บาลีวันละคำ

สังฆการี (บาลีวันละคำ 291)

สังฆการี

อ่านว่า สัง-คะ-กา-รี

สังฆการี” เป็นคำบาลีที่ไทยเราบัญญัติขึ้น

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺฆการี” ประกอบด้วย สงฺฆ + การี

สงฺฆ” ทับศัพท์ว่า “สงฆ์” ในที่นี้หมายถึง พระสงฆ์ หรือคณะสงฆ์

การี” แปลว่า ผู้ทำ

สังฆการี” มีความหมายว่า “ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์” หมายถึงเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์ในงานหลวง

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต สรุปเรื่องที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับ “สังฆการี” ไว้ดังนี้ –

สังฆการี คือเจ้าหน้าที่ผู้เป็นพนักงานในการพิธีสงฆ์ มีมาแต่โบราณสมัยอยุธยา สังกัดในกรมสังฆการี ซึ่งรวมอยู่ด้วยกันกับกรมธรรมการ เรียกรวมว่า กรมธรรมการสังฆการี เดิมเรียกว่า “สังกะรี” หรือ “สังการี” เปลี่ยนเรียก “สังฆการี” ในรัชกาลที่ 4

ต่อมาเมื่อตั้งกระทรวงธรรมการใน พ.ศ. 2432 กรมธรรมการสังฆการีเป็นกรมหนึ่งในสังกัดของกระทรวงนั้น

จนถึง พ.ศ. 2454 กรมสังฆการีจึงแยกเป็นกรมต่างหากกันกับกรมธรรมการ

ต่อมาใน พ.ศ. 2476 กรมสังฆการีถูกยุบลงเป็นกองสังกัดในกรมธรรมการกระทรวงศึกษาธิการ

ต่อมาอีกใน พ.ศ. 2484 กรมธรรมการเปลี่ยนชื่อเป็น กรมการศาสนา และในคราวท้ายสุด พ.ศ. 2515 กองสังฆการีได้ถูกยุบเลิกไป และมี กองศาสนูปถัมภ์ ขึ้นมาแทน ปัจจุบันจึงไม่มีสังฆการี

บางสมัยสังฆการีมีอำนาจหน้าที่กว้างขวาง มิใช่เป็นเพียงเจ้าพนักงานในราชพิธีเท่านั้น แต่ทำหน้าที่ชำระอธิกรณ์ พิจารณาโทษแก่พระสงฆ์ผู้ล่วงละเมิดสิกขาบทประพฤติผิดธรรมวินัยด้วย

บางนิยามของ “สังฆการี” : คนที่ยอมตกนรก เพื่อให้หลายคนขึ้นสวรรค์ได้สะดวก

———–

(ฉลองศรัทธาท่านพระมหาอาทิตย์ อาทิตฺตเมธี กราบขอบพระคุณ)

บาลีวันละคำ (291)

24-2-56

เสริมนอกเฟรม

พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ถ้ามีพระราชพิธีเกี่ยวกับพระสงฆ์ ผู้ที่ทำหน้าที่ทั้งปวง ตั้งแต่นิมนต์พระ เป็นพิธีกรในพิธีสงฆ์ ตลอดจนปฏิบัติดูแลพระสงฆ์ ตั้งแต่ต้นจนจบ นั่นคือสังฆการี รวมไปถึงกิจการทั้งปวงที่ทางราชการจะพึงปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ด้วย

สงฺฆ (บาลี-อังกฤษ)

– ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง

– คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร
– กลุ่มใหญ่, ประชาคม

สงฺฆ ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

หมู่, สงฆ์, ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป.

สงฺฆ (ประมวลศัพท์)

หมู่, ชุมนุม

1. หมู่สาวกของพระพุทธเจ้า เรียกว่า สาวกสงฆ์ ดังคำสวดในสังฆคุณ ประกอบด้วยคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล (รายตัวบุคคล) ๘ เริ่มแต่ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค จนถึงพระอรหันต์ ต่างจากภิกขุสงฆ์ คือหมู่แห่งภิกษุหรือชุมนุมภิกษุ (ดูความหมาย 2), ต่อมา บางทีเรียกอย่างแรกว่า อริยสงฆ์ อย่างหลังว่า สมมติสงฆ์

2. ชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย ต่างโดยเป็นสงฆ์จตุรวรรคบ้าง ปัญจวรรคบ้าง ทศวรรคบ้าง วีสติวรรคบ้าง, ถ้าเป็นชุมนุมภิกษุ ๒ หรือ ๓ รูป เรียกว่า คณะ ถ้ามีภิกษุรูปเดียว เป็น บุคคล

การี ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ผู้ทำเป็นปกติ, ผู้คอยรับใช้.

สังฆการี

น. เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์ในงานหลวง.

สังฆการี (ประมวลศัพท์)

เจ้าหน้าที่ผู้ทำการสงฆ์, เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์ในงานหลวง, เจ้าหน้าที่ผู้เป็นพนักงานในการพิธีสงฆ์ มีมาแต่โบราณสมัยอยุธยา สังกัดในกรมสังฆการี ซึ่งรวมอยู่ด้วยกันกับกรมธรรมการ เรียกรวมว่า กรมธรรมการสังฆการี เดิมเรียกว่า สังกะรี หรือ สังการี เปลี่ยนเรียก สังฆการี ในรัชกาลที่ ๔ ต่อมาเมื่อตั้งกระทรวงธรรมการใน พ.ศ. ๒๔๓๒ กรมธรรมการสังฆการีเป็นกรมหนึ่งในสังกัดของกระทรวงนั้น จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ กรมสังฆการีจึงแยกเป็นกรมต่างหากกันกับกรมธรรมการ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๖ กรมสังฆการีถูกยุบลงเป็นกองสังกัดในกรมธรรมการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาอีกใน พ.ศ. ๒๔๘๔ กรมธรรมการเปลี่ยนชื่อเป็นกรมการศาสนา และในคราวท้ายสุด พ.ศ. ๒๕๑๕ กองสังฆการีได้ถูกยุบเลิกไป และมีกองศาสนูปถัมภ์ขึ้นมาแทน ปัจจุบันจึงไม่มีสังฆการี; บางสมัยสังฆการีมีอำนาจหน้าที่กว้างขวาง มิใช่เป็นเพียงเจ้าพนักงานในราชพิธีเท่านั้น แต่ทำหน้าที่ชำระอธิกรณ์พิจารณาโทษแก่พระสงฆ์ผู้ล่วงละเมิดสิกขาบทประพฤติผิดธรรมวินัยด้วย

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย