บาลีวันละคำ

เสนาสนะ (บาลีวันละคำ 3,237)

เสนาสนะ

ภาษาพระที่ควรรู้จัก

อ่านว่า เส-นา-สะ-นะ

แยกศัพท์เป็น เสน + อาสนะ

(๑) “เสน

บาลีอ่านว่า เส-นะ รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = นอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส)

: สิ + ยุ > อน = สิน > เสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่นอน” หมายถึง (1) การนอน, การหลับ (lying, sleeping) (2) เก้าอี้นอน, ที่นอน (couch, bed)

(๒) “อาสนะ

เขียนแบบบาลีเป็น “อาสน” อ่านว่า อา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง; ตั้งไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนั่ง” “ที่นั่ง” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง

(2) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > , ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: อา + สิ = อาสิ > อาส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” (คือแท่นหรือเตียงนอน) หมายถึง (1) การนั่ง, การนั่งลง (sitting, sitting down) (2) ที่นั่ง, บัลลังก์ (a seat, throne)

หมายเหตุ: “อาสน” ที่แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” เป็นการแปลตามรูปวิเคราะห์ แต่หมายถึง “ที่นั่ง” เพราะโดยปกติแม้จะนอนก็ต้องนั่งก่อน

เสน + อาสน = เสนาสน (เส-นา-สะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่นอนและที่เป็นที่นั่ง” หมายถึง ที่นอนและที่นั่ง, เตียงและเก้าอี้, ที่อยู่อาศัย, ที่พักอาศัย (sleeping and sitting, bed & chair, dwelling, lodging)

เสนาสน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เสนาสนะ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เสนาสนะ : (คำนาม) ที่นอนและที่นั่ง, ที่อยู่. (ใช้เฉพาะพระภิกษุ สามเณร). (ป. เสน + อาสน).”

อภิปรายขยายความ :

ในภาษาพระ “เสนาสนะ” หมายถึง ที่อยู่ที่อาศัยของพระ เมื่อมีการตั้งวัดเป็นหลักเป็นฐานในสังคมพระพุทธศาสนาแล้ว “เสนาสนะ” หมายรวมถึง สิ่งก่อสร้างทั้งปวงในอาราม

ในต้นพุทธกาล ภิกษุในพระพุทธศาสนาอาศัยโคนไม้เป็นที่พัก อันเป็นเครื่องแสดงให้รู้ว่าเป็นผู้สละละวางทรัพย์สินทั้งปวง แม้กระทั่งที่อยู่ก็อาศัยธรรมชาติล้วนๆ

หลักข้อหนึ่งใน 4 หลักแห่งการดำรงชีวิตของภิกษุที่พระอุปัชฌาย์ปฐมนิเทศให้ฟังตั้งแต่วันแรกที่บวชก็คือ “รุกฺขมูลเสนาสนํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา” ถอดความว่า “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยโคนไม้เป็นที่อยู่

แม้ภายหลังจะมีผู้มีศรัทธาสร้างที่พักถวายและมีพุทธานุญาตให้ภิกษุใช้สอยได้ การอยู่โคนไม้ก็ยังเป็นข้อปฏิบัติที่ถือกันว่าเป็นการขัดเกลาอัธยาศัยอย่างหนึ่ง ดังปรากฏเป็นธุดงค์ข้อหนึ่งในธุดงค์ 13 ที่เรียกว่า “รุกขมูลิกังคะ” แปลว่า “องค์แห่งภิกษุผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร” (tree-root-dweller’s practice)

…………..

บรรพชิตในพระพุทธศาสนาเมื่อจะใช้สอยเสนาสนะ ท่านสอนให้พิจารณาก่อนดังนี้ –

…………..

ปะฏิสังขา โยนิโส เสนาสะนัง ปะฏิเสวามิ = เราย่อมพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยเสนาสนะ

ยาวะเทวะ สีตัสสะ ปะฏิฆาตายะ = เพียงเพื่อบำบัดความหนาว

อุณ๎หัสสะ ปะฏิฆาตายะ = เพื่อบำบัดความร้อน

ฑังสะมะกะสะวาตาตะปะสิริงสะปะสัมผัสสานัง ปะฏิฆาตายะ = เพื่อบำบัดสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย

ยาวะเทวะ อุตุปะริสสะยะวิโนทะนัง ปะฏิสัลลานารามัตถัง. = เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายอันจะพึงมีจากดินฟ้าอากาศ และเพื่อความเป็นผู้ยินดีอยู่ได้ในที่หลีกเร้นสำหรับภาวนา

…………..

การพิจารณาก่อนใช้สอยเสนาสนะเช่นนี้เป็นเครื่องแสดงถึงการดำรงชีพตามวิถีชีวิตของสงฆ์

…………..

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2505 คณะสงฆ์ไทยแบ่งงานออกเป็น 4 สาย เรียกว่า “องค์การ” คือ –

องค์การปกครอง

องค์การศึกษา

องค์การเผยแผ่

องค์การสาธารณูปการ

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2535 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแม้จะไม่มีองค์การเหล่านี้แล้ว แต่คณะสงฆ์ก็ยังทำงานตามแนวของ “องค์การ” ที่เคยมีมา ทั้งยังได้เพิ่มงานขึ้นอีกรวมเป็น 6 ด้าน คือ –

การปกครอง

การศาสนศึกษา

การศึกษาสงเคราะห์

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

การสาธารณูปการ

การสาธารณสงเคราะห์

คำว่า “สาธารณูปการ” ของคณะสงฆ์ไทย เป็นที่รู้เข้าใจกันว่าคือ งานเกี่ยวกับการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะนั่นเอง

งานที่เกี่ยวกับ “เสนาสนะ” นี้ เคยมีความสำคัญมากถึงกับใช้เป็นตัวชี้วัดว่าพระสังฆาธิการรูปไหนควรจะได้รับสมณศักดิ์หรือตำแหน่งหน้าที่ในคณะสงฆ์ให้ดูที่-ได้สร้างเสนาสนะ เช่นสร้างโบสถ์ สร้างศาลามาแล้วกี่หลัง

แม้เวลานี้ ทั้งๆ ที่จำนวนพระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ ลดลงไปทุกทีอย่างน่าวิตก แต่ค่านิยมสร้างเสนาสนะก็ยังไม่ได้หมดไปจากสังคมไทย

พระสังฆาธิการระดับจังหวัดรูปหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า สร้างวัดไม่กี่ปีก็เสร็จ แต่การดูแลรักษาวัดต้องทำโดยไม่มีวันเสร็จ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สร้างเสนาสนะ พระอาศัยได้ร้อยปี

: สร้างบุญบารมี โลกอาศัยเราไปได้ชั่วกาลนาน

#บาลีวันละคำ (3,237)

23-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *