มนุสเนรยิโก (บาลีวันละคำ 3,754)
มนุสเนรยิโก
มนุษย์สัตว์นรก
เขียนแบบกึ่งไทยกึ่งบาลี แต่อ่านแบบบาลีว่า มะ-นุด-สะ-เน-ระ-ยิ-โก
ประกอบด้วยคำว่า มนุส + เนรยิโก
(๑) “มนุส”
เขียนแบบบาลีเป็น “มนุสฺส” อ่านว่า มะ-นุด-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) มน (ใจ) + อุสฺส (สูง)
: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีใจสูง”
(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุสฺส ปัจจัย
: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์”
(3) มนุ (มนู = มนุษย์คนแรก) + อุสฺส (แทนศัพท์ อปจฺจ = เหล่ากอ หรือ ปุตฺต = ลูก)
: มนุ + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของมนู” หรือ “ผู้เป็นลูกของมนู”
คำว่า “มนู” หรือนิยมเรียกว่า “พระมนู” แปลว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของสัตวโลก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มนู : (คำนาม) ชื่อพระผู้สร้างมนุษยชาติและปกครองโลก มี ๑๔ องค์ เรียงกันเป็นยุค ๆ ไป, ยุคหนึ่งเรียกว่า มนวันดร นานกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี องค์แรก คือ พระสวายมภูวะ พระมนูองค์นี้ถือกันว่าเป็นผู้ทรงออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ซึ่งยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้เรียกว่า มนุสัมหิตา หรือ มนุสมฺฤติ, เพราะฉะนั้น คํา มนู จึงหมายถึงกฎหมายก็ได้ เช่น มนูกิจ. (ส. มนุ).”
บาลี “มนุสฺส” สันสกฤตเป็น “มนุษฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“มนุษฺย : (คำนาม) มนุษย์, มนุษยชาติ; man, mankind.”
ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “มนุษย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มนุษย-, มนุษย์ : (คำนาม) สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน. (ส.; ป. มนุสฺส).”
ความหมายของคำว่า “มนุสฺส – มนุษย์” ที่ยอมรับกันมากที่สุดและเป็นความหมายตามตัวอักษรด้วย คือ “ผู้มีใจสูง”
ในที่นี้เขียนอิงรูปบาลี และตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งเป็น “มนุส”
(๒) “เนรยิโก”
อ่านว่า เน-ระ-ยิ-โก รูปคำเดิมเป็น “เนรยิก” อ่านว่า เน-ระ-ยิ-กะ รากศัพท์มาจาก นิรย + ณิก ปัจจัย
(ก) “นิรย” อ่านว่า นิ-ระ-ยะ รากศัพท์มาจาก นิ + ร อาคม + อย
(1) “นิ” เป็นศัพท์จำพวก “อุปสรรค” นักเรียนบาลีในเมืองไทยท่องกันว่า “นิ = เข้า, ลง, นิ = ไม่มี, ออก”
อภิปรายแทรก :
อาจารย์ผู้สอนบาลีแสดงความเห็นว่า อุปสรรคตัวนี้เป็น “นิ” (สระ อิ) ตัวหนึ่ง เป็น “นี” (สระ อี) ตัวหนึ่ง คือ “นิ = เข้า, ลง” และ “นี = ไม่มี, ออก” แต่เนื่องจากตำราพิมพ์ผิด “นี” ตัวหลังพิมพ์เป็น “นิ” กลายเป็น “นิ” ทั้ง 2 ตัว แล้วไม่ได้แก้
ลองตรองดูก็ประหลาดอยู่ ถ้าเป็น “นิ” เหมือนกันทั้ง 2 ตัว ไฉนจึงแยกเป็น “นิ = เข้า, ลง, นิ = ไม่มี, ออก” ทำไมจึงไม่ว่า “นิ = เข้า, ลง, ไม่มี, ออก” รวดเดียวไปเลย
อาจารย์ผู้สอนบาลีรุ่นใหม่จึงยุติว่า “นิ” ตัวหลังต้องเป็น “นี” คือต้องเป็น “นิ = เข้า, ลง” และ “นี = ไม่มี, ออก”
ถ้ายุติดังว่านี้ อุปสรรคตัวนี้ก็คือ “นี” = ไม่มี, ออก รัสสะ อี เป็น อิ
(2) “อย” อ่านว่า อะ-ยะ รากศัพท์มาจาก อยฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อ (อะ) ปัจจัย
: อยฺ + อ = อย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “เหตุให้ถึงสมบัติต่างๆ” (2) “ภาวะที่แช่มชื่น” (3) “แดนที่มาแห่งความสุข” หมายถึง ความเจริญ; ความสุข; บุญ, ความดี
นิ + อย ลง ร อาคมระหว่างอุปสรรคกับนาม (นิ + ร + อย)
: นิ + ร + อย = นิรย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภพที่ปราศจากผลที่น่าปรารถนา” (2) “ภพที่มีการไปที่น่าติเตียน” (3) “ภพที่ปราศจากความเจริญ” (4) “ภพที่ไม่มีความสุข”
“นิรย” หมายถึง นรก, นิรยะ, สถานที่ลงโทษและทรมานซึ่งทดแทนกรรมชั่วที่ก่อไว้ (purgatory, hell, a place of punishment & torture, where sin is atoned)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิรย- : (คำแบบ) (คำนาม) นรก. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “นิรยะ” บอกไว้ดังนี้ –
“นิรยะ : นรก, ภพที่ไม่มีความเจริญ, ภูมิที่เสวยทุกข์ของคนผู้ทำบาปตายแล้วไปเกิด (ข้อ ๑ ในทุคติ ๓, ข้อ ๑ ในอบาย ๔).”
“นิรยะ” เป็นคำที่เราไม่คุ้น คำที่เราคุ้นกันดีคือ “นรก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นรก : (คำนาม) แดนหรือภูมิที่เชื่อกันว่าผู้ทำบาปจะต้องไปเกิดและถูกลงโทษ, โดยปริยายหมายถึงแดนที่มีแต่ความทุกข์ทรมาน. (ป., ส. นรก ว่า เหว).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “นรก” บอกไว้ดังนี้ –
“นรก : เหวแห่งความทุกข์, ที่อันไม่มีความสุขความเจริญ, ภาวะเร่าร้อนกระวนกระวาย, ที่ไปเกิดและเสวยความทุกข์ของสัตว์ผู้ทำบาป (ข้อ ๑ ในทุคติ ๓, ข้อ ๑ ในอบาย ๔).”
…………..
(ข) นิรย + ณิก ปัจจัย, ลบ ณ (ณิก > อิก), แผลง อิ ที่ นิ-(รย) เป็น เอ (นิรย > เนรย)
: นิรย + ณิก > อิก = นิรยิก > เนรยิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดในนรก” เรียกสั้นๆ ว่า สัตว์นรก
มนุสฺส + เนรยิก = มนุสฺสเนรยิก (มะ-นุด-สะ-นิ-ระ-ยิ-กะ) แปลตามสำนวนคำสมาสว่า “มนุษย์ผู้เพียงดังสัตว์นรก”
“มนุสฺสเนรยิก” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “มนุสฺสเนรยิโก” อ่านว่า มะ-นุด-สะ-นิ-ระ-ยิ-โก
ในที่นี้ถือว่า “มนุสสเนรยิโก” เป็นคำไทย แต่เขียนอิงรูปบาลี และตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง จึงเป็น “มนุสเนรยิโก”
ที่ตัดตัวสะกดออกนั้น เทียบตามคำว่า “อุตฺตริมนุสฺสธมฺม” (อุด-ตะ-ริ-มะ-นุด-สะ-ทำ-มะ) ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ สะกดเป็น “อุตริมนุสธรรม” “มนุสฺส” ตัด ส ออกตัวหนึ่งเป็น “มนุส”
ขยายความ :
“มนุสเนรยิโก” เป็นคำในชุดมนุษย์ 4 ประเภท คือ –
(1) มนุสเนรยิโก = มนุษย์สัตว์นรก
(2) มนุสเปโต = มนุษย์เปรต
(3) มนุสติรัจฉาโน = มนุษย์เดรัจฉาน
(4) มนุสภูโต = มนุษย์ที่แท้จริง
“มนุสเนรยิโก” = มนุษย์สัตว์นรก คือ ผู้ทำผิดศีลธรรมผิดกฎหมาย ต้องโทษลงทัณฑ์ด้วยประการต่างๆ จากทางบ้านเมือง เหมือนตกนรก
คัมภีรปรมัตถทีปนี (อรรถกถาวิมานวัตถุ) บรรยายลักษณะของ “มนุสเนรยิโก” ไว้ ดังนี้ –
…………..
โย หิ มนุสฺสชาติโกว สมาโน ปาณาติปาตาทึ อกตฺตพฺพํ กตฺวา ทณฺฑารโห ตตฺถ ตตฺถ ราชาทิโต หตฺถจฺเฉทาทิกมฺมการณํ ปาปุณนฺโต มหาทุกฺขํ อนุภวติ ฯ อยํ มนุสฺสเนรยิโก นาม ฯ
ผู้ใดแลมีกำเนิดเป็นมนุษย์แท้ๆ หากแต่มากระทำกรรมที่ไม่ควรทำ เช่นฆ่าเขาเป็นต้น จึงสมควรได้รับโทษ เมื่อต้องโทษจากทางบ้านเมืองในคดีความนั้นๆ เช่นถูกตัดมือเป็นต้น ย่อมเสวยทุกข์เป็นอันมาก นี่แหละคือ “มนุสเนรยิโก” – มนุษย์สัตว์นรก
ที่มา: ปรมัตถทีปนี (อรรถกถาวิมานวัตถุ) หน้า 29 (ปฐมปีฐวิมาน)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ลองไปติดคุกดูสักยก
: แล้วจะรู้ว่านรกมีจริง
#บาลีวันละคำ (3,754)
22-9-65
…………………………….
…………………………….