บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๕]

—————————–

ตอนที่ ๘ – ท่าทีของผู้แก้ปัญหา: ส่วนที่เป็น “พระคุณ” (ต่อ-๒)

———

จะเห็นได้ว่า ตามหลักพระธรรมวินัยนั้น พระพุทธศาสนาไม่มีการลงโทษคนผิดด้วยวิธีที่เรียกเป็นสำนวนว่า “รุมจิก” หรือ “รุมกระทืบ” หรือคำสะแลงว่า “ทัวร์ลง” หรือ “แร้งลง” คือใช้กิริยาวาจาดุด่าหยาบคายต่อผู้ทำผิด

ไม่ต้องกล่าวถึงการลงโทษด้วยวิธีทำร้ายทางกาย

ตรงกันข้าม ท่านให้ปฏิบัติต่อกันด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมอันประกอบด้วยเมตตา

การปฏิบัติต่อคนผิดด้วยเมตตาไมตรีจิตนี้ ไม่พึงเข้าใจเตลิดไปว่าหมายถึงการปกป้องคนผิด เห็นด้วยกับคนผิด หรือเข้าข้างคนผิด

แต่หมายถึงให้อบรมสั่งสอนว่ากล่าวกันดีๆ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “นิคฺคยฺหนิคฺคยฺหาหํ  อานนฺท  วกฺขามิ  ปวยฺหปวยฺหาหํ  อานนฺท  วกฺขามิ” = เราจักสั่งสอนโดยการข่มแล้วข่มอีก ยกย่องแล้วยกย่องอีก

ตรงกับที่สำนวนไทยว่า “ทั้งขู่ทั้งปลอบ”

หรือที่อรรถกถาว่า “ธมฺเมน  วินเยน  สตฺถุ  สาสเนน = โดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์”

ขอให้สังเกตว่า ทุกวันนี้ เมื่อมีพระภิกษุสามเณรทำผิด รวมทั้งกรณีที่คนทั่วไปทำผิดหรือประพฤติไม่เหมาะสมด้วยประการต่างๆ สิ่งที่คนทั้งหลายแสดงออกจะไม่ใช่เมตตาไมตรีจิต หรือปฏิบัติโดยธรรมโดยวินัย หากแต่มักจะปรากฏออกมาเป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้ —

ระบายอารมณ์: คือด่าว่าเพื่อความสะใจ ที่ใช้ถ้อยคำหยาบคายแบบรุมจิกรุมกระทืบก็พบเห็นได้ชุกชุม น้อยนักที่จะว่ากล่าวกันด้วยเหตุด้วยผล ชี้ประเด็นถูกผิดให้เห็นด้วยความปรารถนาดี หรือพูดกันดีๆ

น่าเสียดายที่เราใช้เนื้อที่บนสื่อสาธารณะเพื่อการพัฒนาจิตใจและเพื่อความดีความงามทางจิตใจน้อยอย่างยิ่ง

แต่ใช้ไปเพื่อการระบายอารมณ์มากอย่างยิ่ง

เอาความเห็นส่วนตัวเป็นที่ตั้ง: เรื่องนั้นกรณีนั้นหลักพระธรรมวินัยท่านแสดงไว้อย่างไร มีหลักการมีเหตุผลอย่างไร ไม่สนใจไม่รับรู้ เอาแต่ความพอใจส่วนตัวเท่านั้น

กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากก็คือ-พระเลี้ยงแม่ อุ้มแม่ กอดแม่ ผู้คนสรรเสริญกันมากมาย

ไม่มีใครเหลียวแลหลักในพระวินัย

ครั้นมีผู้ยกหลักพระวินัยขึ้นมาท้วง-ร่างกายสตรีแม้จะเป็นมารดาก็ตามท่านว่าเป็นวัตถุอนามาส ภิกษุไม่พึงจับต้อง-ก็ดิ้นออกไปว่า อาบัติก็แค่ทุกฏ (ทุก-กด)

เวลานี้ได้ยินพระอ้างแบบนี้กันมาก-อาบัติก็แค่ทุกฎ!

ภิกษุเจ้าสำนักแห่งหนึ่งจับมือกับสตรีชาวต่างชาติแบบคนจับมือกันตามวัฒนธรรมสากล ถ่ายรูปลงหนังสือพิมพ์เผยแพร่เห็นกันทั่ว ท่านก็อ้างแบบนี้-อาบัติก็แค่ทุกฎ!

เป็นการดูถูก ดูแคลน ดูเบาพุทธอาณาอย่างน่าสลดใจ

ข้อได้โปรดศึกษาพระบาลีต่อไปนี้

………………….

กตมา  อธิสีลสิกฺขา  ฯ  อิธ  ภิกฺขุ  สีลวา  โหติ  ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุโต  วิหรติ  อาจารโคจรสมฺปนฺโน  อนุมตฺเตสุ  วชฺเชสุ  ภยทสฺสาวี  สมาทาย  สิกฺขติ  สิกฺขาปเทสุ  ขุทฺทโก  สีลกฺขนฺโธ  มหนฺโต  สีลกฺขนฺโธ  สีลํ  ปติฏฺฐา  อาทิ  จรณํ  สํยโม  สํวโร  มุขํ  ปมุขํ  กุสลานํ  ธมฺมานํ  สมาปตฺติยา  อยํ  อธิสีลสิกฺขา  ฯ 

อธิศีลสิกขาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล เป็นผู้สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เห็นโทษมีประมาณเล็กน้อยว่าเป็นภัย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ศีล คือศีลขันธ์น้อย ศีลขันธ์ใหญ่ ข้อปฏิบัติพื้นฐาน ข้อปฏิบัติเบื้องต้น หลักดำเนิน ความสำรวม ความระวัง หลักใหญ่ หลักที่เป็นประธานเพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่าอธิศีลสิกขา

หมายเหตุ: “ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร” คือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นปกติวิสัย (pasturing in good conduct)

………………….

ที่มา: คุหัฏฐกสุตตนิทเทส มหานิทเทส พระไตรปิฎกเล่ม ๒๙ ข้อ ๔๖

พระบาลีลักษณะนี้พึงตรวจดูในที่มาอื่นๆ อีก เป็นต้นว่า

– ปาจิตตียกัณฑ์ ปฐมสิกฺขาบทแห่งโอวาทวรรค วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๔๐๗

– สมถขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๖ ข้อ ๖๗๕

– อุปาลิปัญจกะ วินัยปิฎก ปริวาร พระไตรปิฎกเล่ม ๘ ข้อ ๑๑๘๘

– สามัญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๑๐๒

– สุภสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๓๑๘

– จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกฺวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๕๐

– ทสุตรสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกฺวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๖๖

………………….

ข้อความนี้เป็นคำแสดงลักษณะของภิกษุที่ประพฤติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย คำที่ควรสังเกต คือ “อนุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี” (อะนุมัตเตสุ วัชเชสุ ภะยะทัสสาวี) แปลตามศัพท์ว่า “มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายอันมีประมาณเล็กน้อย

แปลสกัดความว่า โทษหรือข้อห้ามแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพียงไร ก็เห็นเป็นเรื่องสำคัญ ไม่กล้าล่วงละเมิด

จะเห็นได้ว่า ความเห็นที่ว่า “อาบัติก็แค่ทุกฎ!” นั้น สวนทางกับพระพุทธพจน์ที่แสดงไว้ทั้งในพระวินัยและในพระสูตรโดยตรง

ทั้งหมดนี้เกิดมาจากเหตุคือ ไม่ศึกษาเรียนรู้

การที่ไม่ศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย ก็พากันเห็นว่าไม่เสียหาย

จากเห็นว่า-ไม่ใช่เรื่องเสียหาย อาการก็กำเริบขึ้นไปถึงขั้น “ไม่รับรู้” กล่าวคือแม้ต่อมาจะมีใครยกพุทธบัญญัติใดๆ ขึ้นมายืนยัน ก็จะไม่ยอมรับรู้ว่ามีผิดมีโทษ กลายเป็นเห็นการประพฤติผิดเป็นเรื่องธรรมดา

แล้วก็กำเริบขึ้นไปอีก คือเห็นการประพฤติผิดเป็นถูก เห็นเป็นเรื่องที่ควรสรรเสริญชื่นชม

ต่อไปก็จะถึงขั้นเห็นว่าพุทธบัญญัติพุทธอาณาเรื่องนั้นไม่เข้ากับกาลสมัย ล้าสมัย ใช้ไม่ได้ ไม่ถูกต้อง

เราเคยเฉลียวใจกันบ้างหรือเปล่าว่า โทษของการไม่ศึกษาเรียนรู้หลักพระธรรมวินัยจะขยายตัวนำไปสู่หายนะแค่ไหน

เอาตัวบุคคลเป็นที่ตั้ง: หมายความว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าคนทำเป็นคนที่เราเกลียด แม้ไม่ผิด เราก็มักจะหาทางตีความให้เห็นว่าผิด ผิดน้อยก็ว่าผิดมาก ถ้าผิดมากก็ถึงขั้นผิดมหันต์ต้องพิฆาตกันให้แหลกลาญไปเลย

แต่การกระทำแบบเดียวกันนั่นเอง ถ้าคนทำเป็นคนที่เรารัก แม้ผิด เราก็มักจะหาทางตีความให้เห็นว่าไม่ผิด ผิดมากก็ว่าผิดน้อย ถ้าผิดน้อยก็จะกลบเกลื่อนให้เป็นไม่ผิดเลย

ที่มักปรากฏอีกอย่างหนึ่งก็คือ หาเล่ห์เหลี่ยมหรือพลิกเหลี่ยมขึ้นมาเพื่อถล่มกันหรือช่วยเหลือกัน

เช่น เกิดไฟไหม้เรือรบลำหนึ่งเสียหายไปเกือบครึ่งลำ

ฝ่ายที่เกลียดผู้บังคับการเรือบอกว่า ผู้บังคับการมีความผิดฐานประมาทเลินเล่อทำให้เกิดไฟไหม้เรือได้รับความเสียหายถึงครึ่งลำ

ฝ่ายที่รักผู้บังคับการเรือบอกว่า ผู้บังคับการมีความดีความชอบที่สามารถรักษาเรือไว้ได้ถึงครึ่งลำ

เพราะมุ่งแต่จะทำลายคนที่เราเกลียดหรือมุ่งแต่จะปกป้องคนที่เรารัก ย่อมเป็นเหตุให้มองข้ามข้อเท็จจริงและละเลยหลักการที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับวินิจฉัยติดสินกรณีนั้นๆ

ถ้าเอาท่าทีเช่นนี้มาใช้กับพระธรรมวินัย ก็เป็นเหตุให้พระธรรมวินัยวิปริต

ท่าทีที่ถูกต้องก็คือ-ตัดความเป็นตัวบุคคลออกไป ด้วยการวางใจเป็นกลาง พิจารณาเฉพาะสิ่งที่เขาทำและหลักเกณฑ์อันว่าด้วยกรณีนั้นๆ อย่างบริสุทธิ์

ขอให้ศึกษาพระจริยาของพระพุทธองค์เป็นแบบแผน ดังอันตรคาถาต่อไปนี้ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาซึ่งนักเรียนบาลีน่าจะคุ้นกันดี

………………….

วธเก เทวทตฺตมฺหิ

โจเร องฺคุลิมาลเก

ธนปาเล ราหุเล จ

สพฺพตฺถ สมมานโส.

ในขมังธนู ในพระเทวทัต

ในโจรองคุลิมาล

ในช้างธนบาล และในพระราหุล

พระพุทธองค์ทรงมีน้ำพระทัยเสมอกันทั้งหมด

…..

ที่มา: ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ เทวทัตตวัตถุ

คาถาความเดียวกันนี้ แต่พยัญชนะผิดแผกกันไปบ้าง มีในคัมภีร์อื่นอีก คือ

– ปปัญจสูทนี ภาค ๒ มัชฌิมนิกายัฏฐกถา วีมังสกสุตตวัณณนา หน้า ๖๔๒

– ปรมัตถทีปนี อิติวุตตกวัณณนา พราหมณสุตตวัณณนา หน้า ๕๐๓

– ปรมัตถทีปนี ภาค ๑ เถรคาถาวัณณนา (อุปาลิเถรคาถา) หน้า ๗๘๕

หวังใจว่านักเรียนบาลีของเราที่เรียนแต่คัมภีร์ตามหลักสูตรจะได้เฉลียวใจฉุกคิดว่า ในขณะที่เรากระหยิ่มว่าเราสอบได้แล้วหรือเรียนบาลีจบแล้วนั้น แท้ที่จริงยังมีคัมภีร์อีกเป็นอันมาก-โดยเฉพาะตัวพระบาลีพระไตรปิฎกแท้ๆ-ที่เรายังไม่เคยเข้าไปศึกษาค้นคว้าเลย

หากมีอุตสาหะที่จะไปเรียนต่อยอดทางอื่น ก็ขอให้มีอุตสาหะที่จะศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกอันเป็นเนื้อเป็นตัวของพระศาสนาเหล่านี้ด้วยเถิด

………………….

ใครจะบอกว่า ฉันไม่ใช่พระพุทธเจ้า ฉันไม่ใช่อริยะ ฉันทำไม่ได้และฉันจะไม่ทำ ฉันจะเกลียดคนที่ฉันอยากเกลียด ฉันจะรักคนที่ฉันอยากรัก มันเป็นสิทธิส่วนบุคคล คนอื่นไม่ต้องมายุ่งกับเรื่องส่วนตัวของฉัน

ก็ตามใจ ไม่ว่ากัน

แต่ถ้าบอกว่ารักพระศาสนาก็ควรจะรักพระศาสดาด้วย

และถ้ารักพระศาสดาก็ควรพยายามดำเนินตามรอยพระศาสดาด้วย-ให้เต็มกำลังความสามารถ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น

ถ้าวางใจเป็นกลางได้ ไม่ติดในตัวบุคคล ก็จะสามารถนำหลักความรู้ที่ได้จากการศึกษาพระธรรมวินัยมาวินิจฉัยพฤติกรรมของบุคคลได้อย่างเป็นอิสระ อำนวยให้เกิดความเที่ยงธรรมได้ ไม่ว่าจะในขั้นกำหนดท่าที่ของตัวเอง หรือในขั้นที่จะแสดงความเห็นสู่สาธารณะ

การไม่มุ่งตัวบุคคล หากแต่มุ่งจัดการตัวปัญหาอย่างบริสุทธิ์ใจ ยังจะช่วย “ปิดปาก” คนประเภทหนึ่งได้ด้วย นั่นคือคนประเภทที่-พอมีข้อขัดแย้งอะไรเกิดขึ้นก็จะออกมาปรามว่า “เขายุให้ชาวพุทธทะเลาะกันยังไม่รู้ตัวอีกหรือ”

ความประสงค์ที่ออกมาพูดแบบนี้ก็คือ ไม่ว่าใครจะทำผิดทำถูกแบบไหนอย่างไรต้องเงียบสงบอย่างเดียว อย่ายกขึ้นมาวิจารณ์

เมื่อไม่เอาตัวบุคคลมาชนกับใคร ก็ไม่มีใครทะเลาะกับใคร มีแต่การแก้ปัญหาไปที่ตัวปัญหาตรงๆ คนที่ก่อปัญหานั้นๆ จะได้รับผลตามการกระทำจริงๆ ของตน ไม่ใช่ได้รับผลอันเกิดจากการที่มีใครไปทะเลาะกับเขา เพราะเราไม่ได้ทะเลาะกับเขา แต่เราทะเลาะกับการกระทำของเขา เราแยกตัวเขากับการกระทำของเขาออกจากกัน

……………..

ตัวอย่างสดๆ ที่เกิดขึ้นก็คือ ในการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดในช่วงนี้ (กันยายน-ตุลาคม ๒๕๖๓) มีภาพผู้ครองสมณเพศไปยืนชู ๓ นิ้วไล่รัฐบาลร่วมกับประชาชน รวมทั้งภาพสตรีที่ครองเพศ “แม่ชี” ก็ไปยืนชู ๓ นิ้วด้วย

พระเดินตามเสลี่ยง มีผู้ยกขึ้นตำหนิติเตียนกันมาก-โดยเฉพาะจากบรรดาท่านที่สนับสนุนการชุมนุมขับไล่รัฐบาล-ว่าไม่ใช่วัตรปฏิบัติของสงฆ์

แต่ภาพบุรุษผู้ครองสมณเพศและสตรีที่ครองเพศ “แม่ชี” ไปยืนชู ๓ นิ้วไล่รัฐบาลร่วมกับประชาชนนั้น ยังไม่ได้ยินเสียงตำหนิติเตียนว่าไม่ใช่วัตรปฏิบัติของสงฆ์-จากบรรดาท่านที่สนับสนุนการชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่เคยตำหนิติเตียนกรณีพระเดินตามเสลี่ยงนั้นเลย

นี่ก็เพราะเราเอาตัวบุคคลและความชอบความชังส่วนตัวเป็นที่ตั้ง หาได้เอาการกระทำของบุคคลเป็นที่ตั้งไม่นั่นเอง

พฤติกรรม-การกระทำใดๆ ถ้าผิด

คนที่เราชังทำ ก็ผิด

คนที่เราชอบทำ ก็ต้องผิด

หมายเหตุ: ท่านที่ตำหนิเสมอกันก็มี คือพระเดินตามเสลี่ยงท่านก็ตำหนิ พระไปชู ๓ นิ้วท่านก็ตำหนิ นี่คือเอาการกระทำเป็นหลัก ไม่ได้เอาเป้าหมายที่ทำเป็นหลัก ถ้าเอาเป้าหมายที่ทำเป็นหลัก ก็จะเกิดอคติได้อีก เช่นถ้าเขาด่าคนที่เราเกลียด เราก็ว่าดี แต่ถ้าเขาด่าคนที่เรารัก เราก็ว่าไม่ดี นี่ก็เพราะเราคำนึงแต่ว่าเขาทำแก่ใครหรือทำเพื่อใคร แต่กลับมองข้ามสิ่งที่เขาทำหรือตัวการกระทำของเขา

เพราะฉะนั้น ก็จึงไม่ต้องเอาตัวเขาหรือเอาตัวใครมาเป็นเป้าโจมตี พิจารณาตรงไปที่การกระทำล้วนๆ

เราก็จะดำรงอยู่ในความเที่ยงธรรม มิใช่เอนเอียงไปตามตัวบุคคล

……………

(มีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๓

๑๑:๐๙

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๔]

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3444276655666047

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๖]

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3446126748814371

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *