บทความเรื่อง ความรู้เรื่องการขบฉัน
ความรู้เรื่องการขบฉัน (๐๖)
————————–
อารามิกชน : คนทำการวัด
…………
พระวินัยปิฎก มหาวิภังฺค์ ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๑๓๘ มีเรื่องเล่าไว้ดังนี้
…………….
พระสาวกรูปหนึ่ง ชื่อพระปิลินทวัจฉะ เป็นชาวเมืองสาวัตถี ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ คราวหนึ่งจาริกมาถึงเมืองราชคฤห์ พบเงื้อมเขาแห่งหนึ่ง ทำเลสสงบสงัดดี จึงช่วยกันกับภิกษุอื่นๆ จัดแจงปรับสถานที่สำหรับเป็นที่ปลีกวิเวก
พระเจ้าพิมพิสารจอมพลมคธรัฐทรงทราบ จึงเสด็จเข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะ ตรัสถามว่า ถ้าโยมจะถวาย “คนทำการวัด” พระคุณเจ้าจะต้องการบ้างหรือไม่
พระเถระถวายพระพรว่า คนทำการวัด พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงอนุญาต
พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นโปรดทูลถามพระผู้มีพระภาค แล้วบอกให้โยมทราบ
เวลานั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี
ท่านพระปิลินทวัจฉะส่งภิกษุไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า พระเจ้าพิมพิสารมีพระราชประสงค์จะถวายคนทำการวัด จะพึงปฏิบัติอย่างไร?
พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสว่า
อนุชานามิ ภิกฺขเว อารามิกํ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มีคนทำการวัด
ในพระไตรปิฎกเล่าต่อไปว่า เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่าพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้มีคนทำการวัดได้แล้ว จึงรับสั่งกับท่านพระปิลินทวัจฉะว่าจะจัดคนทำการวัดมาถวาย แต่รับสั่งแล้วก็ยังไม่ได้ตรัสสั่งให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด และทรงลืมเรื่องนี้ไปเป็นเวลานาน
วันหนึ่งทรงระลึกขึ้นมาได้ จึงตรัสถามอำมาตย์ว่าได้ถวายคนทำการวัดให้ท่านพระปิลินทวัจฉะหรือยัง อำมาตย์ทูลว่ายังไม่ได้ตรัสสั่งว่าจะให้ปฏิบัติอย่างไร ตรัสถามว่านี่ล่วงเลยมากี่วันแล้ว อำมาตย์นับวันเดือนปีแล้วทูลว่า ๕๐๐ ราตรี พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสสั่งให้จัดหาคนจำนวน ๕๐๐ คน เกณฑ์เอาจากหมู่บ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับอารามยกให้เป็นหมู่บ้านคนทำการวัด
(เรื่องเดียวกันนี้มีในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๔๕ อีกแห่งหนึ่งด้วย)
——————-
ความรู้จากภาษา:
เกี่ยวกับหมู่บ้านนี้ พระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า –
ปาฏิเยกฺโก คาโม นิวิสิ. อารามิกคามโกติปิ นํ อาหํสุ ปิลินฺทวจฺฉคามโกติปิ นํ อาหํสุ.
หมู่บ้านของคนทำการวัดพวกนั้นได้ตั้งอยู่แผนกหนึ่ง คนทั้งหลายเรียกบ้านตำบลนั้นว่า ตำบลบ้านอารามิกบ้าง ตำบลบ้านปิลินทวัจฉะบ้าง
…………….
คำว่า “ปาฏิเยกฺโก” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า
(1) several, distinct, single (รายตัว, ต่างจากกัน, ลำพัง)
(2) singly, separately, individually (ลำพัง, เดี่ยว, แยกกัน, แต่ละคน)
อรรถกถา คือคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค ๒ หน้า ๒๘๑ (๒๕๑) ไขความไว้ว่า –
ปาฏิเยกฺโกติ วิสุํ เอโก.
คำว่า ปาฏิเยกฺโก แปลว่า เป็นหมู่บ้านหนึ่งต่างหาก.
…………….
คำว่า “คนทำการวัด” แปลจากคำบาลีว่า “อารามิก” (บาลีอ่านว่า อา-รา-มิ-กะ อ่านแบบไทยว่าว่า อา-รา-มิก) ซึ่งแปลว่า เป็นของอาราม, ผู้เป็นอารามิกชน, ผู้รับใช้ของอาราม (belonging to an Ārāma, one who shares the congregation, an attendant of the Ārāma)
คำว่า “อารามิก” คำเดิมคือ อาราม + อิก (อิ-กะ) ปัจจัย
“อาราม” แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่มายินดี” = มาถึงตรงนั้นแล้วเกิดความรู้สึกยินดีรื่นรมย์ใจ จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “อาราม”
“อาราม” ในบาลีมีความหมาย 2 อย่าง คือ –
1 ความยินดี, ความชอบใจ, ความรื่นรมย์, ความร่มรื่น
2 สถานที่อันร่มรื่น, สวน, อุทยาน
ความหมายที่ 2 นี้ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า park, garden อันเป็นคำที่คนไทยคุ้นมานาน
นักบวชสมัยพุทธกาลพอใจที่จะพักอาศัยอยู่ตามป่าไม้ซึ่งปกติเป็นที่ร่มรื่น อันเป็นความหมายของ “อาราม” ดังนั้น คำว่า “อาราม” ในภายหลังจึงหมายถึงสถานที่พักอาศัยของนักบวชด้วย เช่น เวฬุวนาราม วัดเวฬุวัน เชตวนาราม วัดเชตวัน
ในภาษาไทย “อาราม” ก็หมายถึงวัด
…………….
เป็นอันได้ความว่า “อารามิก” แม้จะแปลว่า เป็นของอาราม หรืออารามิกชน ก็ไม่ได้หมายถึงภิกษุสามเณร แต่หมายถึงชาวบ้านที่มาช่วยทำกิจต่างๆ ให้วัด
ต้นเดิมจริงๆ พระเจ้าแผ่นดินทรงยกหมู่บ้านแห่งใดแห่งหนึ่งให้เป็นอารามิก คนในหมู่บ้านนั้นทั้งหมดมีฐานะเป็นคนทำงานให้วัด หมู่บ้านนั้นมีฐานะเป็นเอกเทศจากบ้านเมือง คือเป็นเหมือนสมบัติของวัด บ้านเมืองไม่เข้าไปใช้อำนาจ เช่นไม่เก็บภาษี ไม่เกณฑ์คนในหมู่บ้านไปสงครามเป็นต้น
เข้าใจว่าในเมืองไทยเราก็เคยมีธรรมเนียมยกหมู่บ้านถวายวัดแบบนี้ มีคำเรียกคนที่ทำงานรับใช้วัดว่า “ข้าพระ โยมสงฆ์”
ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์สังคมไทย น่าจะพบรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้
——————-
ในคัมภีร์ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า พุทธบัญญัติห้ามภิกษุสะสมอาหาร พุทธานุญาตให้มีกัปปิยภูมิหรือครัวสงฆ์ และพุทธานุญาตให้มีอารามิกชน ทั้ง ๓ เรื่องนี้เรื่องไหนเกิดก่อนเกิดหลัง (กัปปิยภูมิแรกเกิดที่เมืองสาวัตถี อารามิกชนแรกเกิดที่เมืองราชคฤห์) แต่ก็สามารถสันนิษฐานเป็นภาพรวมได้ว่า –
พุทธบัญญัติห้ามภิกษุสะสมอาหารน่าจะมีมาก่อน เพราะวิถีชีวิตสมณะต้องการความเรียบง่าย ตัดกังวลเรื่องต่างๆ ให้มากที่สุด-รวมทั้งเรื่องกิน
ต่อมาเกิดปัญหาเนื่องจากได้รับอาหารมากเกินความต้องการเฉพาะวัน รวมทั้งมีผู้ถวายอาหารประเภทเสบียงที่ต้องเก็บค้างคืน จึงมีพุทธานุญาตให้มีกัปปิยภูมิ หรือกัปปิยกุฏิ คือครัวสงฆ์ สำหรับเก็บเสบียงอาหารได้
แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่หมดปัญหาเนื่องจากมีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุหุงต้มอาหารฉันเอง แต่เมื่อมีพุทธานุญาตให้มีอารามิกชนได้ ปัญหาเรื่องการหุงต้มเองก็หมดไป
ความจริง ถ้าศึกษาถึงต้นกำเนิดของการมี “อาราม” หรือมีวัดเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่า “อารามิก” ย่อมมีควบคู่มากับการมีวัด
กล่าวคือ สมัยพุทธกาลก่อนที่จะเกิดมีอารามชนิดที่เป็นที่อยู่ประจำของภิกษุนั้น ภิกษุย่อมจาริกแสวงหาสถานที่อันเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ ในคัมภีร์เราจะพบบ่อยๆ ถึงเรื่องภิกษุจำนวนหนึ่งจาริกไป แล้วชาวบ้านนิมนต์ให้อยู่จำพรรษาในป่าใกล้ๆ หมู่บ้าน โดยอ้างว่าชาวบ้านจะได้มีโอกาสถวายทานและฟังธรรม
ถ้าพระรับนิมนต์ ชาวบ้านก็จะช่วยกันปลูกกุฏิ คือกระท่อมเล็กๆ เท่าจำนวนพระ ให้แต่ละรูปใช้เป็นที่พำนัก ระหว่างที่พระพักอยู่ที่นั่นชาวบ้านก็จะช่วยกันปรนนิบัติดูแลอำนวยความสะดวก
พอออกพรรษาพระท่านก็จะลาญาติโยมจาริกต่อไป แต่อาจจะมีบางส่วนที่ยังคงพักอยู่ที่นั่นต่อไป นี่คือเหตุต้นเดิมที่จะเกิดมีวัดขึ้นในพระพุทธศาสนา
ในสังคมไทยเรา แต่ดั้งเดิมชาวบ้านเป็นผู้สร้างวัดแล้วไปหานิมนต์พระมาอยู่ ก็เป็นคติเดียวกันกับในสมัยพุทธกาลนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าชาวบ้านที่นิมนต์ให้พระอยู่จำพรรษาหรือชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดนั่นเองคือผู้ทำหน้าที่ “อารามิก” ประจำวัดนั้นๆ
สมัยก่อน ชาวบ้านไถนาอยู่ข้างวัด พอใกล้เพลก็จะร้องบอกกันว่า “ไปดูหน่อยซิ เพลนี้พระมีอะไรฉันหรือยัง” แล้วก็จะมีโยมผู้หญิงบางคนละมือจากงานบ้าน เข้าไปที่ “กัปปิยภูมิ” เอาเสบียงที่เก็บไว้ในนั้นออกมาปรุงอาหารถวายพระตามแต่จะพอมีเวลาทำได้
วัดในชนบทเดี๋ยวนี้ก็ยังมี “อารามิก” จิตอาสาทำกิจเช่นว่านี้กันอยู่บ้าง ซึ่งควรแก่การอนุโมทนายิ่งนัก
ในตอนต่อไป จะได้วิเคราะห์เจาะลึกถึงศัพท์วิชาการที่ว่า –
อันโตวุตถะ = เก็บไว้ภายในที่อยู่
อันโตปักกะ = หุงต้มภายในที่อยู่
สามปักกะ (สา-มะ-) = หุงต้มเอง
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐
๑๘:๔๙
หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก google
ตอนต่อไป – ความรู้เรื่องการขบฉัน (๐๗)