บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ความรู้เรื่องการขบฉัน

ความรู้เรื่องการขบฉัน (๐๔)

————————–

อนามัฏฐบิณฑบาต

…………

มีคำถามว่า คนกินก่อนพระ บาปหรือไม่

ผู้ถามหมายถึงอาหารที่พระไปบิณฑบาตได้มา พระยังไม่ได้ฉัน คนเอาไปกินเสียก่อน ดังนี้ จะบาปหรือไม่

เรื่องนี้ตอบด้วยสามัญสำนึกก็ย่อมได้ คือตอบว่าบาปแน่ (บาป หมายถึงอย่างไร ก็ไปหาความรู้และคำจำกัดความกันอีกเรื่องหนึ่ง)

ในฐานะเป็นชาวพุทธ ตอบแค่นั้นน่าจะยังไม่พอ แต่ควรหาความรู้ต่อไปอีก

—————–

เบื้องต้นน่าจะรู้จักหน้าตาของศัพท์วิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้คำหนึ่ง นั่นคือคำว่า “อนามัฏฐบิณฑบาต” (อ่านว่า อะ นา มัด ถะ บิน ทะ บาด)

บิณฑบาต” เป็นคำที่เราคุ้นกันดีอยู่แล้ว ในที่นี้หมายถึงอาหารที่พระภิกษุบิณฑบาตได้มา

อนามัฏฐ” แปลว่า “-ที่ยังไม่ถูกจับต้อง

อนามัฏฐบิณฑบาต” จึงแปลว่า “บิณฑบาตที่ยังไม่ได้จับต้อง” หมายถึงอาหารที่พระภิกษุบิณฑบาตได้มาและยังมิได้ฉัน

มีพระวินัยบัญญัติไว้ว่า อนามัฏฐบิณฑบาตนั้นภิกษุจะหยิบยกให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งที่มิใช่ภิกษุด้วยกันมิได้ มีโทษทางพระวินัยฐานทำให้ “ศรัทธาไทย” ตกไป คือทำให้สิ่งที่มีผู้ถวายมาไม่เป็นไปตามเจตนาของผู้ถวาย

ถึงตรงนี้ควรแวะศึกษารากเหง้าเค้าเดิมของการใส่บาตรให้รู้ว่าชาวพุทธใส่บาตรกันทำไม

พระพุทธศาสนามีเป้าหมายอยู่ที่-ให้มนุษย์ปฏิบัติขัดเกลาตนเองจนพ้นจากทุกข์

ทุกข์ที่เป็นรากเหง้าของทุกข์ทั้งปวงก็คือวัฏทุกข์ แปลว่า ทุกข์คือการเวียนตายเวียนเกิด

เพราะเวียนตายเวียนเกิด ทุกข์อื่นๆ จึงเกิดมีตามมา

ถ้าปฏิบัติขัดเกลาจิตจนพ้นจากกิเลสทั้งปวงก็จะไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิด

เมื่อไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิด ก็ไม่ต้องทุกข์ คือทุกข์อะไรๆ ก็เกิดมีแก่ผู้นั้นไม่ได้

คนที่เห็นภัยในวัฏทุกข์ก็จึงตั้งเป้าหมายแห่งชีวิตว่าจะต้องปฏิบัติขัดเกลาตนเองตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้า

การปฏิบัติขัดเกลาตนเองตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ถ้ายังอยู่ครองเรือนก็ทำได้ยาก คนพวกนี้ก็จึงสละบ้านเรือนครอบครัวออกบวช

ใครออกบวชได้ คนที่มีความเห็นเป็นสัมมาทิฐิตรงกันก็พลอยชื่นชม อุปมาเหมือนคนสมัครเป็นทหารออกรบ คนที่ยังไม่พร้อมจะไปรบก็พลอยชื่นชม สนับสนุนด้วยวิธีการต่างๆ

พูดให้เห็นภาพก็ว่า-ใครออกบวชได้คนหนึ่งก็เฮกันลั่น พรั่งพรูกันสนับสนุนด้วยปัจจัยสี่

ถอดเป็นคำพูดก็เหมือนกับพูดว่า อย่าเป็นห่วงเรื่องทำมาหากินเลย ชาวบ้านจะเลี้ยงเอง ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติไปให้เต็มที่เถิด ไปให้ถึงฝั่งให้ได้นะ

พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติพระวินัยให้พระออกบิณฑบาตหากินวันต่อวัน ไม่ให้เก็บสะสมอาหาร ทั้งนี้เพื่อให้ปลอดกังวล เสียเวลากับเรื่องกินให้น้อยที่สุด เพื่อจะได้มีเวลาปฏิบัติขัดเกลาตนเองให้ได้มากขึ้น

ชาวบ้านใส่บาตรให้พระก็ด้วยจุดประสงค์นี้

เมื่อรู้รากเหง้าของการใส่บาตรเช่นนี้แล้ว มองตามไปก็จะเห็นได้ว่า ข้าวปลาอาหารที่ญาติโยมใส่บาตรมานั้นเขามีเจตนาจะให้พระฉันเพื่อให้มีกำลังศึกษาปฏิบัติธรรม

พระยังไม่ได้ฉัน ใครเอาไปกินก่อน ก็ต้องบาปแน่นอน

หลักปฏิบัติ-ไม่กินอะไรก่อนพระ-จึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเช่นนี้

ฝ่ายพระเอง ฉันบิณฑบาตของชาวบ้านแล้วไม่ปฏิบัติธรรม ก็อยู่ในฐานะผู้ผิดสัญญา เป็นผู้บริโภคชนิดที่เป็นหนี้ชาวโลก ยิ่งถ้าประพฤติทุศีลด้วย ท่านว่ากลืนกินก้อนเหล็กแดงประเสริฐกว่า

…………..

ส่วนอาหารที่พระฉันแล้วนั้น ท่านเรียกว่าอาหารเป็นเดน พระท่านไม่มีสิทธิ์จะเก็บไว้ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะมีพระวินัยห้ามสะสมอาหารดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น อาหารเป็นเดนนี้ใครจะเอาไปกินหรือจะเอาไปทำอะไรก็ได้ ไม่เป็นบาป

ตามวัดวาอารามต่างๆ จึงมักจะมีคนจำพวกหนึ่งไปพึ่งพาอาศัยยังชีพด้วยอาหารที่เป็นเดน คนพวกนี้คำบาลีเรียกว่า “วิฆาสาท” (อ่านตามเสียงไทยว่า วิ-คา-สาด อ่านตามบาลีว่า วิ-คา-สา-ทะ)

พวกวิฆาสาทนี้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล

—————–

สรุปว่า อาหารที่บิณฑบาตได้มา พระยังไม่ได้ฉันจะให้ใครกินก่อนไม่ได้ นอกจากพระด้วยกัน

แต่ก็มีบุคคลฆราวาสที่พระวินัยยกเว้นหรือให้สิทธิพิเศษที่พระสามารถยกอนามัฏฐบิณฑบาตให้รับประทานก่อนได้

คัมภีร์ สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก อธิบายเรื่องอนามัฏฐบิณฑบาตไว้ ขอยกมาให้ชิมรสสำนวนแปลจากภาษาบาลีพอเป็นที่เจริญศรัทธา ดังนี้ –

……….

……….

ถามว่า อนามัฏฐบิณฑบาตควรให้แก่ใคร ไม่ควรให้แก่ใคร ?

แก้ว่า ควรให้แก่มารดาและบิดาก่อน.

ก็หากว่าบิณฑบาตนั้นจะเป็นของมีราคาตั้งกหาปณะ ก็ไม่จัดว่าเป็นการยังศรัทธาไทยให้ตกไป

ควรให้แม้แก่คนเหล่านี้ คือ พวกคนบำรุงมารดาบิดา ไวยาวัจกร คนปัณฑุปลาส.

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอนามัฏฐบิณฑบาตนี้พึงให้แก่โจรผู้ลือชื่อบ้าง ทั้งแก่อิสรชนบ้าง ผู้มาถึงเข้า.

เพราะเหตุไร ?

เพราะเหตุว่า ชนเหล่านั้น แม้เมื่อไม่ให้ ก็โกรธว่าไม่ให้ แม้เมื่อจับต้อง (คือพระฉันเสียก่อนแล้วจึง) ให้ ก็โกรธว่าให้ของเป็นเดน. ชนเหล่านั้นโกรธแล้วย่อมปลงจากชีวิตเสียบ้าง ย่อมทำอันตรายแก่พระศาสนาบ้าง.

ภิกษุควรปฏิบัติในบิณฑบาตดังพรรณนามาฉะนี้.

ที่มา:

สมันตปาสาทิกา ภาค ๑ ตติยปาราชิกวัณณนา BUDSIR VI อ.๑/๕๗๘

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม ๒ หน้า ๔๓๖

—————–

ตามคำอธิบายของอรรถกถาสรุปได้ว่า พระอาจจะหยิบยื่นอาหารบิณฑบาตที่ตนยังไม่ได้ฉันให้แก่บุคคลต่างๆ ได้ ดังนี้ –

๑ บิดามารดาของตนเอง

๒ คนที่ปฏิบัติบิดามารดาของภิกษุรูปนั้น

๓ ไวยาวัจกร คือคนที่พระมอบหมายให้ทำงานบางอย่างแทนพระ หรือผู้ที่อยู่รับใช้ทำกิจของวัด

๔ คนเตรียมบวชที่มาอยู่ในวัด ซึ่งกำลังฝึกหัดกิริยามารยาทหรือวัตรปฏิบัติต่างๆ เพื่อเตรียมที่จะเป็นพระ เรียกเป็นศัพท์ว่า “ปัณฑุปลาส” คือที่เราเรียกกันว่า “นาค” นั่นเอง

๕ คนร้ายที่บุกเข้ามาในวัด ซึ่งอาจทำอันตรายแก่พระ หรือทำเหตุเสียหายให้แก่วัดได้ เรียกเป็นศัพท์ว่า “ทามริก”

๖ เจ้านาย หรือผู้ปกครองบ้านเมือง ซึ่งผ่านเข้ามา และเป็นบุคคลที่อาจสนับสนุนหรือทำลายพระศาสนาได้ ในคัมภีร์ใช้คำว่า “อิสรชน”

—————–

เรามักเข้าใจกันแต่เพียงว่า พระบิณฑบาตมาเลี้ยงพ่อแม่ได้ หมายถึงเอาอาหารบิณฑบาตที่ยังไม่ได้ฉันให้พ่อแม่กินก่อนได้

คราวนี้ก็ได้รู้แล้วว่า นอกจากพ่อแม่แล้วยังมีคนประเภทอื่นอีกที่ “กินก่อนพระ” ได้

บางประเภทน่าพิจารณาเป็นพิเศษ เช่น คนที่ปฏิบัติบิดามารดาของภิกษุรูปนั้น

ข้อยกเว้นสำหรับคนประเภทนี้บอกนัยให้รู้ว่า การเลี้ยงดูพ่อแม่นั้นพระไม่ต้องทำด้วยตัวเองไปเสียทุกเรื่อง บางเรื่องที่ขัดต่อพระวินัยก็สามารถอาศัยไหว้วานให้คนอื่นๆ ทำแทนได้

อย่างกรณีพระอาบน้ำถูเนื้อถูตัวประแป้งให้โยมแม่ ที่เราเคยเห็นภาพทางเฟซบุ๊ก แล้วก็มีผู้นิยมชมชื่นว่าพระท่านทำดีแล้วถูกแล้ว (ทั้งๆ ที่ผิด) นั้น ถ้าคิดว่าจำเป็นจะต้องทำ ก็ขอแรงชาวบ้านทำแทนได้

คนที่มาทำหน้าที่แทนพระลูกเช่นนี้ พระวินัยท่านอุตส่าห์ยกเว้นให้เป็นกรณีพิเศษ น่าจะอ่านเจตนารมณ์ได้ว่า ก็เพื่อจะอนุเคราะห์ภิกษุให้สามารถรักษาพระวินัยไว้ได้ พร้อมๆ ไปกับที่พ่อแม่ของตนก็ยังได้รับการปรนนิบัติบำรุงได้ตามสมควร

ศึกษาพระวินัยดูเถิด ท่านมีทางออกไว้ให้เสมอ

แม้หากสิ้นแล้วทุกหนทาง ต้องเลือกทางลาสิกขาออกไปเลี้ยงพ่อแม่ เพราะไม่สะดวกต่อการรักษาพระวินัย ท่านก็ยังแนะวิธีทำใจไว้ให้อีกด้วย คือให้ระลึกไว้ว่า แม้เป็นฆราวาสก็ยังมีโอกาสทำบุญเป็นทางไปสวรรค์และเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลต่อไปได้ ใช่ว่าจะสิ้นหนทางเสียเมื่อไร

เราท่านรู้หลักดังนี้แล้ว เวลาเห็นพระทำอะไร จะชมหรือจะติติงก็จะได้มีหลัก ไม่ใช่คิดเอาเองตามใจชอบ

—————–

อีกประเภทหนึ่งคือ ไวยาวัจกร คนประเภทนี้ต้องสละเวลามาช่วยทำกิจบางอย่างแทนพระ กิจบางอย่างจะรอให้พระฉันก่อน ตัวเองกินทีหลังพระแล้วจึงไปทำ อาจเสียผลอันจะพึงมีพึงได้แก่สงฆ์เป็นส่วนรวม ท่านจึงอนุญาตให้กินก่อนพระได้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว

ไวยาวัจกรกินก่อนพระไม่เป็นบาป

—————–

ปัณฑุปลาส คือคนเตรียมบวช ที่คำไทยนิยมเรียกว่า “นาค” นั้น คนเดี๋ยวนี้อาจไม่รู้จัก เพราะเวลานี้บวชเร็วสึกเร็ว แต่สมัยก่อนมีให้เห็นทั่วไป

คือสมัยก่อน ใครจะบวชต้องไปอยู่วัดก่อนเพื่อฝึกซ้อมพิธีอุปสมบท ฝึกหัดกิริยามารยาท และทดลองปฏิบัติกิจวัตรบางอย่าง เช่นไหว้พระสวดมนต์ และอดอาหารมื้อเย็นเป็นต้น อาจอยู่เป็นเดือนๆ ก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่พระอุปัชฌาย์หรือพระที่ควบคุมดูแลจะเห็นสมควร

ระหว่างเป็นนาคอยู่วัดนี้จึงเป็นการ “วัดใจ” ไปในตัวว่าสู้แน่หรือเปล่า บางคนอาจเปลี่ยนใจไม่บวชไปเสียก็ได้

ที่พระวินัยอนุญาตให้คนเป็นนาคกินก่อนพระได้ก็เพราะท่านเห็นความสำคัญของการออกบวช และต้องการกล่อมใจนาคให้โอนอ่อนมาในการบวชนั่นเอง

มีคนตั้งใจออกบวชคนหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นกำไรของพระศาสนา คือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าพระศาสนาทำประโยชน์ให้มนุษย์ด้วยการสนับสนุนให้ดำเนินสู่ทางพ้นทุกข์ได้จริง เมื่อเขาตั้งใจบวช พระวินัยก็จึงควรอำนวยความสะดวกให้เขาตามสมควร นี่คือเหตุผลที่อนุญาตให้นาคกินก่อนพระได้

—————–

ส่วนโจรร้ายและเจ้านายผู้ปกครองบ้านเมือง เหตุผลมีชัดเจนอยู่แล้ว

ในคัมภีร์มีเรื่องเล่าประกอบไว้ แสดงให้เห็นความสำคัญของการต้อนรับปฏิสันถารว่าถ้าจัดการให้ดีก็เกิดผลดีเกินคาด

เช่นเรื่องหนึ่ง โจรยกพวกจะมาปล้นวัด หลวงพ่อเจ้าอาวาสสั่งให้จัดข้าวปลาอาหารเลี้ยง โจรกินข้าวอิ่มแล้วเปลี่ยนใจ จากตั้งใจมาปล้นวัดกลับอาสาเป็น รปภ.ประจำวัด

อีกเรื่องหนึ่ง พระเจ้าแผ่นองค์หนึ่งถูกปฏิวัติ ต้องหนีเข้าป่า พระวัดป่าท่านก็ช่วยสงเคราะห์ให้ที่อยู่ที่กินในฐานคนหนีร้อนมาพึ่งเย็น ภายหลังพระเจ้าแผ่นดินกลับไปชิงราชสมบัติคืนได้ คราวนี้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาเป็นการใหญ่เพราะทรงนึกถึงบุญคุณที่พระเคยช่วยท่าน

ใครบ้างกินก่อนพระได้ มีเหตุผลดังที่บรรยายมา

—————–

ในส่วนพระเองนั้นเล่า เมื่อจะหยิบยื่นบิณฑบาตอันตนยังมิได้ฉัน (คือยังไม่อยู่ในฐานะของเป็นเดน) ให้แก่ใครๆ ก็พึงระลึกถึงพุทธบัญญัติที่เกี่ยวข้องด้วยความเคารพแล้วปฏิบัติให้อย่าให้เป็นการละเมิดพุทธบัญญัตินั้นๆ

วัตถุประสงค์ของการออกบิณฑบาตก็เพียงเพื่อให้ได้อาหารมาพอประทังชีพและมีกำลังปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลต่อไป วัตถุประสงค์เดิมแท้ของการที่ชาวบ้านใส่บาตรก็เพื่อการเช่นนี้

การปฏิบัติต่อสิ่งของที่บิณฑบาตได้มาด้วยอาการอันไม่ถูกไม่ควรอาจได้ประโยชน์โภชน์ผลส่วนตัวเพียงน้อยนิด แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการทำลายตนเองและทำลายพระศาสนาไปพร้อมๆ กัน

ขออัญเชิญพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในจตุตถปาราชิกสิกขาบท อันมีปรากฏในพระวินัยปิฎกมาเสนอไว้เป็นอนุสติดังนี้ –

อญฺญถา สนฺตมตฺตานํ

อญฺญถา โย ปเวทเย

นิกจฺจ กิตวสฺเสว

ภุตฺตํ เถยฺเยน ตสฺส ตํ.

ภิกษุใด ตนเป็นคนอย่างหนึ่ง

แต่แสดงตนเป็นอีกอย่างหนึ่ง (หน้าไหว้หลังหลอก)

ภิกษุนั้นฉันภัตตาหาร (ของชาวบ้าน) ด้วยอาการแห่งคนขโมย

ดุจพรานนกลวงจับนกฉะนั้น

กาสาวกณฺฐา พหโว

ปาปธมฺมา อสญฺญตา

ปาปา ปาเปหิ กมฺเมหิ

นิรยนฺเต อุปปชฺชเร.

ภิกษุเป็นอันมากมีผ้ากาสาวะพันคอ

มีสภาพเป็นคนเลว ไม่สำรวมตน

ผู้เลวทรามย่อมเข้าถึงนรก

เพราะกรรมทั้งหลายที่เลวทราม

เสยฺโย อโยคุโฬ ภุตฺโต

ตตฺโต อคฺคิสิขูปโม

ยญฺเจ ภุญฺเชยฺย ทุสฺสีโล

รฏฺฐปิณฺฑํ อสญฺญโตติ.

ภิกษุผู้ทุศีล ไม่สำรวมตน

บริโภคก้อนเหล็กแดงดังเปลวไฟประเสริฐกว่า

การฉันก้อนข้าวของชาวรัฐจะประเสริฐอะไร

ที่มา:

จตุตถปาราชิกสิกขาบท พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑

พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๒๓๐

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐

๐๙:๕๐

ตอนต่อไป – ความรู้เรื่องการขบฉัน (๐๕)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *