บาลีวันละคำ

เครื่องสังเค็ด (บาลีวันละคำ 1,967)

เครื่องสังเค็ด

เครื่องอะไร?

คำศัพท์คือ “สังเค็ด” อ่านตรงตัวว่า สัง-เค็ด

หนังสือ “คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์เผยแพร่ อธิบายคำว่า “เครื่องสังเค็ด” ไว้ดังนี้ –

…………..

เครื่องสังเค็ด : สังเค็ด มาจากคำว่า สังคีต แปลว่า การสวด ดังนั้นที่ซึ่งพระสงฆ์ขึ้นไปนั่งสวดได้ ๔ รูป จึงเรียกว่า เตียงสังคีตอันเดียวกับเตียงสวด หรือร้านสวดในการศพ เว้นแต่ทำให้ประณีตขึ้นมียอดดุจปราสาทก็มี ไม่มียอดก็มี ทั้งนี้เครื่องสังเค็ดอันหมายถึงสิ่งของที่ใช้ในการทำบุญศพมีที่มาจากแต่เดิมนิยมนำสังเค็ดอันเป็นเตียงสวดของพระสงฆ์นั้นมาใส่ของหามเข้าขบวนแห่ศพ ต่อมาภายหลังของเหล่านี้ไม่ได้จัดใส่ในสังเค็ดแล้ว แต่ผู้คนยังเรียกของทำบุญในการศพว่าเครื่องสังเค็ดอยู่

…………..

บาลีมีศัพท์ว่า “สงฺคีติ” (สัง-คี-ติ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + เค (ธาตุ = ส่งเสียง) ติ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), แปลง เอ ที่ เค เป็น อี (เค > คี)

: สํ + เค = สํเค + ติ = สํเคติ > สงฺเคติ > สงฺคีติ แปลตามศัพท์ว่า “การสวดพร้อมกัน” (คือการรวบรวมพระธรรมวินัยที่กระจัดกระจายอยู่แล้วสวดพร้อมกัน)

สงฺคีติ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เพลงขับ, การร้องพร้อมๆ กัน, ดนตรี (a song, chorus, music)

(2) การป่าวประกาศ, การสังคายนา, การประชุมสงฆ์เพื่อชำระพระไตรปิฎก (proclamation, rehearsal, general convocation of the Buddhist clergy in order to settle questions of doctrine and to fix the text of the Scriptures)

(3) พระคัมภีร์ที่ชำระแล้ว, การสังคายนา (text rehearsed, recension); คัมภีร์, สูตร (text, formula)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังคีติ : (คำนาม) สังคายนา, การสวดพร้อมกันและเป็นแบบเดียวกัน, การประชุมชําระพระไตรปิฎกให้เป็นแบบเดียวกัน. (ป.).”

ส่วน “สังคีต” บาลีเป็น “สงฺคีต” (สัง-คี-ตะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + เค (ธาตุ = ส่งเสียง) ปัจจัยในกิริยากิตก์, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), แปลง เอ ที่ เค เป็น อี (เค > คี)

: สํ + เค = สํเค + = สํเคต > สงฺเคต > สงฺคีต แปลตามศัพท์ว่า “สวดพร้อมกันแล้ว

สงฺคีต” ในบาลีใช้ใน 2 สถานะ คือ –

(1) เป็นคำกริยา แปลว่า ร้องเพลง; เปล่ง, ป่าวประกาศ, สังคายนา (sung; uttered, proclaimed, established as the text)

(2) เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) แปลว่า เพลงขับ, การสวด, การร้องรับพร้อมๆ กัน (a song, chant, chorus)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังคีต : (คำนาม) การร้องรําทําเพลง เช่น สังคีตศิลป์. (ป.; ส. สํคีต).”

…………..

อภิปราย :

ทำไม “สังคีติ” หรือ “สังคีต” จึงเกี่ยวกับงานศพ ?

ธรรมเนียมเดิมเมื่อมีการเผาศพ โดยเฉพาะศพที่ฝังไว้ข้ามปีแล้วขุดขึ้นมาเผา เจ้าภาพมีเวลาเตรียมงานนาน นิยมให้มี “เทศน์แจง” คือเทศน์เรื่องสังคายนา ซึ่งต้องอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการทำสังคายนาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในการสังคายนาครั้งแรก นิยมเทศน์ 3 ธรรมาสน์ นิมนต์พระมาสวดพระไตรปิฎกรับเทศน์ 500 รูป ตามจำนวนพระอรหันต์ที่ประชุมทำสังคายนาครั้งแรก เรียกกันว่า “สวดแจง” แต่สวดเฉพาะพระบาลีส่วนแรกของแต่ละปิฎก

เจ้าภาพที่มีฐานะดีถือโอกาสจัดหาวัตถุทานที่เป็นเครื่องใช้ถาวรอำนวยประโยชน์แก่สงฆ์ถวายไว้ในพระศาสนา นิมนต์พระมาจากวัดไหนบ้างก็ถวายไปตามวัดนั้นๆ ด้วย เจ้าภาพที่มีกำลังสามารถทำงานศพได้เต็มรูปเช่นนี้ย่อมเป็นที่กล่าวขานชื่นชมทั่วกัน

เข้าใจว่า คำว่า เทศน์สังคีติหรือสวดสังคีติ (หรือ-สังคีต) นี่เอง อาจเรียกกันง่ายๆ จาก “สังคีต” เป็น “สังคิด” แล้วเพี้ยนเป็น “สังเค็ด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังเค็ด : (คำนาม) ทานวัตถุมีตู้พระธรรมโต๊ะหมู่เป็นต้น ที่เจ้าภาพจัดถวายแก่สงฆ์หรือภิกษุผู้เทศน์หรือชักบังสุกุลในเวลาปลงศพ เรียกว่า เครื่องสังเค็ด.”

…………..

หนังสือ “คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์เผยแพร่ อธิบายคำว่า “เครื่องสังเค็ด” เพิ่มเติมต่อมาอีกดังนี้ –

…………..

ลักษณะของเครื่องสังเค็ดมีหลายชนิดตามแต่จะเห็นว่าสิ่งใดจำเป็นแก่พระสงฆ์ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนธรรมเนียมการถวายเครื่องสังเค็ดโดยมุ่งประโยชน์แก่สาธารณะมากขึ้น จำแนกเป็น ๓ ประเภท คือ ถวายพระภิกษุ มีพัดรอง หรือพัดสังเค็ด ย่าม ผ้ากราบ ถวายวัด มีธรรมาสน์ ตู้พระธรรม และ ให้สำหรับโรงเรียน ได้แก่ เครื่องใช้ต่าง ๆ ในปัจจุบันยังคงยึดธรรมเนียมการถวายเครื่องสังเค็ดดังกล่าวอยู่ แต่ได้มีการถวายหนังสือ อันเป็นแหล่งเกิดปัญญาเพิ่มเข้ามา ดังในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ได้สร้างตู้สังเค็ดบรรจุพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐซึ่งเป็นพระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บรรพบุรุษท่านใช้มรณธรรมเป็นอุบายรักษาพระศาสนา

: ลูกหลานจงใช้ปัญญาปฏิบัติพระศาสนาเพื่อบรรลุอมตธรรม

#บาลีวันละคำ (1,967)

28-10-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย