บาลีวันละคำ

ทฺวิโลจเน ในพระคาถาชินบัญชร (บาลีวันละคำ 3,204)

ทฺวิโลจเน ในพระคาถาชินบัญชร

เขียนอย่างไร อ่านอย่างไร แปลอย่างไร

พระคาถาชินบัญชรบทหนึ่งมีข้อความเขียนเป็นคำบาลีว่า –

สีเส ปติฏฺฐิโต มยฺหํ

พุทฺโธ ธมฺโม ทฺวิโลจเน

สงฺโฆ ปติฏฺฐิโต มยฺหํ

อุเร สพฺพคุณากโร.

เฉพาะคำว่า “ทฺวิโลจเน” มีปัญหาดังนี้ –

(๑) เขียนเป็นคำอ่าน สะกดอย่างไร

เท่าที่พบมากที่สุด สะกดเป็น “ทะวิโลจะเน” ซึ่งเป็นการสะกดที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะคำว่า “ทะวิ-”

ทฺวิ” ในภาษาบาลีเมื่อเขียนเป็นอักษรไทยมีจุดใต้ ทฺ ถ้าเขียนเป็นอักษรโรมันสะกดเป็น dvi (อักษรโรมันที่ใช้เขียนคำบาลี d = ) บอกให้รู้ว่าคำนี้ ทฺ ออกเสียงครึ่งเสียง ไม่ใช่ ทะ-วิ ถ้าเป็น ทะ-วิ อักษรโรมันจะสะกดเป็น davi (มี a หลัง d) แยกเป็น da = ทะ vi = วิ 2 พยางค์ชัดเจน

ทฺวิ” เมื่อเขียนเป็นคำอ่านไม่มีจุดใต้ ทฺ แต่ใช้เครื่องหมายบน = ท๎ เป็นสัญลักษณ์บังคับให้ ท๎ ออกเสียงครึ่งเสียง

ทฺวิ” เมื่อเขียนเป็นคำอ่าน สะกดเป็น “ท๎วิ” ไม่ใช่ ทะวิ

(๒) “ทฺวิ” เขียนแบบบาลี หรือ “ท๎วิ” เขียนแบบคำอ่าน อ่านว่าอย่างไร

ทฺวิ” ออกเสียงตามลิ้นไทยว่า ท-วิ เสียง ทะ แผ่วๆ และควบกับ วิ หรือออกเสียงคำว่า ทุยอิ๊ เร็วๆ จะได้เสียง ทฺวิ ที่ถูกต้องที่สุด

ทฺวิ” หรือ “ท๎วิ” อ่านออกเสียงว่า ทุย-อิ๊ (เร็วๆ) หรือ ทุ้ย (อย่าสงสัยหรือขบขันว่าบาลีมีเสียงอย่างนี้ด้วยหรือ เพราะนี่เป็นเสียงที่ถูกต้อง)

หากจะมีคำท้วงว่า ทำไมจะต้องทำให้มันยุ่งยากแบบนี้ อ่านแบบสะดวกปากว่า ทะ-วิ ไปเลยจะไม่ดีกว่าดอกหรือ คำไทยที่มาจาก “ทฺวิ” เช่น ทวิภาคี ทวิชาติ ทวิภพ เราออกเสียงว่า ทะ-วิ- ทั้งนั้น “ทฺวิโลจเน” ทำไมเกิดจะออกเสียงว่า ทะ-วิ-โลจะ-เน ไม่ได้ขึ้นมา

คำตอบก็คือ คำไทยที่มาจาก “ทฺวิ” พวกนั้นเราเอามาใช้เป็นคำไทยเต็มตัวแล้ว จึงออกเสียงตามสะดวกลิ้นไทยได้ แต่ “ทฺวิโลจเน” ในพระคาถาชินบัญชรยังเป็นคำบาลีเต็มตัวอยู่ ไม่ใช่คำไทย เราจึงควรสะกดให้ถูกและออกเสียงให้ตรงตามหลักภาษาบาลี

การออกเสียงให้ตรงตามหลักภาษาบาลีนั้นคนไทยสามารถทำได้ เราควรฝึกฝนพัฒนาศักยภาพขึ้นไปหามาตรฐาน ไม่ใช่ดึงมาตรฐานลงมาหาความ “รักง่าย” ของเรา

(๓) “ทฺวิโลจเน” แปลว่าอะไร

ทฺวิโลจเน” ประกอบด้วยคำบาลี 2 คำ คือ ทฺวิ + โลจน

(ก) “ทฺวิ” เป็นศัพท์สังขยา คือคำบอกจำนวน แปลว่า สอง (จำนวน 2) (number two)

ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ทฺวิ:

ทฺวิ” ในบาลีเมื่อไปสมาสกับคำอื่นอาจแปลงรูปได้อีกอย่างน้อย 5 รูป อาจจำเป็นสูตรง่ายๆ ว่า “ทฺวิ ทิ ทุ ทฺวา พา เทฺว

ทฺวิ, ทฺวา, เทฺว 3 คำนี้อ่านเพื่อให้ได้เสียงที่ถูกต้องว่า ทุย-อิ๊, ทัว-อา, ทัว-เอ

ตัวอย่าง :

(1) “ทิ” เช่น ทิช = “เกิดสองครั้ง” คือ นก, พราหมณ์

(2) “ทุ” เช่น ทุปฏวตฺถ = ผ้าสองชั้น

(3) “ทฺวา” เช่น ทฺวาทส จำนวน 12 เช่นในคำว่า ทวาทศมาส = 12 เดือน

(4) “พา” เช่น พาวีสติ = จำนวน 22

(5) “เทฺว” เช่น เทฺวภาว = ความเป็นสอง

คำว่า “โท” ในภาษาไทยที่แปลว่า สอง ก็เป็นรูปที่กลายมาจาก ทฺวิ คือ ทฺวิ > ทุ > โท

ทฺวิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทวี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทวี : (คำกริยา) เพิ่มขึ้น, มากขึ้น, เช่น งานทวีขึ้น. (ป., ส. ทฺวิ).”

โปรดสังเกตว่า ในบาลี “ทฺวิ” แปลว่า สอง ไม่ได้แปลว่า เพิ่มขึ้น

เข้าใจว่า “ทวี” ในภาษาไทยที่แปลว่า เพิ่มขึ้น นั้น คงเอาความหมายมาจาก “ทฺวิคุณ” ในสันสกฤต หรือ “ทิคุณ” ในบาลีที่แปลว่า “สองเท่า” ซึ่งมีความหมายว่า เพิ่มขึ้น แต่เมื่อใช้ในภาษาไทย ตัดคำว่า “คุณ” ออกไป เหลือแต่ “ทวี” แต่ยังคงใช้ในความหมายเท่ากับ “ทฺวิคุณ

(ข) “โลจน

บาลีอ่านว่า โล-จะ-นะ รากศัพท์มาจาก ลุจฺ (ธาตุ = เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ ลุ-(จฺ) เป็น โอ (ลุจฺ > โลจ)

: ลุจฺ + ยุ > อน = ลุจน > โลจน แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องเห็น” หมายถึง ดวงตา (the eye)

ทฺวิ + โลจน = ทฺวิโลจน (ทุย-อิ๊-โล-จะ-นะ) แปลว่า “ดวงตาทั้งสอง

ทฺวิโลจน” แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) เอกวจนะ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ทฺวิโลจเน

แถม :

พระคาถาชินบัญชรที่ยกมาข้างต้น แปลเป็นไทยดังนี้ –

…………..

สีเส ปติฏฺฐิโต มยฺหํ

พุทฺโธ ธมฺโม ทฺวิโลจเน

สงฺโฆ ปติฏฺฐิโต มยฺหํ

อุเร สพฺพคุณากโร.

ขออัญเชิญพระพุทธสถิตที่เศียรเกล้าของข้าพเจ้า

อัญเชิญพระธรรมสถิตที่ดวงตาทั้งสองของข้าพเจ้า

อัญเชิญพระสงฆ์ผู้เป็นบ่อเกิดคุณทั้งปวงสถิตที่อุระของข้าพเจ้า

…………..

ดูก่อนภราดา!

ระวังอย่าให้ดวงตาหลอกดวงใจ เพราะ –

: สิ่งที่ตาเห็น

: อาจไม่ได้เป็นอย่างที่ใจคิด

#บาลีวันละคำ (3,204)

21-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย