บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง บอกบุญอุโบสถ

บอกบุญอุโบสถ (๒๐) (จบ)

——————-

คณะอุโบสถบอกบุญ

ชาวคณะอุโบสถวัดมหาธาตุ ราชบุรี สมัยปัจจุบัน พร้อมใจกันมาถืออุโบสถตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๘ ผู้ถืออุโบสถแล้วกลับไปนอนบ้านมีมากพอสมควร ผู้ถืออุโบสถนอนค้างวัดมีประมาณ ๑๐ กว่าคน มีผู้ที่ร่วงโรยและลาลับไปตามวัยเป็นระยะๆ

ตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-๑๙ กิจกรรมต่างๆ ของผู้ถืออุโบสถต้องระงับไปหลายอย่าง เช่นการเปิดวงสนทนาธรรมก็ต้องยกเลิกไป จำนวนผู้ที่นอนค้างวัดก็ลดลงไป จนแทบจะพูดได้ว่าโหรงเหรง แต่ก็ไม่เลิกรา และไม่เลิกล้ม

ญาติมิตรคงจะสังเกตได้ว่า ผู้ไปทำบุญวันพระและถืออุโบสถปฏิบัติธรรมนั้นเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ไม่ว่าวัดไหนเหมือนกันทุกแห่ง จนกระทั่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตสนุกๆ ว่า อย่างนี้นี่เองภาพเขียนที่แสดงถึงบรรยากาศเมืองสวรรค์ เทพบุตรองค์เดียวจึงมีนางฟ้าเป็นบริวารเป็นร้อยๆ พันๆ นาง

ผมว่าไม่เฉพาะเรื่องถือศีลปฏิบัติธรรม แม้แต่ในวงการทั่วๆ ไป ตำแหน่งที่ในสมัยก่อนมีแต่ผู้ชาย เดี๋ยวนี้กลายเป็นมีแต่ผู้หญิงเต็มไปหมด นี่ก็เหมือนกัน มีผู้ตั้งข้อสังเกต แต่ไม่ค่อยสนุกนักว่า ต่อไปผู้หญิงจะครองโลก

เพราะผู้ถืออุโบสถมีแต่ผู้หญิง เวลาผมร่วมทำกิจกรรมเช่นสนทนาธรรม ภาพออกมาจะดูเป็นว่าผู้ชายคนเดียวแวดล้อมด้วยผู้หญิง ใครไม่ทันพิจารณาข้อเท็จจริงอาจจับเอาไปขยายความให้เลยเถิดไปได้ง่ายมาก

กรณีเช่นนี้ วัยและสถานภาพของผู้ถืออุโบสถนับว่าเป็นเครื่องช่วยป้องกันภัยอันเกิดจากความเข้าใจเลยเถิดได้ทางหนึ่ง

และเพราะปัญหาเรื่อง “วัย” นี่เองจึงทำให้ผมต้องเอาเรื่องบอกบุญมาปิดท้ายบทความชุดนี้

เรื่องก็คือ ชาวคณะอุโบสถวัดมหาธาตุเคยพร้อมใจกันขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินนำมาทอดที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี ครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๕๖๐

หลังจากนั้นเราก็ปรารภกันว่า ปี ๒๕๖๔ พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุจะมีอายุครบ ๘๐ และสมาชิกคณะอุโบสถท่านหนึ่งของเราก็จะมีอายุครบ ๙๐ นับเป็นตัวเลขที่ควรแก่การอนุโมทนาและมนสิการเป็นพิเศษ ชาวคณะอุโบสถเราควรจะขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินนำมาทอดที่วัดมหาธาตุอีกสักครั้งหนึ่งเพื่อเป็นสิริมงคลในปีอันประจวบเหมาะเช่นนี้ โดยในครั้งนี้เราจะให้คุณยายอายุ ๙๐ ของเราเป็นผู้ลงชื่อขอรับพระราชทานและยกให้เป็นประธานในพิธี คุณยายก็ตกลงด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง

แต่เมื่อเราเข้าไปแจ้งความจำนงต่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าอาวาส ก็ได้ทราบว่า ปี ๒๕๖๔ วัดมหาธาตุราชบุรีมีผู้ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินไปแล้ว และปี ๒๕๖๕ ก็มีผู้ขอรับพระราชทานต่อไปอีกด้วยแล้ว

เราปรึกษากันว่า จะรอไปถึงปี ๒๕๖๖ ดีไหม

คุณยายบอกว่า ถึงปีนั้นฉันคงตายก่อน

เราก็เลยต้องปรับแผนกันใหม่ คือตกลงว่าเราจะเป็นเจ้าภาพทอดกฐินปี ๒๕๖๔ ตามกำหนดเดิมนี่แหละ เพียงแต่เปลี่ยนจากกฐินพระราชทานมาเป็นกฐินราษฎร์ธรรมดา และคงยกให้คุณยายเป็นประธานตามที่คิดไว้แต่เดิม

คิดกันแล้วเราก็เข้าไปกราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ – ที่ต้องเข้าไปกราบเรียนก็เพราะว่าพวกเราเป็นชาวคณะอุโบสถวัดมหาธาตุ จะทำอะไรในนามคณะอุโบสถต้องให้ท่านรับรู้รับทราบและอนุมัติตามแบบแผนของผู้อยู่ในปกครอง นอกจากขอความเห็นชอบแล้วเรายังขอให้ท่านเลือกวัดให้พวกเราด้วย

หลวงพ่ออนุโมทนาในความตกลงใจของพวกเรา แล้วก็เลือกวัดให้ตามที่ต้องการ อันที่จริงพวกเราเสนอชื่อวัดตามความประสงค์ของคุณยายไป ๒ วัดให้หลวงพ่อเลือก เป็นวัดที่เจ้าอาวาสไปจากวัดมหาธาตุทั้งสองวัด หลวงพ่อเลือกวัดหนึ่ง ปรากฏว่าวัดนั้นมีคนจองกฐินล่วงหน้าไปแล้วถึง ๒ ปี ก็คงเหลืออีกวัดหนึ่ง คราวนี้ไม่ต้องเลือกเพราะมีวัดเดียว

ครั้นพร้อมแล้ว พวกเราก็ทำหนังสือขอจองกฐินแล้วก็ยกขบวนไปยังวัดที่ว่านั้น ถวายหนังสือขอจองกฐินเป็นหลักฐานเป็นการเรียบร้อยแล้ว

จึงขอบอกบุญให้ทราบทั่วกันว่า ชาวคณะอุโบสถวัดมหาธาตุ ราชบุรี จะเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน ณ วัดดอนตะโก ตำบลดอนตะโก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี กำหนดวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๔ เลี้ยงพระเพลแล้วทอดกฐิน

การบอกบุญนี้ไม่ได้มีความประสงค์จะเรี่ยไรขอรับบริจาคใดๆ เพราะฉะนั้น ญาติมิตรทั้งปวงไม่ต้องควักกระเป๋าส่งเงินโอนเงินขอเลขบัญชีใดๆ ทั้งสิ้น การทั้งปวงคณะอุโบสถวางแผนแบ่งความรับผิดชอบกันครบบริบูรณ์หมดแล้ว

ขอให้ร่วมกันอนุโมทนาบุญเท่านั้นก็ขอบพระคุณเป็นที่ยิ่งแล้ว

อนึ่ง วันทอดกฐิน ท่านผู้ใดว่าง สะดวก และอยากมาเที่ยวราชบุรี ก็ขอเรียนเชิญด้วยความยินดี ไปกินข้าวกลางวันกันที่วัด อิ่มแล้วจะไปเที่ยวไหนต่อก็เชิญตามอัธยาศัย ราชบุรีมีที่เที่ยวหลายแห่ง

บทความชุดบอกบุญอุโบสถสิ้นกระแสความเพียงเท่านี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๘:๔๑

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *