บาลีวันละคำ

ปีติ ไม่ใช่ ปิติ (บาลีวันละคำ 4,489)

ปีติ ไม่ใช่ ปิติ

ดอกจำปี ไม่ใช่กะปิ

ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็น “เพื่อน” ทางเฟซบุ๊กเขียนคำว่า “ปีติ” (ปี– สระ อี) เป็น “ปิติ” (ปิ– สระ อิ) นึกเห็นใจว่าเมื่อไรหนอจึงจะเลิกเขียนผิดกันเสียที ทำอย่างไรหนอจึงช่วยได้ ก็เลยคิดขึ้นมาเล่น ๆ ว่า “ดอกจำปี ไม่ใช่กะปิ

คำที่มีความหมายว่า ความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะกดเป็น “ปีติ” (ปี– สระ อี)

ภาษาบาลีก็เป็น “ปีติ” (ปี– สระ อี)

ปีติ” (ปี– สระ อี) อ่านว่า ปี-ติ รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = ยินดี, ชอบใจ) + ติ ปัจจัย 

: ปี + ติ = ปีติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยินดี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปีติ” ว่า emotion of joy, delight, zest, exuberance (ความรู้สึกยินดี, ความอิ่มใจ, ความปราโมทย์, ความซาบซ่านหรือดื่มด่ำ)

บาลี “ปีติ” สันสกฤตเป็น “ปฺรีติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรีติ : (คำนาม) ‘ปรีติ,’ ความยินดี, ความประโมท, ความสุข; ความรัก, ความเสนหา, ความนับถือ, วธูของกามเทพ; นักษัตรโยคที่สองในจำนวนยี่สิบเจ็ด; joy, pleasure, happiness; love, affection, regard; the wife of Kâmadeva or Cupid; the second of the twenty-seven astronomical yogas.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปีติ : (คำนาม) ความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ. (ป.; ส. ปฺรีติ).”

ขยายความ :

ปีติ” (ปี– สระ อี) ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนามี 5 อย่าง คือ 1 ขุททกาปีติ 2 ขณิกาปีติ 3 โอกกันติกาปีติ 4 อุพเพคาปีติ 5 ผรณาปีติ 

ลักษณะของ “ปีติ” ทั้ง 5 คัมภีร์อรรถกถาขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

(1) ขุทฺทกาปีติ  สรีเร  โลมหํสมตฺตเมว  กาตุํ  สกฺโกติ  ฯ

ขุททกาปีติสามารถทำเพียงให้ขนในร่างกายชูชันขึ้นได้เท่านั้น

(2) ขณิกาปีติ  ขเณ  ขเณ  วิชฺชุปฺปาทสทิสา  โหติ  ฯ

ขณิกาปีติทำให้รู้สึกแปลบ ๆ เป็นขณะ ๆ ดุจฟ้าแลบ

(3) โอกฺกนฺติกาปีติ  สมุทฺทตีรํ  วีจิ  วิย  กายํ  โอกฺกมิตฺวา  โอกฺกมิตฺวา  ภิชฺชติ  ฯ

โอกกันติกาปีติทำให้รู้สึกซู่ลงมา ๆ ในกายแล้วหายไป เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง

(4) อุพฺเพงฺคาปีติ  พลวตี  โหติ  กายํ  อุทฺธคฺคํ  กตฺวา  อากาเส  ลงฺฆาปนปฺปมาณปฺปตฺตา  ฯ

อุพเพงคาปีติเป็นปีติอย่างแรงจนตัวลอย (ถ้าแรงถึงขนาด) อาจถึงกับลอยไปในอากาศได้

(5) ผรณาปีติ  อติพลวตี  โหติ  ฯ  ตาย  หิ  อุปฺปนฺนาย  สกลสรีรํ  ผริตฺวา  ปูริตวุฏฺฐิ  วิย  มหตา  อุทโกเฆน  ปกฺขนฺทปพฺพตกุจฺฉิ  วิย  จ  อนุปริผุฏํ  โหติ  ฯ

ผรณาปีติเป็นปีติมีกำลังกล้า เมื่อเกิดขึ้นจะแผ่ซ่านเอิบอาบไปทั่วร่างกาย ดุจเต็มไปด้วยเม็ดฝน และดุจเวิ้งเขาที่ห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่ามาท่วมฉะนั้น

ที่มา :

– สัทฺธัมมปัชโชติกา (อรรถกถามหานิทเทส) หน้า 180-181

– สัทธัมมปกาสินี (อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค) ภาค 1 หน้า 305

– อัฏฐสาลินี (อรรถกถาธัมมสังคณี) หน้า 253-255

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต สรุปความไว้ดังนี้ –

…………..

ปีติ : ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำในใจ มี 5 คือ –

1 ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยพอขนชันน้ำตาไหล 

2 ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะรู้สึกแปลบ ๆ ดุจฟ้าแลบ 

3 โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอกรู้สึกซู่ลงมา ๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง 

4 อุพเพคาปีติ ปีติโลดลอย ให้ใจฟูตัวเบาหรืออุทานออกมา 

5 ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์เป็นของประกอบกับสมาธิ 

…………..

สรุปว่า – 

ถ้าเป็นชื่อคน ถือว่าเป็นคำเฉพาะ จะเขียน ปิติ (ปิ– สระ อิ) ก็เขียนไป แต่โปรดทราบว่าผิดหลักภาษา

ส่วนหลักธรรมที่หมายถึงความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ เขียนว่า “ปีติ” (ปี– สระ อี)

ผู้เขียนบาลีวันละคำมีคำแนะนำสนุก ๆ ว่า ทุกครั้งที่เขียนคำว่า “ปีติ” ให้นึกถึงดอกจำปี อย่านึกถึงกะปิ

ปีติ เหมือนดอกจำปี

ไม่ใช่ ปิติ เหมือนกะปิ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เขียนผิดก็ปฏิบัติธรรมจนเกิดปีติในธรรมได้

: แต่ปฏิบัติธรรมจนเกิดปีติในธรรมด้วย เขียนถูกด้วย ดีกว่า

#บาลีวันละคำ (4,489)

26-9-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *