บาลีวันละคำ

ปุจฉา – ปัญหา – ปริศนา (บาลีวันละคำ 3,238)

ปุจฉาปัญหาปริศนา

รู้จักหน้ามัน

แต่อย่าหนีหน้ามัน

(๑) “ปุจฉา

อ่านว่า ปุด-ฉา เขียนแบบบาลีเป็น “ปุจฺฉา” (มีจุดใต้ จฺ) อ่านว่า ปุด-ฉา รากศัพท์มาจาก ปุจฺฉฺ (ธาตุ = ถาม) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ปุจฺฉฺ + = ปุจฺฉ + อา = ปุจฺฉา แปลตามศัพท์ว่า “การถาม หรือ ข้อที่ควรถาม” หมายถึง คำถาม (a question)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปุจฉา : (คำกริยา) ถาม เช่น ขอปุจฉาพระคุณเจ้า. (ป.).”

(๒) “ปัญหา

อ่านว่า ปัน-หา เขียนแบบบาลีเป็น “ปญฺหา” อ่านว่า ปัน-หา รากศัพท์มาจาก ปญฺห (ธาตุ = ถาม; ต้องการ) + (อะ) ปัจจัย

: ปญฺห + = ปญฺห (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ข้อที่พึงถาม” (2) “ข้ออันคนอยากรู้

ปญฺห” ในบาลีก็คือที่เราใช้ในภาษาไทยว่า “ปัญหา” นั่นเอง “ปญฺห” ในบาลีเป็นปุงลิงค์ ถ้าแจกวิภัตติสามัญ คือวิภัตติที่หนึ่ง เอกพจน์ ก็จะเป็น “ปญฺโห” พหูพจน์เป็น “ปญฺหา

ภาษาไทยไม่ใช้ “ปัญหะ” ตามรูปเดิมในบาลี และไม่ใช้ “ปัญโห” ตามรูปเอกพจน์ แต่ใช้เป็น “ปัญหา” ตรงกับพหูพจน์ในบาลี

คิดให้เป็นปริศนาธรรม ก็เหมือนจะบอกว่า ธรรมชาติของปัญหาต้องมีมาก เรื่องมาก ยุ่งยากมากเสมอ

ปญฺห” “ปญฺโห”หรือ “ปญฺหา” คำที่เราคุ้นหน้าคุ้นตา แต่มีความหมายมากกว่าที่เราคิด คือหมายถึง –

(1) คำถาม, ระบบคำถาม, แบบสอบถาม (a question, a system of questions, questionnaire)

(2) วิธีถาม, การสอบถาม, การสืบสวน, ปัญหา (mode of asking, inquiry, investigation, question)

(3) การถาม, การสอบถาม, การไต่ถาม (asking, enquiring, questioning)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัญหา : (คำนาม) ข้อสงสัย, ข้อขัดข้อง, เช่น ทําได้โดยไม่มีปัญหา, คําถาม, ข้อที่ควรถาม, เช่น ตอบปัญหา, ข้อที่ต้องพิจารณาแก้ไข เช่น ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาทางการเมือง. (ป.).”

(๓) “ปริศนา

อ่านว่า ปฺริด-สะ-หฺนา คำนี้เป็นรูปคำสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปริศนา : (คำนาม) สิ่งหรือถ้อยคำที่ผูกขึ้นเป็นเงื่อนงำเพื่อให้แก้ให้ทาย. (ส. ปฺรศฺน; ป. ปญฺห).”

พจนนานุกรมฯ บอกไว้ในวงเล็บว่า “ส. ปฺรศฺน; ป. ปญฺห” หมายความว่า “ปริศนา” คำนี้สันสกฤตเป็น “ปฺรศฺน” บาลีเป็น “ปญฺห

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่คำว่า “ปฺรศฺน” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรศฺน : (คำนาม) ‘ปรัศนะ, ปรัศน์,’ อนุโยค, ปฤจฉา, คำถาม; a question, an inquiry.”

ส่วน “ปญฺห” ในบาลี มีรายละเอียดดังแสดงไว้ข้างต้น

เป็นอันว่า บัดนี้เราก็ได้รู้จักหน้าตาและรากเหง้าของคำว่า ปุจฉาปัญหาปริศนา พอสมควรแล้ว

ต่อไปนี้เวลาไปเจอตัวจริงของจริง จงเผชิญหน้ากับมัน อย่าวิ่งหนีมัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อยู่ในถิ่นพญาครุฑ จงฝึกยุดนาคี

: อยู่ในทางของเมธี จงฝึกแก้ปริศนา

#บาลีวันละคำ (3,238)

24-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *