บาลีวันละคำ

แม่ (บาลีวันละคำ 454)

แม่

คำต่อไปนี้ ในภาษาบาลีหมายถึง “แม่

บางคำเราคุ้น แต่บางคำก็ไม่ได้นำมาใช้ในภาษาไทย

อมฺพา, อมฺมา,

ชนนี, ชนิกา, ชเนตฺตี,

โทหฬินี,

มาตุ, มาตา, มารดา,

สุหทา,

โตเสนฺตี, โปเสนฺตี

– “อมฺพา” แปลว่า “ผู้รักษาบุตรธิดา” “ผู้อันบุตรธิดาเข้าไปหาด้วยความรัก” “ผู้อันบุตรธิดาเข้าไปหา คือเข้ามาคลอเคลีย” “ผู้อันบุตรธิดาบูชา

– “อมฺมา” แปลว่า “ผู้อันบุตรธิดาเข้าไปหา คือเข้ามาคลอเคลีย” “ผู้อันบุตรธิดาบูชา

– “ชนนี” “ชนิกา” “ชเนตฺตี” แปลว่า “ผู้ยังบุตรให้เกิด” หรือ “ผู้ให้กำเนิด

– “โทหฬินี” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความปรารถนาสอง” = คนแพ้ท้อง

– “มาตุ” “มาตา” “มารดา” แปลว่า “ผู้รักบุตรโดยธรรมชาติ” “ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม

– “สุหทา” แปลว่า “ผู้มีใจดี

– “โตเสนฺตี” แปลว่า “ผู้ปลอบโยน

– “โปเสนฺตี” แปลว่า “ผู้เลี้ยงดู

ใน โสณนันทชาดก สัตตตินิบาต ท่านพรรณนาหัวอกคนเป็นแม่ไว้น่าฟัง

ขอถอดความนำมาเสนอพร้อมทั้งต้นฉบับภาษาบาลี เพื่อบูชาพระคุณแม่

(๑)

อากงฺขมานา  ปุตฺตผลํ      เทวตาย  นมสฺสติ

นกฺขตฺตานิ  จ  ปุจฺฉติ       อุตุสํวจฺฉรานิ  จ ฯ

แม่อยากมีลูกไหนจะปาน

ถึงกับบนบานศาลกล่าว

เฝ้าดูฤกษ์ยาม

ถามวันเดือนปี

(เช่นว่าถ้าลูกเกิดปีนี้จะเป็นเด็กแบบไหน

แล้วเกิดเดือนไหนจะเป็นเด็กแบบนี้)

(๒)

ตสฺสา  อุตุสิ  นหาตาย      โหติ  คพฺภสฺสวกฺกโม

เตน  โทหฬินี  โหติ          สุหทา  เตน  วุจฺจติ ฯ

บำรุงรักษาตัวตามวิธี

จนพอรู้ว่ามีครรภ์ ก็อยากนั่นโน่นนี่

ท่านจึงเรียกแม่ว่า “โทหฬินี” = คนแพ้ท้อง

และเรียกว่า “สุหทา” = คนใจดี-เพราะดีใจ (ที่จะได้ลูก)

(๓)

สํวจฺฉรํ  วา  อูนํ  วา          ปริหริตฺวา  วิชายติ

เตน  สา  ชนยนฺตีติ          ชเนตฺตี  เตน  วุจฺจติ ฯ

นับเป็นปี หรือจะน้อยกว่านี้ก็น้องๆ

ที่แม่คอยประคับประคองกว่าจะคลอดเจ้าโฉมงาม

แม่จึงได้นามว่า “ชนยนฺตี” –

และ “ชเนตฺตี” = ผู้ให้กำเนิด

(๔)

ถนกฺขีเรน  คีเตน             องฺคปาวุรเณน  จ

โรทนฺตํ  ปุตฺตํ  โตเสติ       โตเสนฺตี  เตน  วุจฺจติ ฯ

ด้วยน้ำนม เพลงกล่อม และอ้อมกอด

ลูกร้อง แม่ก็พร่ำพลอดปลอบโยนให้ยิ้มได้

แม่จึงได้นามว่า “โตเสนฺตี” = ผู้ปลอบโยน

(๕)

ตโต  วาตาตเป  โฆเร       มมฺมํ  กตฺวา  อุทิกฺขติ

ทารกํ  อปฺปชานนฺตํ          โปเสนฺตี  เตน  วุจฺจติ ฯ

ยามที่ลมแรงและแดดกล้า

แม่ก็ผวาหาลูกด้วยหัวใจที่ไหวหวั่น

ลูกแม่ยังเล็กไม่เดียงสากระนั้น ดังฤๅจะดูแลตัวเองได้

แม่จึงได้นามว่า “โปเสนฺตี” = ผู้เลี้ยงดู

(๖)

ยญฺจ  มาตุ  ธนํ  โหติ       ยญฺจ  โหติ  ปิตุทฺธนํ

อุภยมฺเปตสฺส  โคเปติ       อปิ  ปุตฺตสฺส  เม  สิยา ฯ

ทรัพย์ใดของพ่อแม่

ก็เฝ้าแต่ดูแลรักษา

คิดถึงวันข้างหน้า –

“..เก็บไว้ให้ลูกแม่ ..”

(๗)

เอวํ  ปุตฺต  อทุ  ปุตฺต             อิติ  มาตา  วิหญฺญติ

ครั้นถึงวัยเรียน แม่ก็เวียนแต่ทุกข์

“เรียนนี่ไหมลูก, นั่นล่ะลูกเรียนไหม”

ลำบากอย่างไร –

แม่ก็ยอม

(๘)

ปมตฺตํ  ปรทาเรสุ             นิสฺสิเว  ปตฺตโยพฺพเน

สายํ ปุตฺตํ  อนายนฺตํ         อิติ  มาตา  วิหญฺญตีติ ฯ

ครั้นถึงวัยหนุ่มสาว

แม่ก็เกรงลูกจะอื้อฉาวในเชิงชู้

เย็นย่ำค่ำคืนก็เฝ้าแต่คอยดูว่าป่านฉะนี้ไฉนยังไม่กลับ –

ดวงแดแม่จะพลอยดับไปด้วย ฉะนี้แล.

: บูชาพระคุณแม่ ตามประสายาก – นะแม่นะ

บาลีวันละคำ (454)

12-8-56

(ศัพท์วิเคราะห์)

อมฺพา

ผู้รักษาบุตรธิดา

ผู้อันบุตรธิดาเข้าไปหาด้วยความรัก

ผู้อันบุตรธิดาเข้าไปหา คือเข้ามาคลอเคลีย

ผู้อันบุตรธิดาบูชา

อมฺมา

ผู้อันบุตรธิดาเข้าไปหา คือเข้ามาคลอเคลีย

ผู้อันบุตรธิดาบูชา

ชนนี, ชนิกา, ชเนตฺตี

ผู้ยังบุตรให้เกิด

ผู้ให้กำเนิดบุตร

มาตุ

ผู้รักบุตรโดยธรรมชาติ

ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม

สุหทา

ผู้มีใจดี

——–

โทหฬินี

ผู้มีความปรารถนาสอง = คนแพ้ท้อง

โตเสนฺตี

ผู้ปลอบ

โปเสนฺตี

ผู้เลี้ยงดู

———

เนมิตกนาม

  น. ชื่อที่เกิดขึ้นตามเหตุ คือลักษณะและคุณสมบัติ เช่น พระสุคต แปลว่า ผู้ดําเนินดีแล้ว.

โทหฬินี

  [โทหะ-] (แบบ) น. หญิงมีครรภ์, หญิงแพ้ท้อง. (ป.; ส. เทาหฺฤทินี).

อัมพา

  น. แม่, หญิงดี, (เป็นชื่อยกย่อง). (ป., ส.).

ชนนี

  [ชนนะนี] น. หญิงผู้ให้เกิด, แม่. (ป., ส.).

ชเนตตี

  [ชะเนดตี] น. แม่ เช่น ชเนตตีสมะนามกร. (ฉันท์วรรณพฤติ). (ป.; ส. ชนยิตฺรี).

มาตุ

  น. แม่. (ป.).

มาตา

  น. แม่. (ป.; ส. มาตฺฤ).

มารดร, มารดา

  [มานดอน, มานดา] น. แม่. (ป. มาตา; ส. มาตฺฤ).

สุหฤท, สุหัท

  [-หะริด, -หัด] น. เพื่อน, ผู้มีใจดี, ใช้ว่า โสหัท หรือ เสาหฤท ก็มี. (ส. สุหฺฤท; ป. สุหท).

แม่ (สอ เสถบุตร)

a mother, mummy; a wife; the female of an animal

mother (พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี)

: ammā ; ambā ; mātu ; janettī ; janikā ||

อมฺมา, อมฺพา, มาตุ, ชเนตฺตี, ชนิกา

womb of a mother: mātukucchi  มาตุกุจฺฉิ

กุจฺฉิ (บาลี-อังกฤษ)

โพรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท้อง หรือ ครรภ์

a cavity, esp. the belly (Vism 101) or the womb;

 อณฺณวกุจฺฉิ  the interior of the ocean

womb (สอ เสถบุตร)

มดลูก, ครรภ์, นาภี, อุทร

แม่

บางคำและบางแง่ ในคัมภีร์

อากงฺขมานา  ปุตฺตผลํ      เทวตาย  นมสฺสติ

นกฺขตฺตานิ  จ  ปุจฺฉติ       อุตุสํวจฺฉรานิ  จ ฯ

ตสฺสา  อุตุสิ  นหาตาย      โหติ  คพฺภสฺสวกฺกโม

เตน  โทหฬินี  โหติ          สุหทา  เตน  วุจฺจติ ฯ

สํวจฺฉรํ  วา  อูนํ  วา          ปริหริตฺวา  วิชายติ

เตน  สา  ชนยนฺตีติ          ชเนตฺตี  เตน  วุจฺจติ ฯ

ถนกฺขีเรน  คีเตน             องฺคปาวุรเณน  จ

โรทนฺตํ  ปุตฺตํ  โตเสติ       โตเสนฺตี  เตน  วุจฺจติ ฯ

ตโต  วาตาตเป  โฆเร       มมฺมํ  กตฺวา  อุทิกฺขติ

ทารกํ  อปฺปชานนฺตํ          โปเสนฺตี  เตน  วุจฺจติ ฯ

ยญฺจ  มาตุ  ธนํ  โหติ       ยญฺจ  โหติ  ปิตุทฺธนํ

อุภยมฺเปตสฺส  โคเปติ       อปิ  ปุตฺตสฺส  เม  สิยา ฯ

เอวํ  ปุตฺต  อทุ  ปุตฺต             อิติ  มาตา  วิหญฺญติ

ปมตฺตํ  ปรทาเรสุ             นิสฺสิเว  ปตฺตโยพฺพเน

สายํ ปุตฺตํ  อนายนฺตํ         อิติ  มาตา  วิหญฺญติ ฯ

[อุปการคุณของมารดา]

มารดาเมื่อหวังผลคือบุตร ย่อมนอบน้อมเทพดา ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย.

เมื่อมารดาอาบแล้วในเพราะฤดู, สัตว์เกิดในครรภ์ย่อมก้าวลง, ด้วยเหตุนั้น มารดาท่านจึงเรียกว่า ‘โทหฬินี (หญิงแพ้ท้อง),’ ด้วยเหตุนั้นท่านจึงเรียกว่า ‘สุหทา (หญิงมีใจดี).’

มารดานั้นถนอม (ครรภ์) ปีหนึ่งหรือหย่อนปีหนึ่งแล้วจึงคลอด ด้วยเหตุนั้น ๆ ท่านจึงเรียกว่า ‘ชนยนฺตี ชเนตฺตี (ผู้ยังบุตรให้เกิด).’

มารดาปลอบโยนบุตรผู้ร้องไห้ด้วยน้ำนม ด้วยเพลงขับ และด้วยเครื่องกกคืออวัยวะ, ด้วยเหตุนั้นท่านจึงเรียกว่า ‘โตเสนฺตี (ผู้ยังบุตรให้ยินดีหรือปลอบโยน).’

แต่นั้น เมื่อลมและแดดแรงกล้า มารดาทำความหวั่นใจคอยแลดูบุตรผู้ยังเป็นทารกไม่เดียงสา, ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า โปเสนฺตี (ผู้เลี้ยง).

ทรัพย์ของมารดาอันใดมีอยู่ และทรัพย์ของบิดาอันใดมีอยู่, มารดาย่อมคุ้มครองทรัพย์แม้ทั้ง ๒ นั้นไว้เพื่อบุตรนั่นด้วยหวังว่า เออก็ทรัพย์ทั้งหมดนี้ควรเป็นของบุตรเรา.’

มารดาเมื่อให้บุตรสำเหนียกว่า ‘อย่างนี้ลูก อย่างโน้นลูกเป็นต้น ย่อมเดือดร้อนด้วยประการฉะนี้,

เมื่อบุตรถึงความเป็นหนุ่มแล้ว มารดารู้ว่า บุตรมัวเมาในภริยาของผู้อื่นในเวลาค่ำคืน ไม่กลับมาในเวลาเย็น  ย่อมเดือดร้อน ด้วยประการฉะนี้.

มังคลัตถทีปนี (จตุตฺถคาถายตฺถวณฺณนา) ภาค ๑ ข้อ ๒๙๒ หน้า 267

ประโยค ๔ – มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม ๒ – หน้า 196

*พระมหาอู นิสฺสโภ ป. ๗ วัดบวรนิเวศวิหาร แปล

โสณนันทชาดก สัตตตินิบาต ขุ.ชา.๒๘/๔๗ ตทฏฺกถา.๘/๑๗๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย