บทความเรื่อง ความรู้เรื่องการขบฉัน
ความรู้เรื่องการขบฉัน (๐๕)
————————–
กำเนิดกัปปิยภูมิ : ครัวสงฆ์
…………
ชีวิตของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้นพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุสะสมอาหารที่ได้ในวันนี้เพื่อเอาไว้ฉันในวันอื่น ท่านกำหนดให้บิณฑบาตเลี้ยงชีพวันต่อวัน
มีคำกล่าวถึงการเที่ยวบิณฑบาตของพระว่า “อาหารพระเหมือนอาหารเสือ” คือบางวันอิ่ม บางวันอด
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ภิกษุต้องมีภาระกังวลกับการดูแลอาหารที่เก็บไว้ คือให้เสียเวลากับเรื่องขบฉันให้น้อยที่สุด ใช้เวลาเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรมให้มากที่สุด
อาหารที่บิณฑบาตได้มามีปริมาณมากเกินที่จะฉันหมดในวันนั้นก็ดี อาหารจำพวกของแห้ง ที่เรียกกันรวมๆ ว่า ข้าวสารอาหารแห้ง ที่ได้มาโดยเหตุต่างๆ ก็ดี จะทำอย่างไรในเมื่อมีพุทธบัญญัติห้ามฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน
คำตอบอยู่ที่กัปปิยภูมิ หรือครัวสงฆ์
——————–
ในคัมภีร์เล่าเรื่องไว้ว่า คฤหบดีคนหนึ่งชื่อ “จิตตคฤหบดี” เป็นชาวแคว้นมคธ บรรลุธรรมเป็นอนาคามีบุคคล แต่ยังไม่เคยได้เห็นพระพุทธเจ้าเลย อยู่มาคราวหนึ่งจิตตคฤหบดีเตรียมการเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถี โดยเดินทางไปพร้อมกับพุทธบริษัทนับพัน จิตตคฤหบดีเตรียมเสบียงบรรทุกเกวียนไปด้วยเป็นจำนวนมาก (คัมภีร์บอกว่า ๕๐๐ เล่มเกวียน)
เนื่องจากท่านคฤหบดีเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ระหว่างเดินทางแวะพักที่เมืองไหน ชาวเมืองนั้นก็จัดเลี้ยงรับรองทุกแห่งไป ใช้เวลาเดินทางเดือนหนึ่งโดยไม่ต้องใช้เสบียงที่เตรียมไปนั่นเลย
เมื่อไปถึงพระเชตวัน เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านคฤหบดีก็ประกาศขอรับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระเป็นเวลา ๑ เดือน ปรากฏว่ามีชาวเมืองนำสิ่งของมาช่วยทำอาหารเลี้ยงพระตลอดทั้งเดือนโดยไม่ต้องใช้เสบียงของท่านคฤหบดีเลยแม้แต่น้อย
เมื่อจะเดินทางกลับ ท่านคฤหบดีจึงถวายเสบียงที่ตนเตรียมมาทั้งหมดให้เป็นของสงฆ์ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์มี “กัปปิยภูมิ” (บางทีเรียก “กัปปิยกุฏิ”) คือครัววัดหรือครัวสงฆ์ได้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม :
– ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๓ สุธัมมเถรวัตถุ
– มโนรถปูรณี ภาค ๑ หน้า ๕๑๕-๕๒๐
(พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๓ หน้า ๖๑-๖๕)
เรื่องเดียวกันนี้ในพระวินัยปิฎกไม่ได้บอกรายละเอียดว่าใครเป็นต้นเรื่องให้เกิดกัปปิยภูมิ
ฟังสำนวนพระวินัยกันสักเล็กน้อย ท่านเล่าไว้ว่า
…………….
ก็โดยสมัยนั้นแล ประชาชนชาวชนบทบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้างไว้ในเกวียนเป็นอันมาก แล้วตั้งวงล้อมเกวียนอยู่นอกซุ้มประตูพระอาราม คอยท่าว่าเมื่อใดเราทั้งหลายได้ลำดับที่จะถวาย เมื่อนั้นเราจักทำภัตตาหารถวาย
ฝนตั้งเค้ามาจะตกใหญ่ จึงคนเหล่านั้นพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์กราบเรียนว่า ท่านพระอานนท์เจ้าข้า เกลือ น้ำมัน ข้าวสาร และของขบฉันเป็นอันมากพวกข้าพเจ้าบรรทุกไว้ในเกวียนตั้งอยู่ที่หน้าวัดนี้ และฝนตั้งเค้ามาจะตกใหญ่ ท่านพระอานนท์เจ้าข้า พวกข้าพเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร
จึงท่านพระอานนท์กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เตนหิ อานนฺท สงฺโฆ ปจฺจนฺติมํ วิหารํ กปฺปิยภูมึ สมฺมนฺนิตฺวา ตตฺถ วาเสตุ ยํ สงฺโฆ อากงฺขติ วิหารํ วา อฑฺฒโยคํ วา ปาสาทํ วา หมฺมิยํ วา คุหํ วา.
ดูก่อนอานนท์ ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จำนงหมายสถานที่แห่งใด จะเป็นวิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น หรือถ้ำก็ตาม ก็จงสมมติสถานที่แห่งนั้นอันตั้งอยู่สุดเขตวัดให้เป็นกัปปิยภูมิ แล้วให้เก็บไว้ในสถานที่นั้นเถิด
ที่มา: พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๘๒
……………
ได้ความตามนี้ว่า ทรงอนุญาตให้มีกัปปิยภูมิ คือที่สำหรับเก็บอาหารของวัด แต่ควรเป็นที่มิดชิด (ปจฺจนฺติมํ วิหารํ อาคารอันตั้งอยู่สุดเขตวัด) ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องปกติ เหมือนในบ้านเรือน ส่วนที่เป็นครัวมักอยู่หลังบ้าน
เมื่อมีครัวสงฆ์แล้ว ใครจะเป็นคนหุงข้าวต้มแกงในเมื่อพระหุงต้มเองไม่ได้?
พระหุงต้มเองไม่ได้นั้นมีเรื่องในพระวินัยปิฎกแสดงไว้ว่า
คราวหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงประชวรด้วยโรคลมในพระอุทร พระอานนท์ทราบมาว่าพระพุทธองค์เคยทรงประชวรด้วยโรคชนิดนี้และทรงพระสำราญได้ด้วยยาคูปรุงด้วยของ ๓ อย่าง คืองา ข้าวสาร ถั่วเขียว ท่านจึงไปหาของนั้นมาเก็บไว้ในที่อยู่ของท่านแล้วก็ปรุงยาคูด้วยของ ๓ อย่างนั้นด้วยตัวท่านเองภายในที่อยู่นั่นแหละ แล้วน้อมเข้าไปถวาย กราบทูลให้เสวย
พระพุทธองค์ตรัสถามที่ไปที่มา เมื่อทรงทราบก็ทรงตำหนิพระอานนท์ว่าทำไม่ถูก
ฟังสำนวนในพระบาลีกันดูสักนิดเพื่อเจริญปัญญา
……………
อนนุจฺฉวิกํ อานนฺท อนนุโลมิกํ อปฺปฏิรูปํ อสฺสามณกํ อกปฺปิยํ อกรณียํ, กถํ หิ นาม ตฺวํ อานนฺท เอวรูปาย พาหุลฺลาย เจเตสฺสสิ, ยทปิ อานนฺท อนฺโต วุตฺถํ ตทปิ อกปฺปิยํ ยทปิ อนฺโต ปกฺกํ ตทปิ อกปฺปิยํ ยทปิ สามํ ปกฺกํ ตทปิ อกปฺปิยํ, เนตํ อานนฺท อปฺปสนฺนานํ วา ปสาทาย …
ดูก่อนอานนท์ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ
ดูก่อนอานนท์ ไฉนเธอจึงได้พอใจในความมักมากเช่นนี้เล่า
ดูก่อนอานนท์ อามิสที่เก็บไว้ภายในที่อยู่เป็นอกัปปิยะ แม้ที่หุงต้มภายในที่อยู่ก็เป็นอกัปปิยะ แม้ที่หุงต้มเองก็เป็นอกัปปิยะ
การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส …
……………
ขนาดพระอานนท์เป็นพระโสดาบันแล้ว พระพุทธองค์ยังทรงตำหนิในเมื่อทำไม่ถูก
ครั้นแล้วจึงทรงบัญญัติข้อห้ามไว้ว่า –
น ภิกฺขเว อนฺโต วุตฺถํ อนฺโต ปกฺกํ สามํ ปกฺกํ ปริภุญฺชิตพฺพํ โย ปริภุญฺเชยฺย อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันอามิสที่เก็บไว้ในภายในที่อยู่ ที่หุงต้มในภายในที่อยู่ และที่หุงต้มเอง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
ที่มา: พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๔๙
ความข้อนี้เองที่เกิดเป็นศัพท์วิชาการเกี่ยวกับการขบฉันของพระ คือ –
อันโตวุตถะ = เก็บไว้ภายในที่อยู่
อันโตปักกะ = หุงต้มภายในที่อยู่
สามปักกะ (สา-มะ-) = หุงต้มเอง
ซึ่งจะได้พิจารณากันในตอนต่อไป รวมทั้งคำถามที่ว่า เมื่อมีครัวสงฆ์แล้ว ใครจะเป็นคนหุงข้าวต้มแกงในเมื่อพระหุงต้มเองไม่ได้?
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐
๑๗:๓๙
ตอนต่อไป – ความรู้เรื่องการขบฉัน (๐๖)