บทความเรื่อง ทำไมต้องทิ้งตัวเอง
ทำไมต้องทิ้งตัวเอง (๕)
———————–
ขอให้ลองนึกดูข้อเท็จจริงที่เห็นได้ง่ายๆ ก็แล้วกัน
เช่น นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทยนั้น เขายอมเสียเงินทอง เสียเวลา เพื่อมาดูตึกสูง ๕๐ ชั้นอย่างนั้นหรือ เขามาเพื่อจะดูรถไฟฟ้า หรือสวนสนุกของเรา หรือเพื่อจะดูห้างสรรพสินค้าของเราอย่างนั้นหรือ
เปล่าทั้งนั้น
สิ่งเหล่านี้ในบ้านเมืองของเขามีอยู่มากแล้ว และมีดีกว่าที่เราพยายามเลียนแบบของเขาเอามาเสียด้วยซ้ำไป
สิ่งที่เขาต้องการจะดูก็คือ วัฒนธรรมแบบไทยๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม หรือศิลปกรรมแขนงต่างๆ ตลอดจนภาษา ขนบธรรมเนียม และวิถีชีวิตแบบไทยๆ ของเรา
สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เขาชื่นชม เขาภาคภูมิใจแทนเรา และแอบอิจฉาเราที่สามารถนฤมิตสิ่งซึ่งเขาไม่สามารถจะมีเหล่านี้ขึ้นมาได้
ถ้าเราพากันทิ้งของดีของเราเสียหมดแล้ว เราก็จะเหลือแต่เพียงกากหรือซากวัฒนธรรมต่างชาติที่เราพยายามลอกเลียนเขามาเท่านั้น
เหตุผลประการต่อมาที่เรามักจะอ้างก็คือ วัฒนธรรมฝรั่งสนองความต้องการได้ดี พูดตรงๆ ก็คือ สนองกิเลสมนุษย์ได้อย่างตรงเป้าและจุใจ
ในเมื่อธรรมชาติของมนุษย์ก็อยากจะเป็นทาสกิเลสอยู่แล้ว เมื่อมีอะไรที่ใช้เป็นเครื่องสนองความต้องการอันนั้นได้ เราก็รีบคว้าเอาไว้ทันที
ญาติมิตรคงจะเคยได้ยินที่หนุ่มสาวสมัยใหม่เขาพูดกันว่า ฟังเพลงไทยแล้วง่วงนอนจะตาย สู้ฟังเพลงฝรั่งไม่ได้ มันคึกคักถึงใจดี
หนักๆ เข้าถึงกับคิดกันว่า วัฒนธรรมไทยที่นิยมกันว่าผู้หญิงควรจะรักนวลสงวนตัวนั้น ล้าสมัย และปิดกั้นเสรีภาพของสตรี สู้วัฒนธรรมฝรั่งไม่ได้ ผู้หญิงออกไปหาประสบการณ์ทางเพศกับผู้ชายได้อย่างเสรี ยิ่งมีประสบการณ์กับผู้ชายหลายๆ คนด้วย ยิ่งถือว่าทันสมัย
เรื่องของเรื่องก็คือต้องการสนองกิเลสของตัวเองนั่นแล้ว หาใช่ความทันสมัยแต่อย่างใดไม่
การอ้างว่าวัฒนธรรมฝรั่งสามารถสนองความต้องการได้ดีนั้น ถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องของคนที่ไม่รู้จักควบคุมความต้องการของตัวเองมากกว่า
เพราะหลักความจริงมีอยู่ว่า มนุษย์ไม่สามารถจะหาอะไรมาสนองความต้องการได้อย่างเพียงพอแท้จริง มีสิ่งนี้แล้วก็อยากมีสิ่งโน้นอีก มีเท่านี้แล้วก็อยากมีมากกว่านี้อีก
การแก้ปัญหาด้วยการแสวงหาอะไรๆ มาสนองความต้องการจึงไม่วันมีสำเร็จ
เหมือนตักน้ำใสตุ่มที่ก้นรั่ว ย่อมไม่มีวันเต็ม
คนฉลาดจริงๆ จึงไม่แก้ปัญหาแบบนั้น แต่จะแก้ด้วยการควบคุมความต้องการของตัวเอง เพราะความต้องการเป็นสิ่งที่สามารถควบคุมได้
ถ้ามนุษย์รู้จักควบคุมความต้องการได้แล้ว ปัญหาที่ว่าวัฒนธรรมของใครสามารถสนองความต้องการได้ดีกว่าก็จะไม่เป็นปัญหาและไม่เป็นข้ออ้างอีกต่อไป
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๙ มีนาคม ๒๕๖๔
๑๑:๓๗