บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๘]

—————————–

ตอนที่ ๔ – วิธีวินิจฉัย

———

เมื่อได้ศึกษากรอบของพระภิกษุสามเณรอันมีพระธรรมวินัยเป็นหลักจนพอมีความรู้แล้ว เมื่อเกิดกรณีพระภิกษุสามเณรประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาว่าทำอย่างนั้นผิดหรือไม่ผิด ชาวพุทธย่อมสามารถวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง

ขออนุญาตแสดงพอเป็นตัวอย่าง

กรณีสตรีนั่งบนเสลี่ยง มีขบวนแห่แหน และมีพระเดินตามหลังเสลี่ยง พระทำเช่นนั้นผิดหรือไม่?

ขอใช้หลักพื้นฐานที่ท่านรวบรวมไว้ในหนังสือ “นวโกวาท” (ซึ่งย่อยย่อมาจากพระวินัยปิฎก) ยกมาเฉพาะที่ระลึกได้

มีสิกขาบทข้อหนึ่งว่า “ภิกษุไปดูกระบวนทัพที่เขายกไปเพื่อจะรบกัน ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุ” (ปาจิตตีย์ ๙๒ อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๘)

อีกสิกขาบทหนึ่งว่า “ในเวลาที่อยู่ในกองทัพตามกำหนดนั้น ถ้าไปดูเขารบกันก็ดี หรือดูเขาตรวจพลก็ดี ดูเขาจัดกระบวนทัพก็ดี ดูหมู่เสนาที่จัดเป็นกระบวนแล้วก็ดี ต้องปาจิตตีย์” (ปาจิตตีย์ ๙๒ อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๑๐)

ขบวนแห่กฐินอนุโลมเข้าได้กับกระบวนทัพตามสิกขาบทที่ยกมานี้

อย่าว่าถึง “ไปเดิน” ในขบวนเลย

แม้แต่ “ไปดู” ท่านก็ห้าม

นอกจากนี้ยังมีสิกขาบทบางข้อในเสขิยวัตร ๗๕ ในหมวดธัมมเทสนาปฏิสังยุต ว่าด้วยการแสดงธรรม ดังนี้ –

………………

ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งบนอาสนะต่ำจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งบนอาสนะสูง (ข้อ ๑๓)

ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรายืนอยู่จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่ (ข้อ ๑๔)

ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปข้างหลังจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้เดินไปข้างหน้า (ข้อ ๑๕)

ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปนอกทางจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้ไปในทาง (ข้อ ๑๖)

………………

สิกขาบทเหล่านี้แม้จะกำหนดเป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับการแสดงธรรม ระหว่างผู้แสดงกับผู้ฟังอันพึงแสดงออกถึงความเคารพธรรม แต่ก็สามารถอนุโลมใช้กับกรณีทั่วไปได้ด้วย คือใช้ในการแสดงออกถึงความเคารพระหว่างคฤหัสถ์กับพระสงฆ์ เช่น –

คฤหัสถ์ไม่นั่งอาสนะสูงกว่าพระสงฆ์ และในทางกลับกัน พระสงฆ์ก็ไม่พึงนั่งอาสนะต่ำกว่าคฤหัสถ์โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ถ้าพระสงฆ์ยืน คฤหัสถ์ต้องยืนด้วย (ตามวัฒนธรรมชาวชมพูทวีป)

คฤหัสถ์ไม่เดินหน้าพระสงฆ์ ในทางกลับกันก็คือ พระสงฆ์ไม่เดินตามหลังคฤหัสถ์เมื่อไม่มีเหตุจำเป็นอย่างอื่น

คฤหัสถ์เดินในทาง ก็ต้องไม่ให้พระสงฆ์เดินนอกทาง

กรณีนี้ขอให้นึกถึงทางเดินที่เขาปูพรม พระสงฆ์กับคฤหัสถ์เดินไปด้วยกัน ถ้าคฤหัสถ์เดินบนพรม ก็ต้องให้พระสงฆ์เดินบนพรมด้วย ไม่ใช่ตัวเองเดินบนพรม แต่ให้พระสงฆ์เดินนอกพรม

นอกจากนี้ยังมีหลักว่าด้วยบุคคลที่ภิกษุไม่พึงไหว้ ระบุว่าภิกษุไม่ควรไหว้อนุปสัมบัน คือคนที่ไม่ใช่ภิกษุด้วยกัน หลักการก็คือพระสงฆ์ต้องไม่แสดงกิริยาใดๆ ที่บ่งบอกว่าเป็นการเคารพคฤหัสถ์ (การเดินตามหลังคฤหัสถ์เป็นกิริยาที่บ่งบอกถึงการเคารพคฤหัสถ์)

หลักที่ว่ามานี้ยกมาเฉพาะข้อที่เคยเห็นแล้วตามไปหาดู ส่วนที่ยังไม่เคยเห็นยังมีอีก ถ้าตามไปหาหรือช่วยกันหาหลายๆ คนก็จะพบได้ง่ายและพบหลักที่ครอบคลุมครบถ้วนกว่านี้

………………..

เมื่อศึกษาหลักการเหล่านี้ มักจะเกิดข้อขัดแย้งขึ้นในใจว่า ก็ทีเรื่องโน้นทำไมทำอย่างนั้นล่ะ ก็ทีท่านผู้นั้นทำไมทำอย่างโน้นได้ล่ะ ถ้าเช่นนั้นที่ทำที่นั่นที่โน่นก็ไม่ถูกละสิ แล้วทำไมเขายังทำอยู่ได้ล่ะ

เรื่องนี้พึงตั้งหลักให้มั่นว่า ไม่ว่าที่ไหนหรือใครจะทำอะไรอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าผิดหรือแย้งกับหลักการก็ต้องมีความซื่อตรงชี้ลงไปตรงๆ ว่าผิด จะยกเอาสถานะของบุคคลหรือเหตุอื่นใดอันขัดหรือแย้งกับหลักการมาเป็นข้ออ้างว่าถูกนั้นหาชอบไม่

คือผิดหรือถูกต้องว่าไปตามหลักการก่อน ส่วนใครจะแก้ไขหรืออธิบายกรณีนั้นๆ อย่างไรก็แยกออกไปว่าอีกทางหนึ่ง แต่ไม่ควรเอาการกระทำผิดๆ มาเป็นข้ออ้างว่า-ถ้าแบบนั้นทำได้ แบบนี้ก็ต้องทำได้ ถ้าคนนั้นทำได้ ฉันก็ต้องทำได้

เอาผิดมาคานผิด ไม่ได้ทำให้ผิดกลายเป็นถูก

แต่มันคือผิดทวีคูณหรือผิดซ้ำซ้อน

อนึ่ง โปรดเข้าใจว่า ความที่ผมว่ามานี้เป็นเพียงการแสดงวิธียกหลักการมาจับพฤติการณ์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่การกำหนดท่าทีของเราว่าควรจะสนับสนุน คัดค้าน หรือวางใจเป็นกลาง

ยังไม่ใช่การวินิจฉัยตัดสินถูกผิด

ท่านผู้อื่นเมื่อได้ศึกษาเทียบทานหลักต่างๆ แล้ว อาจมีความเห็นเป็นอย่างอื่น หรือได้พบหลักที่ชี้ชัดกว่าที่แสดงมานี้ ก็สามารถนำมาพิจารณาประกอบการวินิจฉัยได้อีก

ขอความกรุณาอย่าเอาไปอ้างว่า-กรณีพระเดินตามเสลี่ยง ทองย้อยตัดสินแล้วว่าผิด (หรือไม่ผิด)

ขั้นการวินิจฉัยตัดสินถูกผิดต้องกระทำโดยผู้มีตำแหน่ง มีอำนาจ และมีหน้าที่วินิจฉัยตัดสินซึ่งจะได้กล่าวถึงข้างหน้า

กรณีอื่นๆ ก็คงใช้หลักการเดียวกัน คือ –

(๑) ศึกษาสอบสวนค้นคว้าเรียนรู้พระธรรมวินัยอันเป็นหลักใหญ่หรือกรอบใหญ่ พร้อมทั้งกรอบอื่นๆ อันจะเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือหรือแนวทางสำหรับวินิจฉัยปัญหาให้มีความรู้พร้อมไว้เสมอ

(๒) เมื่อมีกรณีใดๆ เกิดขึ้นก็ใช้ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเรียนรู้นั้นวินิจฉัย

……………

(มีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓

๑๕:๑๑

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๗]

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3440423252718054

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๙]

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3440675439359502

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *