี่เป็นวิถีชีวิตของชาววัด เป็นพุทธนิยม ดังคำบอกอนุศาสน์อันเป็นพุทธดำรัสที่พระอุปัชฌาย์จะต้องบอกกล่าวแก่ภิกษุทุกรูปที่บวชเข้ามาในพระศาสนาดังที่ยกมาแสดงแล้วข้างต้น

พูดให้เกิดอุตสาหะก็ต้องว่า-พระพุทธองค์ผู้เป็นพระบรมครูยังทรงออกบิณฑบาตจนถึงวันสุดท้าย-วันที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน

ก็แล้วเราเป็นใคร ใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าอย่างนั้นหรือจึงจะถือสิทธิ์ไม่ออกบิณฑบาต?

——————–

แวะสังเกตการณ์นิดหนึ่ง

ทุกวันนี้จะเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า มีพระส่วนหนึ่งไม่ได้ออกบิณฑบาต โดยเฉพาะพระเถระระดับพระสังฆาธิการ หรือเจ้าคณะต่างๆ ยิ่งเป็น “พระผู้ใหญ่” ด้วยแล้ว ยิ่งมีเหตุผลมากมายที่จะไม่ออกบิณฑบาต (เช่นใช้สิทธิ์-ได้รับนิตยภัตเป็นต้น)

ถามให้กระทบใจเล่นก็ว่า-ทุกวันนี้มีสมเด็จพระราชาคณะรูปไหนบ้างออกบิณฑบาต

ไม่ต้องถึงระดับสมเด็จ เอาเพียงท่านเจ้าคุณชั้นธรรม ชั้นเทพ หรือแม้แต่ชั้นสามัญ มีสักกี่รูปที่ออกบิณฑบาต

การที่พระผู้ใหญ่ไม่ออกบิณฑบาตกลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่ผิดปกติอย่างยิ่ง

ผิดปกติอย่างยิ่ง-เพราะทำให้วิถีชีวิตของพระสงฆ์วิปริตไปจากแบบแผนที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้

พระพุทธองค์ตรัสบอกตั้งแต่วันแรกที่บวชว่า “ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา – การบวชมีวิธีดำรงชีวิตโดยอาศัยโภชนะคืออาหารแต่ละคำที่ได้มาด้วยปลีแข้ง”

แต่วันนี้ การบวชมีวิธีดำรงชีวิตที่-ไม่ต้องออกบิณฑบาตก็มีฉัน

พอไม่ออกบิณฑบาตจนเคย จนนึกอ้างเหตุผลเข้าข้างตัวว่า ไม่บิณฑ์ก็มีฉัน แล้วจะต้องบิณฑ์ให้เมื่อยทำไม การไม่ออกบิณฑบาตเลยกลายเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมไปในที่สุด

การออกบิณฑบาตเสียอีกที่ทำท่าจะเป็นเรื่องผิดปกติและไม่ถูกต้อง มีเหตุผลสนับสนุนเยอะแยะไปหมด โดยเฉพาะในเมืองกรุง ถนนหนทางมีรถราจอแจแออัด ไม่สะดวกที่จะให้พระเถระไปเดิน สุขภาพไม่ดี มีงานในตำแหน่งหน้าที่จะต้องรีบทำ มีงานบริหารจะต้องกำกับดูแลสั่งการนั่นนี่โน่น (ซึ่งล้วนแต่สำคัญยิ่งกว่าการออกบิณฑบาต!!) ฯลฯ

เผลอๆ พระผู้ใหญ่ที่ออกบิณฑบาตอาจถูกมองว่าดัดจริต สร้างภาพอะไรไปโน่น!

ขอชวนให้สังเกตด้วยว่า เข็มเย็บผ้าและธมกรก (กระบอกกรองน้ำ) ที่ระบุไว้ในอัฐบริขาร ทุกวันนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ใช้เฉพาะจัดไว้ในอัฐบริขารให้ครบรายการตามพระวินัยในพิธีบวชเท่านั้น เป็นพระแล้วก็ไม่ได้เอามาใช้ เพราะจีวรเหลือเฟือ ไม่ต้องใช้ผืนเดียวไปจนขาดจนเปื่อยเหมือนพระสมัยก่อน จึงไม่จำเป็นต้องใช้เข็มเย็บผ้า ส่วนน้ำดื่มปัจจุบันมีน้ำก๊อก น้ำขวด ก็ไม่จำเป็นต้องใช้กระบอกกรองน้ำ

คาดว่าในอนาคตอันไม่ไกล บาตรก็จะกลายเป็นบริขารอีกอย่างหนึ่งที่เป็นเพียงสัญลักษณ์ในพิธีบวชเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรในชีวิตจริงของพระ เพราะ-ไม่ต้องออกบิณฑบาตก็มีฉัน

ประเด็นนี้เพียงแต่แวะเข้ามาตั้งข้อสังเกตให้เห็นกันไว้เท่านั้น คงทำอะไรไม่ได้ นอกจากรู้เท่าทันความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

สรุปว่า หลักที่หนึ่งก็คืออาหารประจำวันตามวิถีชีวิตของพระ ต้องเป็นโภชนะที่ได้มาด้วยปลีแข้ง คือต้องออกบิณฑบาต

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐

๑๘:๒๘

ตอนต่อไป – ความรู้เรื่องการขบฉัน (๐๓)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *