บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ศาสนาพระศรีอารย์ที่อยู่ตรงหน้า

ศาสนาพระศรีอารย์ที่อยู่ตรงหน้า

————————–

เมื่อเช้านี้ (๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๒) ผมเดินออกกำลังตามปกติ ขากลับ เดินเข้าซอยวัดเขาเหลือ (บ้านผมเข้าได้ ๒ ซอย คือซอย ๑ ถนนเขางู อยู่ทางตะวันตก และซอยวัดเขาเหลือ อยู่ทางใต้) เห็นหลวงพ่อวัดเขาเหลือกำลังรับบาตรอยู่ข้างหน้า 

“รับบาตร” หมายถึงรับอาหารบิณฑบาตที่มีคนใส่ 

คือพระออกบิณฑบาต 

มีคนใส่บาตร 

พระรับอาหารที่คนใส่บาตร 

เรียกว่า “รับบาตร”

ผมเข้าใจว่าคำเดิมคงพูดว่า “รับบิณฑบาต” (บิณฑบาต หมายถึงอาหารที่มีคนถวายในเวลาออกบิณฑบาต เป็นวิธีดำรงชีพของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้) แต่พูดตัดคำว่า รับ-บาด คือ รับ(บิณฑ)บาต แล้วเอาเสียง รับ-บาด มาเขียนใหม่เป็น “รับบาตร” – คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔

หลวงพ่อวัดเขาเหลือท่านออกบิณฑบาตทุกวัน บรรดาพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส เท่าที่ผมรู้ น้อยรูปที่จะออกบิณฑบาต – (มีเหตุผลที่ไม่ออกบิณฑบาตเยอะแยะไปหมด ที่ท่านอธิบายเองและคนอื่นๆ ช่วยอธิบายแทน) – หลวงพ่อวัดเขาเหลือเป็น ๑ ในจำนวนน้อยรูปนั้น

พอผมเดินไปถึงตรงนั้น คนใส่บาตรก็ใส่เสร็จพอดี 

“อนุโมทนาบุญด้วยครับ” ผมยกมือประนมพร้อมกับพูดดังพอที่เขาจะได้ยิน 

เป็นหลักประจำใจที่ผมจะพูดอย่างนี้ทุกครั้งที่เห็นคนใส่บาตร ไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่รู้จัก

เขามองหน้าผม เราไม่รู้จักกัน เขามองเฉยๆ ไม่แสดงอาการตอบรับใดๆ จากกิริยาท่าทีพอจะเดาออกว่าเขาไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรและไม่รู้ว่าจะแสดงอาการอย่างไรดี 

หรือมองอีกนัยหนึ่ง – ในเมื่อเป็นคนไม่รู้จักกัน เขาคงคิดไม่เป็นเห็นไม่ได้ว่ามันเรื่องอะไรที่จะต้องมาเอ่ยปากอนุโมทนากันข้างถนนแบบนี้ – ฉันใส่บาตรก็เรื่องของฉัน คุณมายุ่งอะไรด้วย – เขาอาจคิดแบบนี้ก็ได้ 

แต่เท่าที่ผมประพฤติมา พอเอ่ยปากว่า “อนุโมทนาบุญด้วยครับ” ส่วนมากจะตอบรับเป็นอันดี เช่นตอบว่า “อนุโมทนาค่ะ” หรือ “อนุโมทนาครับ”

……………………

ผมรู้สึกว่า ตกมาถึงยุคนี้ น้ำจิตน้ำใจแบบไทยๆ หายไปเยอะ หายไปเกือบหมด หรืออาจจะหายไปหมดแล้วก็ได้ 

คนไทยสมัยนี้คิดไม่เป็นเห็นไม่ได้ว่า-เรื่องอย่างนี้จะมีใครเขาทำกัน 

ตุ่มน้ำหน้าบ้านที่ตั้งไว้เป็นทาน – เป็นเรื่องหนึ่งที่คนสมัยนี้นึกไม่ออกว่า ทำไมจะต้องทำอย่างนั้น

มิหนำซ้ำ ยกเอาเรื่องความสะอาดและการแพร่เชื้อโรคขึ้นมาเป็นข้อตำหนิเอาด้วย 

ผมกินน้ำจากตุ่มน้ำหน้าบ้านมาไม่รู้ว่ากี่บ้านกี่กระบวย สุขภาพยังไปได้สวยอยู่จนถึงทุกวันนี้

แต่-ไม่เถียงละครับ วิธีคิด วิธีมอง วิธีให้เหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ตามยุคตามสมัย

—————

วันหนึ่ง ผมเดินออกกำลัง ไปเห็นที่หน้าบ้าน-หรือหน้าร้าน-แห่งหนึ่งตั้งโต๊ะ มีกล้วยวางบนโต๊ะหลายหวี 

ผมถ่ายภาพนั้นไว้ แล้วเกิดจินตนาการ 

จินตนาการของผมก็คือ – มีคนมาถามซื้อกล้วย 

คนขายตอบชัดๆ ว่า “ไม่ขายครับ” 

คนซื้อมองหน้า ไม่เข้าใจ 

บางคนก็เข้าใจไปว่า ไม่ขายเพราะมีคนมาเหมาไว้แล้ว ขายให้คนอื่นไม่ได้ อีกสักครู่คนที่เหมาไว้ก็จะมาเอา 

แต่เข้าใจผิดหมด 

คำว่า “ไม่ขายครับ” หมายความว่า กล้วยบนโต๊ะนี้ไม่ได้วางไว้เพื่อจะขาย แต่วางไว้เพื่อจะแจกให้แก่คนที่ต้องการ 

ใครอยากได้ บอก จะยกให้เปล่าๆ ไม่เอาเงิน ไม่ขาย เพราะกล้วยนี้ตัดมาจากสวนตัวเอง ไม่ได้ปลูกไว้ขาย แต่ปลูกไว้กินเอง เหลือกินก็เอามาวางไว้เป็นทานแก่เพื่อนมนุษย์ 

นี่คือเหตุผลที่บอกว่า “ไม่ขายครับ” 

คนสมัยนี้คงคิดไม่เป็นเห็นไม่ได้ 

ใครมันจะทำยังงี้ ไม่มีหรอกในโลกนี้ 

—————

สมัยผมเป็นเด็กเลี้ยงวัว ถ้าทุ่งที่ต้อนวัวไปหากินเป็นเส้นทางที่คนกลับจาก “ไปนัด” (ไปจับจ่ายซื้อขายของที่ตลาด) จะต้องผ่าน ผมจะเอาผ้าขาวม้าปูไว้ที่ริมทาง เอากิ่งไม้ที่มีง่ามเหมือนตาขอหรือหักให้งอเหมือนตาขอมาปักไว้ใกล้ๆ เป็นเครื่องหมายที่บอกให้รู้ว่า “ขอ” 

เชื่อหรือไม่ว่า คนที่ไปนัดกลับมา เอาขนมบ้าง อ้อยบ้าง ของกินอื่นๆ ตามแต่จะมีบ้าง วางไว้บนผ้าขาวม้า – ให้เป็นทานแก่เด็กเลี้ยงวัว

คนสมัยนี้ไม่มีทางเชื่อเด็ดขาดว่ามีคนทำอย่างนี้ 

แต่ผมอยู่ในที่เกิดเหตุ เป็นตัวแสดงจริงในท้องเรื่อง ยืนยันได้ว่ามีจริง มีคนทำจริง ผมได้กินขนมที่ได้จากผ้าขาวม้า-ตาขอที่ว่านี้มาแล้วจริงๆ

คนสมัยนี้ไม่เชื่อ เพราะไม่เคยเจอไม่เคยเห็น ประสบการณ์ต่างกัน สิ่งแวดล้อมต่างกัน 

ก็นี่แหละที่ผมว่า-ตกมาถึงยุคนี้ น้ำจิตน้ำใจแบบไทยๆ หายไปเยอะ หายไปเกือบหมด หรืออาจจะหายไปหมดแล้วก็ได้

วางกล้วยไว้แจกเป็นทาน ก็ไม่มีใครเชื่อว่าจริง 

อนุโมทนาบุญ แล้วไม่รับรู้ – ฉันไม่รู้จักคุณ คุณมายุงอะไรกับฉัน – ก็เกิดมาจากความคิดไม่เป็นเห็นไม่ได้ว่า-คนไม่รู้จักกันจะต้องมาพูดอะไรกัน 

น้ำใจไมตรีจิต แสดงออกได้เสมอแม้ในเรื่องง่ายๆ ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องควักกระเป๋า 

แต่เราก็คิดไม่เป็นเห็นไม่ได้ว่า-ทำไมจะต้องทำ 

เราหลายคนตั้งความปรารถนาขอไปเกิดในศาสนาพระศรีอารย์ 

พระศรีอารย์นั้นชื่อจริงๆ ที่ถูกต้องคือ “พระเมตไตรย” 

“เมตไตรย” คำบาลีว่า “เมตฺติ” คำเดียวกับที่เราใช้ว่า “ไมตรี” ในภาษาไทย 

น้ำใจไมตรีที่รออยู่ตรงหน้านี้เองเรายังไม่สร้างไม่ทำกัน 

แล้วจะไปหวังให้ทันศาสนาพระศรีอารย์กันในชาติไหน?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๒

๑๒:

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *