บาลีวันละคำ

ฉตฺตํ – 1 ในเบญจราชกกุธภัณฑ์ (บาลีวันละคำ 4,345)

ฉตฺตํ – 1 ในเบญจราชกกุธภัณฑ์

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง คาถาที่ 358 มีข้อความดังนี้ –

…………..

ขคฺโค (จ) ฉตฺต’มุณฺหีสํ

ปาทุกา วาฬวีชนี

(อิเม กกุธภณฺฑานิ

ภวนฺติ ปญฺจ ราชุนํ)

(ราชกกุธภัณฑ์ ๕ คือ)

พระขรรค์, ฉัตร, อุณหีศ,

ฉลองพระบาท, วาฬวีชนี

…………..

หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 110 อธิบายคำว่า “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” มีข้อความดังนี้ –

…………..

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ (ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน)

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ เครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์ โดยพระมหาราชครูพราหมณ์เป็นผู้ถวาย ประกอบด้วย พระมหาเศวตฉัตร พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน

…………..

ฉตฺตํ” อ่านว่า ฉัด-ตัง รูปคำเดิมเป็น “ฉตฺต” อ่านว่า ฉัด-ตะ รากศัพท์มาจาก ฉทฺ (ธาตุ = ห้าม, กัน, มุง) + ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (ฉทฺ + ตฺ + ), ลบ ทฺ ที่สุดธาตุ 

: ฉทฺ + ตฺ + = ฉทฺตฺต > ฉตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กันแสงแดด” หมายถึง ฉัตร, ร่ม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ฉตฺต” ว่า a sunshade, a canopy (ร่ม, ที่บังแดด, ฉัตร)

ที่คำแปลว่า a sunshade พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความไว้ว่า “parasol” would be misleading. The handle of a chatta is affixed at the circumference, not at the centre as it is in a parasol (ถ้าเรียก “ร่มกันแดด” ก็จะทำให้เข้าใจผิด. ด้ามฉัตรติดไว้ที่ขอบของฉัตร, ไม่ใช่ตรงกลางเหมือนร่มกันแดด)

คำขยายความที่ว่า “ด้ามฉัตรติดไว้ที่ขอบของฉัตร, ไม่ใช่ตรงกลางเหมือนร่มกันแดด” น่าจะไม่ใช่ “ฉัตร” ที่เราคุ้นกัน แต่จะเป็นฉัตรแบบไหน พึงศึกษาตรวจสอบกันต่อไป

ฉตฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ฉตฺตํ

บาลี “ฉตฺต” สันสกฤตเป็น “ฉตฺร” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ฉตฺร : (คำนาม) ‘ฉัตร,’ ร่ม; ต้นฉัตราชนิดหนึ่ง; เมล็ดฉัตราหรือธานี; เห็ด; เมล็ดสาเลย; a parasol, parapluie, or umbrella; a kind of fennel; coriander seed; a mushroom; anise.”

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ฉัตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ฉัตร ๑, ฉัตร- : (คำนาม) เครื่องสูงชนิดหนึ่ง มีรูปคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ชั้นบนมีขนาดเล็กกว่า ชั้นล่างลดหลั่นกันไปโดยลําดับ สําหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ. (ส. ฉตฺร; ป. ฉตฺต ว่า ร่ม); ส่วนที่ต่อจากปุ่มฆ้องเป็นฐานแผ่ออกไปแล้วงองุ้มลงมาเป็นขอบโดยรอบอย่างฉัตร; ชื่อดาวฤกษ์อารทรา.”

ฉตฺต” หรือ “ฉัตร” ในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ มักเรียกเป็น “เศวตฉัตร” เรียกอย่างเต็มยศว่า “พระมหาเศวตฉัตร

เศวตฉัตร” เทียบเป็นบาลีตรงกับ “เสตจฺฉตฺต

เสต + ฉตฺต ซ้อน จฺ ระหว่างศัพท์เนื่องจาก จฺ เป็นพยัญชนะหน้า ในวรรคเดียวกัน (จ ฉ ช ฌ ญ)

: เสต + จฺ + ฉตฺต = เสตจฺฉตฺต (เส-ตัด-ฉัด-ตะ) แปลว่า “ร่มสีขาว” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสตจฺฉตฺต” ว่า a white parasol, an emblem of royalty (ฉัตรขาว, ฉัตรแห่งความเป็นราชา = เศวตฉัตร)

บาลี “เสตจฺฉตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เศวตฉัตร” (สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด) ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เศวตฉัตร : (คำนาม) ฉัตรขาว ใช้เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้น. (ส. เศฺวตจฺฉตฺร ว่า ฉัตรขาว).”

ขยายความ :

หนังสือ “คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ที่คำว่า “เศวตฉัตร” เขียนไว้ดังนี้ –

(อักขรวิธี ย่อหน้าวรรคตอนตามต้นฉบับ)

…………..

          คำว่า เศวตฉัตร แปลว่า ฉัตรขาว ใช้เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นต้น เมื่อกล่าวว่า ชิงฉัตร จึงหมายถึงแย่งชิงแผ่นดินมาปกครอง ดังลิลิตเตลงพ่าย พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีร่ายว่า พระเจ้ากรุงหงษาวดี ตรัสกับเหล่าอำมาตย์ว่ากรุงศรีอยุธยา “ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราช เยียววิวาทชิงฉัตร” นั่นคือ กรุงศรีอยุธยามีการผลัดแผ่นดินเปลี่ยนกษัตริย์ อาจมีการวิวาทแย่งชิงแผ่นดินมาปกครอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเคยมีพระราชปุจฉาว่า เศวตฉัตรมีกี่ชั้น พระธรรมอุดมและพระพุทธโฆษาจารย์ ได้ศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ มีเนื้อความต้องกัน เช่น มโนรถปุรณีอรรถกถา [มะ-โน-รด-ปุ-ระ-นี-อัด-ถะ-กะ-ถา] อังคุตรนิกาย [อัง-คุด-ตะ-ระ-นิ-กาย] ปัญจกนิบาต [ปัน-จะ-กะ-นิ-บาด] มีข้อความตอนหนึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ท่านจงเลงแลดูสิริสมบัติของเรา เรานอนเหนือที่สิริไสยาสน์ ภายใต้เศวตฉัตรเจ็ดชั้น” ดังนั้น ท่านจึงถวายวิสัชนาว่า เศวตฉัตรสำหรับราชาภิเษก มี ๗ ชั้น

           ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๙ นั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญฉัตร ๙ ชั้นไปปักกั้นเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด] แทนฉัตร ๗ ชั้นที่มีมาแต่เดิม

…………..

หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 111 อธิบายคำว่า “พระมหาเศวตฉัตร” มีข้อความดังนี้ –

…………..

          พระมหาเศวตฉัตร (มะ-หา-สะ-เหวด-ตะ-ฉัด) หรือพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (นบ-พะ-ปะ-ดน-มะ-หา-สะ-เหวด-ตะ-ฉัด)

          เป็นฉัตร ๙ ชั้น หุ้มผ้าขาวมีระบาย ๓ ชั้น ขลิบทองแผ่ลวด มียอด ชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกแล้ว ใช้แขวนหรือปักเหนือพระราชอาสน์ราชบัลลังก์ในท้องพระโรงพระมหาปราสาทราชมณเฑียร ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งกว่าราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ

          ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ หลังจากทรงรับน้ำอภิเษกแล้ว ๑ องค์ ซึ่งทำเป็นฉัตร ๙ ชั้น ขนาดเล็ก เป็นสัญลักษณ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ฉัตรไม่เคยทำร้ายคนที่อยู่ภายใต้ร่มเงา

: แต่คนที่อยู่ภายใต้ร่มเงาเคยทำร้ายฉัตร

#บาลีวันละคำ (4,345)

5-5-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *